เหตุผล'ศาลฎีกา'! ยกคำร้อง 'ยิ่งลักษณ์' ขอพักคดีจำนำข้าว

เหตุผล'ศาลฎีกา'! ยกคำร้อง 'ยิ่งลักษณ์' ขอพักคดีจำนำข้าว

"ยิ่งลักษณ์" ร้องขอพักคดีจำนำข้าวชั่วคราว ค้านอัยการเพิ่มพยานเอกสาร-บุคคล ศาลฎีกาฯพิจารณาแล้ว ยกหมดทุกคำร้อง นัดฟังคำสั่ง29ต.ค.นี้

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว พร้อมองค์คณะฯ รวม 9 คน นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายวีระพล รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน และองค์คณะฯ ได้มีคำสั่ง ที่ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฎีกาฯ ทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10

โดยโจทก์ได้คัดค้านว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แม้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2557 ก็ยังให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มีผลใช้บังคับต่อไป

เมื่อคดีนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่และขอให้ลงโทษทางอาญา ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 (1) - (9) ไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังนั้น กรณีที่จำเลยยื่นคำร้อง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

ส่วนที่ทนายความจำเลย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา คัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต มุ่งเอาเปรียบจำเลยโดยไม่เป็นธรรม เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน จึงขอให้ศาลไม่รับบัญชีพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวน

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยก็มีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ตามที่จำเลยคัดค้าน ให้ยกคำร้องดังกล่าว

ทั้งนี้ในการตรวจพยานหลักฐาน ฝ่ายโจทก์ได้ส่งพยานเอกสารจำนวน 160 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยส่งพยานเอกสาร 61 แฟ้ม องค์คณะฯ เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างพยานบุคคลหลายปาก และพยานเอกสารมีจำนวนมาก ดังนั้น จึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจพยานหลักฐานต่อไปทุกวันพุธ เวลา 09.00 น. จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐาน และการกำหนดวันเพื่อไต่สวนพยาน ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าห้องพิจารณาด้วยสีหน้าสดใสว่า มั่นใจในพยานหลักฐานที่จะนำเสนอศาลว่าศาลจะรับฟัง โดยคดีนี้ตนมีพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถกว่า 70 ปาก เชื่อว่าไม่มากเกินไป และพยานจะสามารถให้ข้อมูลกับศาลได้ ทั้งนี้ พยานดังกล่าวที่เตรียมไว้ก็มีทั้งกลุ่มที่เคยให้การไว้ในสำนวน ป.ป.ช. และกลุ่มพยานที่เราเคยเสนอให้ ป.ป.ช.ไต่สวน แต่ ป.ป.ช.ตัดไปไม่นำมาไต่สวน โดยพร้อมต่อสู้ทุกคดี และจะมาตามที่ศาลนัดทุกคดี

ขณะที่ภายหลังการตรวจพยานหลักฐาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จะเหลือเวลาอีก 2 เดือน ขณะที่ฝ่ายอัยการมีพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่น และพยานบุคคลที่เพิ่มเติมอีก 23 ปาก ดังนั้นเวลาอาจไม่เพียงพอต่อการตรวจดูเอกสารทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าเป็นพยานเอกสารที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จึงถือเป็นการบ้านที่ทนายความต้องทำงานหนักก่อนจะถึงนัดตรวจหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค.นี้

ส่วนนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ยอมรับว่าหนักใจ เพราะไม่ได้เห็นเอกสารที่อัยการนำมาเพิ่มเป็นพยาน แต่ก็จะตรวจพยานอย่างละเอียด โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องเดินทางมาศาลมาอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค.นี้

ด้านนายเอนก คำชุ่ม ทีมทนายความ ระบุว่า คดีนี้ตามบัญชีพยานที่เรายื่นมีพยานบุคคล 71 ปาก ส่วนพยานเอกสารมีจำนวนกว่า 100 แฟ้ม แต่ในเบื้องต้นเราได้เสนอพยานเอกสารไว้ 61 แฟ้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาถึงศาลเวลาประมาณ 09.00 น. พร้อมทีมทนายความ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสีหน้ายิ้มแย้ม กล่าวทักทายประชาชน ขณะที่มีอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำ นปช. มาให้กำลังใจจำนวนมาก อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ , นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมว.พาณิชย์ , นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายก่อแก้ว พิกุลทอง

ขณะที่บริเวณศาลฎีกาฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ เนื่องจากมีประชาชนมารอให้กำลังใจ และมอบดอกไม้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ และ รปภ.ของศาล ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบ ซึ่งผู้ที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีต้องแลกบัตรกับเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดด้วย