สมองเด็กเรียนรู้ได้มากกว่าที่พ่อแม่คิด

สมองเด็กเรียนรู้ได้มากกว่าที่พ่อแม่คิด

คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกชอบถามซ้ำๆ ทำไมชอบอ่านนิทานเล่มเดิมๆ หรือเล่นของเล่นชิ้นเดิมๆ

คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกชอบถามซ้ำๆ ทำไมชอบอ่านนิทานเล่มเดิมๆ หรือเล่นของเล่นชิ้นเดิมๆ ทั้งหมดนี้เกิดจากความต้องการที่จะเรียนรู้โลกใบนี้ของสมองนั่นเอง สมองต้องการเข้าใจเหตุและผล รวมถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับตัวเขาและสิ่งต่างๆ เพื่อสั่งสมเป็นประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญ ทั้งหมดเพื่อการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขและมั่นคง

สมองเรียนรู้เป็น พัฒนา และถดถอยได้

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำงานของสมองเด็กไว้ว่า "ธรรมชาติได้สร้างสรรค์สมองของมนุษย์ให้รู้จักการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดบนโลกใบนี้ ดังนั้นสมองจึงมีกระบวนการทำงานที่หลากหลายซับซ้อน เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยิ้ม หัวเราะ การคลาน นั่ง พูด เดิน เป็นต้น ที่สำคัญ สมองของมนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการเรียนรู้ เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมองซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวงจรและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อมีการกระตุ้นสมองให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเราเรียกกระบวนการเชื่อมต่อของสมองนี้ว่า ไซแนปส์ ทั้งนี้การเชื่อมต่อของไซแนปส์สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก ดังนั้นช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาถึง 85% เทียบเท่าสมองของผู้ใหญ่ ที่สำคัญทุก 1 วินาที เซลล์สมองของเด็กจะมีการเชื่อมต่อสูงถึง 700 เซลล์ ซึ่งหมายความว่า สมองของลูกน้อยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว จะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองแต่เป็นการพัฒนาโครงข่าย ส่วนเซลล์สมองที่ไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะเสื่อมสลายไป การสร้างทุกนาทีให้เป็นการเรียนรู้ของลูก (Non-Stop Learning) จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันส่งเสริมในโอกาสทองนี้"


เรื่องจริงของสมองที่ควรรู้และต้องได้รับการกระตุ้น
1. การสัมผัสและการหัวเราะช่วยพัฒนาสมอง จากผลสำรวจพบว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น หรือไม่ค่อยได้รับการการสัมผัสโอบกอด จะมีสมองขนาดเล็กกว่าเด็กปกติ 20-30% ทั้งนี้การกอดลูกแน่นๆ หรือการโยกตัวลูกเบาๆ รวมถึงการสัมผัส สบตา และพูดคุยกับลูกมากเท่าไร จะยิ่งช่วยเพิ่มสารอ๊อกซิโตซินและเอนดอร์ฟินในสมองของลูกให้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่เส้นใยประสาทของลูกกำลังก่อตัว ถ้าทำให้ลูกหัวเราะ สมองของเขาจะพัฒนาได้เร็ว ดังนั้นคุณแม่ควรจะทำให้ลูกหัวเราะอย่างมีความสุข ซึ่งจะช่วยสร้างความฉลาดทางอารมณ์และความผูกพันกับลูกน้อย
2. สมองเรียนรู้จากการเลียนแบบ ในสมองของมนุษย์เรานั้นมี เซลล์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ของมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ การสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น กระจกเงาการเรียนรู้ของลูกที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือพ่อแม่นั่นเอง ถ้าพ่อแม่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก แต่ถ้ามีลักษณะตรงกันข้าม ไม่มีเหตุผล ประพฤติตนไม่เหมาะสม ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก และแสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน
3. อารมณ์มีผลกับศักยภาพในการเรียนรู้ หากมีแรงกดดันมาก มีความเครียดสูง หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า อารมณ์เชิงลบทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อสารเคมีที่จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของสมองลดลง แต่หากลูกน้อยมีความสุข มีความมั่นคงทางอารมณ์ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี


4. การเล่นช่วยพัฒนาอัจฉริยภาพ การเล่นมีผลต่อการพัฒนาสมองโดยตรง ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ สัมผัส จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในด้านต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้สมองมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ควรเลือกการเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็กในแต่ละวัยเพราะจะช่วยกระตุ้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อทำให้สมองเกิดการพัฒนาการเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอัจฉริยะ


5. พัฒนาสมองด้วยการอ่านหนังสือ เซลล์สมองจะเชื่อมต่อได้ดีและแตกแขนงออกไปเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้และฝึกใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะทางตาและทางหู ดังนั้นการอ่านหนังสือจึงมีอิทธิพลในการกระตุ้นเซลล์สมองที่สำคัญอย่างยิ่ง ช่วยให้เส้นใยสมองเพิ่มมากขึ้น เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นสายใยมากขึ้น ส่งผลให้เด็กฉลาดยิ่งขึ้น

6. สมองเหมือนกันแต่ฉลาดต่างกัน เด็กๆ อาจมีขนาดสมองไม่แตกต่างกัน แต่มีศักยภาพสมองที่แตกต่างกันได้ นอกจากพันธุกรรมที่ได้รับมาแต่กำเนิด จุดสำคัญที่ทำให้เด็กฉลาดแตกต่างกันก็คือปริมาณการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เซลล์สมองเด็กเกิดการเชื่อมต่อได้ตั้งแต่ลูกคลอดออกมาโดยให้ลูกได้กินนมแม่ซึ่งมีสารอาหารที่ดีต่อสมองอยู่มากมาย เช่น ดีเอชเอ รวมถึงการสัมผัสโอบกอดด้วยความรักจากคุณแม่ การเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัยและโภชนการที่สมบูรณ์ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง

7. เครือข่ายใยประสาท สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ ทุกครั้งที่เรานึกถึงความทรงจำหรือเกิดความคิดใหม่ๆ เซลล์สมองจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าภายในเซลล์สมองของตนเองและสื่อผ่านไปยังเซลล์อื่นด้วยสารสื่อประสาทอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นทุกๆ ครั้งที่เด็กถูกกระตุ้นให้คิด ให้ทำซ้ำๆ จุดเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นหรือที่มีอยู่แล้วก็จะแข็งแรงขึ้นยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพวรรณ หรรษคุณาชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "โอกาสในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ลูกน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงพ่อแม่เข้าใจเรื่องการทำงานสมอง ที่เหลือคือการสร้างทุกนาทีสู่การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดให้แก่ลูกน้อยซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แม้จากกิจวัตรประจำวันที่ดูเป็นเรื่องทั่วไป เช่น ร้องเพลงเกี่ยวกับการแปรงฟันที่มีทำนองสนุกๆ จดจำได้ง่ายเพื่อชวนลูกไปแปรงฟัน หรือการจัดวางผลไม้รูปทรงและสีต่างๆ ในจานให้กลายเป็นระบบสุริยะจักรวาล ให้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์แบบง่ายๆ นอกจากจะสนุกแล้วยังได้ความรู้อีกด้วย การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดนั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ไม่ควรใส่ความกดดันหรือความคาดหวังที่ลูกมากเกินไปนัก แต่ควรดำเนินทุกกิจกรรมไปด้วยความรักและความสนุกสนาน เมื่อลูกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและความปรารถดี ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเราในทุกๆ นาทีค่ะ"