โยน 'คสช.' พิจารณาผ่อนปรนฯก่อนประชามติ

 โยน 'คสช.' พิจารณาผ่อนปรนฯก่อนประชามติ

"วิษณุ" รองนายกฯ โยนให้ "คสช." พิจารณาผ่อนปรนประกาศคำสั่ง ก่อนประชามติ เผยกกต. คุมกฎพร้อมจัดเวทีให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นโดยเท่าเทียม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญหากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) รับร่างฯในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้คิดว่าจะให้บรรดาพรรคการเมืองได้แสดงออกในรูปแบบใดได้บ้าง โดยกกต.ได้ส่งรายละเอียดเรื่องดังกล่าวถึงตนแล้ว แต่ยังไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม การปลุกระดมไม่ว่าจะให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องไม่สมควร แต่สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่ใช่การชี้นำผู้อื่นให้คล้อยตาม แม้การพูดของคนคนหนึ่งจะเหมือนการชี้นำอยู่แล้วก็ตาม ก็ต้องเอาตัวเองเป็นจุดตั้งต้น ไม่ใช่ไปชวนให้คนอื่นเห็นพ้องด้วยกับตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่แล้วเรียกให้คนหันมาสนใจ ซึ่งในการรณรงค์ในช่วงทำประชามตินั้นไม่สามารถทำในลักษณะเดียวกันกับช่วงเลือกตั้ง เพราะแม้แต่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ไม่มีการหาเสียง ดังนั้น ครั้งนี้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวจึงไม่เป็นอะไร แต่อย่าไปปลุกระดมคนอื่น โดย กกต.จะเป็นผู้กำหนดกรอบว่าการปลุกระดมนั้นมีขอบข่ายอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงการรณรงค์ประชามติจะมีการผ่อนปรนประกาศ คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่การพิจาณาของคสช. อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงการโฆษณา รณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นการติดสติ๊กเกอร์ การใช้ธงสัญลักษณ์ โดยกกต.ระบุว่า จะเร่งพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดรัฐบาลได้พยายามให้กกต.เป็นคนจัดการควบคุมกฎและเป็นฝ่ายจัดเวทีรับฟังและแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า ผู้ที่ต้องการจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นกันเองจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะหากไม่มีกติกาควบคุมในส่วนนี้ก็อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เช่นเดียวกับรายการโทรทัศน์ หากเชิญเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาร่วมรายการ ถือว่าอันตราย ส่วนการทำโพลของแต่ละสำนักนั้น สามารถทำได้ แต่ก็มีช่วงเวลากำหนดว่า ห้ามเปิดเผยผลโพลก่อนการลงประชามติกี่วัน เพราะจะเกิดการชี้นำ

“แต่ถึงจะห้ามก็จะมีคนพูดอยู่ดี แล้วใครจะใจไม้ใส้ระกำไปตามจับ เราก็ต้องตั้งกติกาเพื่อให้ดูน่ากลัวไว้ก่อน ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อพูดไปแล้วใครจะไปตามจับ แล้วจับข้อหาอะไร หรือจะเป็นข้อหาไม่ชอบในมาตรานู้นมาตรานี้ ของมันขึ้นอยู่ที่ทำเป็นหรือไม่เป็นเท่านั้นเอง เหมือนแก้รัฐธรรมนูญนั่นแหละ ถ้าแก้เป็นมันก็ไม่เกิดเรื่อง” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า เวลาในการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนการลงประชามติเพียงพอหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่ามาหวังจากการให้ความรู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องหวังจากผู้ที่จะมาช่วยกันอธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยปราศจากการชี้นำ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยไม่ว่าชาวไร่ ชาวนา ก็ต้องมีผู้ที่จะไปช่วยอธิบาย ถ้าหากอธิบายดี รัฐบาลก็อาจให้เงินสนับสนุน