'วิลาศ'หนุนสปช.คว่ำร่างรธน.6กย.นี้

'วิลาศ'หนุนสปช.คว่ำร่างรธน.6กย.นี้

"วิลาศ" อดีตส.ส.ปชป. หนุน "สปช." คว่ำร่างรธน." ชี้ถ้าผ่านถึงขั้น "ประชามติ" ต้องรณรงค์ให้ปชช.เข้าใจเนื้อหา ก่อนลงคะแนน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ว่า เห็นว่าสปช.ควรดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดี แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียเพียงไม่กี่มาตราที่อาจจะทำลายข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เห็นชัด คือ การได้มาของส.ว. ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีส.ว.สรรหา123คนส่วนส.ว.77คนนั้น ส่อเป็นการสืบทอดอำนาจ เพราะส.ว.สรรหามีมากกว่าส.ว.เลือกตั้ง ดังนั้น หากมีการจะพิจารณาอะไรก็ต้องปฏิบัติตามโผของผู้มีอำนาจอยู่แล้ว จึงขอให้สปช.ใช้ดุลยพินิจให้รอบคอบ ว่ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยไม่ทำให้เกิดการรัฐประหารหรือบังคับให้ต้องปฏิรูปได้จริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นข้อเสียเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งทำลายรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าสปช.ไม่ควรที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณในการจัดทำประชามติจำนวน 3.3 พันล้านบาท และให้มีคณะกรรมการจำนวน 21 คนขึ้นมาพิจารณาอาจจะใช้เวลาไม่นาน เพราะสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาปรับปรุงส่วนที่ไม่ดี เชื่อว่าระยะเวลาเพียง 1 เดือนก็จะสามารถพิจารณาแล้วเสร็จ คงไม่ต้องใช้เวลา 180 วันตามที่กำหนด

นายวิลาศ กล่าวต่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสปช.ก็จำเป็นต้องให้มีการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนถึงข้อดี ข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประชาชนคนใดอ่านรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจทั้งหมด คงมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติพ.ศ.2552บัญญัติไว้ว่าต้องให้ความรู้กับประชาชนก่อนออกเสียงประชามติ หากรัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ก็เท่ากับขัดพ.ร.บ.ดังกล่าวและในสมัยการประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็ไม่มีการห้ามให้รณรงค์แต่อย่างใด มีแต่ครั้งนี้ที่สั่งห้าม แล้วอย่างนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปรองดองได้อย่างไร และหากรัฐบาลยังยืนยันห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ ก็คงไม่ต้องมีการทำประชามติ