กทม.เตือนสูบบุหรี่สวนสาธารณะเจอจับ-ปรับ

กทม.เตือนสูบบุหรี่สวนสาธารณะเจอจับ-ปรับ

กทม.เตือนงดสูบบุหรี่ในสวนสาธารณะ พบฝ่าฝืนผิดพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ปี 35 จับ-ปรับไม่เกิน 2 พันบาท

นายสุวพร เจิมรังษี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ตามนโยบายของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จะพัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งสิ่งแวดล้อมโดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยมาตรการจัดหาที่ดินเพื่อสร้างสวนสาธารณะ สวนหย่อม รวมถึงการปรับปรุงและบูรณะสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สวยงาม ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการเกิดความพอใจ แต่กทม.จะขอความร่วมมือจากประชาชนที่เข้าไปใช้บริการภายในสวนสาธารณะ โดยไม่สูบบุหรี่ในสวนสาธารณะ เพื่อให้สวนสาธารณะทุกแห่งเป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์ และเป็นการปฏิบัติตามพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 เรื่อง กำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ หากพบผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายทันที โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยออกตรวจบริเวณสวนโดยรอบ และหากพบการสูบบุหรี่ก็ให้แจ้งเตือนว่าเป็นข้อห้ามปฏิบัติภายในสวนสาธารณะเป็นความผิดทางกฎหมาย และเป็นการรบกวนผู้ใช้บริการอื่นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโทษตามพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ระบุว่า มาตรา 5 เมื่อรัฐมนตรีประกาศตาม มาตรา 4 แล้ว ให้ผู้ดำเนินการมี หน้าที่ (1)จัดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะเป็นเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ (2) จัดให้เขตสูบบุหรี่มีสภาพ ลักษณะและมาตรฐานตามที่รัฐมนตรี กำหนด (3)จัดให้มีเครื่องหมายในเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ มาตรา 7 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่สาธารณะตาม ที่รัฐมนตรีประกาศตาม มาตรา 4 (1) และ (2) ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อการตรวจสอบหรือควบคุมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัว พนักงานเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนดในราชกิจจานุเบกษา 

มาตรา 9 ให้ผู้ดำเนินการและบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สาธารณะ อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 7 มาตรา 10 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 11 ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (1) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ผู้ดำเนินการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองพันบาท มาตรา 12 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท มาตรา 13 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้า ที่ซึ่งปฏิบัติการตาม มาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับ ไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ