นายกฯ สั่งปภ.เตรียมรับมือมรสุมเข้าไทย 30ส.ค.- 3ก.ย.

นายกฯ สั่งปภ.เตรียมรับมือมรสุมเข้าไทย 30ส.ค.- 3ก.ย.

"พล.อ.ประยุทธ์" นายกฯ สั่งปภ.เตรียมรับมือมรสุมเข้าไทย 30ส.ค.- 3ก.ย. ห่วง21จว.เหนือ-อีสานเสี่ยงฝนตกหนัก-ดินถล่ม กำชับดำเนินการ 4 ขั้นตอน

วันนี้ (29ส.ค.) พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 21 จังหวัด ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 30 ส.ค. ถึง 3 ก.ย. นี้ โดยได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับทราบข้อมูลล่วงหน้าให้เร็วที่สุด ซึ่งนายกฯ เป็นห่วงว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงหน้าฝนและดินอุ้มน้ำมานานพอควรแล้ว หากเกิดพายุฝนหนักอีก อาจส่งผลให้บางพื้นที่เสี่ยงกับดินโคลนถล่ม จึงสั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อม และมีมาตรการทำงานที่ชัดเจนรัดกุม ขณะเดียวกันรัฐบาล อยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ได้ปฏิบัติตามประกาศเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสความสูญเสียด้วย   

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วง 30 สิงหาคม- 3 กันยายน 2558 ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสี่ยงต่ออันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้ โดยในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกประกาศแจ้งเตือน 5 ศูนย์เขตและ 21 จังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร นครพนม อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ให้เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อันเนื่องจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ในช่วงเวลาเดียวกัน   

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า มาตรการที่กำหนดให้ทั้ง 21 จังหวัด ดำเนินการมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ทราบเกี่ยวกับภัยอันเกิดจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง 2.ให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมือง เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดว่าประชาชนจะไปใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก มิสเตอร์เตือนภัยที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย ให้แจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นให้กับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์  

3.ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และ4.รายงานผลการปฏิบัติงานในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับทราบต่อไป