ยรรยง บุญ-หลง นักคิดพันธุ์ใหม่

ยรรยง บุญ-หลง นักคิดพันธุ์ใหม่

สถาปนิกชุมชนคนนี้...รู้ เห็น มีไอเดีย และลงมือทำ เพื่อให้คนนำไปต่อยอด ไม่ว่าเรื่อง ขนส่งทำมือ เครือข่ายสัญจร ฯลฯ

“ผมได้ไปคุยกับพี่จำรัส ณ ชุมชนคลองบางซื่อมา เขาบอกว่า เขาได้ใช้เรือที่ทำขึ้น ขนส่งลำเลียงผู้ป่วยในชุมชนริมคลองไปโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ” ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชน เขียนไว้ในเว็บ afterword

“ฝรั่งใน Amsterdam อาจจะตกใจก็ได้ว่า เรือแสนแสบของเรา สามารถลำเลียงผู้โดยสารออกจากเรือในอัตรา 100 คน ภายในเวลา 5 วินาที (เพียงแค่กระตุก “ม่าน” ลง …คนก็ล้นตลิ่งแล้ว) เรือแสนแสบเป็นนวัตกรรมที่ตรงกับสิ่งที่ Buckminster Fuller เรียกว่า Tensegrity Structure หรือโครงสร้างที่ผสมผสานระหว่าง tension และ compression ฝรั่งเขาอาจจะสามารถเอานวัตกรรมอันนี้ไปปรับใช้ในคลอง Amsterdam ได้ หรือถ้าเขาเอาไปพัฒนาต่อได้ในลักษณะ open source เราอาจจะได้เห็นเรือพลังงาน Fuel Cell หลังคาผ้าใบ ที่ปรับระดับได้ตามความสูงของสะพาน เหมือนกับในคลองแสนแสบก็ได้” ยรรยงเล่า

และนั่นทำให้เขาต้องสเก็ตช์ภาพ เก็บข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์ และตั้งชื่อ ยานพาหนะที่คนธรรมดาๆ ทำเองว่า ขนส่งทำมือ ซึ่งเป็นเครือข่ายการสัญจรที่มีตารางเวลาแน่นอน ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิด Town & Transit Toolbox (http://hcr-web.herokuapp.com/path) เครื่องมือที่ให้ผู้ใช้วาดเครือข่ายการสัญจร เพื่อดูผลการเชื่อมต่อกันของระบบการสัญจรในเมืองต่างๆ ได้

สิ่งที่สถาปนิก นักอนุรักษ์พลังงาน คนนี้คิด ไม่ใช่แค่ขายไอเดีย แต่เขาลงมือทำ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี เพราะเคยทำงานศึกษาวิจัยออกแบบให้ชุมชนในอเมริกา รวมถึงเคยอยู่ย่านเนิร์ดๆ ซิลิคอนแวลลีย์

แต่ทั้งหมดทั้งปวงไม่สำคัญเท่า การลงมือทำ เขาเชื่อเรื่องการคิดและสร้างสรรค์ จำต้องผ่านการบันทึก พัฒนาต่อยอด เพื่อร่วมกันสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ยรรยงเคยเขียนไว้ว่า รู้สึกภูมิใจ เมื่อได้ยิน CEO ของบริษัทญี่ปุ่นผู้หนึ่งเล่าถึงการเดินทางในกรุงเทพฯ ว่า

“ผมชอบทำให้คณะกรรมการบริษัทตกใจอยู่เสมอ ด้วยการมาถึงที่ประชุมก่อนเวลากว่า 1 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่พวกเขานั่งรถ Limousine มาจากโรงแรมเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วพวกคณะกรรมการบริษัทอาจจะตกใจ เสื้อสูทของผมมีละอองน้ำจากคลองแสนแสบติดอยู่ก็ได้ ”

 

ขนส่งทำมือ

พี่จำรัสที่ยรรยงเล่า เป็นผู้ประกอบการเรือขนส่งผู้โดยสาร พาหนะที่สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้ ไม่ต้องฝ่ารถติด

“จริงๆ แล้ว Leonardo Da Vinci ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรไปกว่าพี่จำรัส แต่เขาได้บันทึกแบบและแนวคิดต่างๆ ของเขาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู”

นี่คือ อีกเหตุผลทำให้สถาปนิกคนนี้ สเก็ตภาพสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

“ถ้าไม่อยากติดอยู่บนรถเมล์สามสี่่ชั่วโมง เรือในคลองแสนแสบ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง สามารถพาคนเดินทางไปถึงตรงต่อเวลา ผมมองว่า รัฐน่าจะพัฒนาการขนส่งรูปแบบนี้ให้ทันสมัยมากขึ้น” ยรรยง บรรณาธิการ หนังสือ Bangkok: Handmade Transit กล่าวถึงหนังสือที่กำลังจะผลิตขึ้น โดยการระดมทุน และระดมความคิดจากคนที่อยากอ่านเรื่องนี้จริงๆ เล่าถึงเรื่องราวของยานพาหนะ “ทำมือ” 10 ชนิด ตั้งแต่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรือทางด่วนแสนแสบ ตุ๊กตุ๊ก สามล้อถีบ ไปจนถึง รถเข็นผลไม้

“ตอนนี้กำลังวิจัยเรื่อง คนธรรมดาสร้างยานพาหนะขึ้นมาเอง อย่างรถเข็นที่ต่อจากท่อเหล็ก กลายเป็นตลาดกลางคืน เรือที่คลองแสนแสบ วินมอเตอร์ไซค์ นวัตกรรมที่คนไทยคิดเอง และมีระบบการจัดการด้วย เหมือนการส่งปิ่นโตที่เกิดขึ้นในชุมชนอินเดีย ขณะที่ประเทศอื่น ขนส่งที่ตรงต่อเวลา เป็นบริการที่รัฐจัดให้ แต่ขนส่งที่รวดเร็วแบบไทยๆ คนธรรมดาๆ คิดกันเอง” ยรรยง เล่า และยกตัวอย่างรถพุ่มพวงขายผักตามชุมชน

“รถพวกนี้วิ่งเข้าออกชุมชนมีรอบเช้าและเย็น เมื่อคนออกมารอซื้อสินค้า ก็มีโอกาสพูดคุยกัน กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ อย่างการออกแบบเรือที่คลองแสนแสบ เวลาเจอสะพานต่ำ ก็พับหลังคาลง ระบบแบบนี้ไม่มีการเขียนแแบบแปลน ผมก็พยายามวาดแบบแปลนไว้ ในอนาคตอาจพัฒนาให้ทันสมัยได้ และตอนนี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังจะมาพัฒนาเครื่องยนต์ให้ผู้ประกอบการเป็นโซลาร์เซลล์ แม้กระทั่งการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ อาทิ นกหวีด ก็มีความหมาย รวมถึงระบบการเก็บเงิน”

วินมอเตอร์ไซค์ หนึ่งในขนส่งทำมือที่เขาศึกษาวิจัย เป็นนวัตกรรมอีกอย่างที่คนมองข้าม ไม่ว่าจะเส้นทาง หรือการจัดระบบของวินแต่ละคน ยรรยง บอกว่า วินมอเตอร์ไซค์ เป็นระบบที่มีตารางเวลาที่แน่นอนกว่ารถ Limousine ของเศรษฐีเสียอีก

“ในประเทศอินเดีย รัฐพยายามทำระบบมอเตอร์ไซค์สำหรับขนส่งผู้ป่วยไปโรงพยายาบาล เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ติดอยู่บนถนนไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ทันเวลาจำนวนมาก สามารถนำระบบการจัดการคิวของวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ไปประยุกต์ใช้ได้ ผมจึงต้องบันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อคนจะนำไปต่อยอดได้” ยรรยง เล่าไว้ในเว็บไซต์ และบอกว่า ขนส่งรูปแบบนี้ สามารถนำมาใช้กับการชอปปิ้งออนไลน์ทำให้ส่งของได้ตรงเวลา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขามองว่า ระบบขนส่ง “ทำมือ” ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในเรื่องการปรับปรุงสร้างเขื่อนกันตลิ่งทรุดและการปะทะของคลื่นจากเรือ

เครือข่ายสัญจร&ที่อยู่

ลองจินตนาการดูว่า หากกรุงเทพฯ มีระบบรถไฟฟ้าโยงใยทุกเส้นทาง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงตามหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกทม. เมืองและชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร

“ถ้าถามผม ผมมองว่า อีก 5 ปีข้างหน้ายังเหมือนเดิม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ เมื่อรถไฟความเร็วสูงตามหัวเมืองใหญ่สร้างเสร็จ คนไม่จำเป็นต้องอยู่ในกทม.เท่านั้น เราสามารถคำนวณเวลาในการเดินทางได้ ในอนาคตคนจะอยู่ตามหัวเมืองใหญ่มากขึ้น ในสิงคโปร์เกิดขึ้นแล้ว ในจีนพยายามทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึง”

อีกไอเดียที่คุยกัน ก็คือ การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟฟ้า เรือ และรถเมล์ เข้าด้วยกัน ให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น

“ผมอยากให้คลองเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบนดิน เรือ ให้สะดวกมากขึ้น ตอนนี้กทม.เริ่มทำที่ภาษีเจริญ และบางหว้า คำนวณเวลาเดินทางได้แน่นอน มีจุดตัดบนเส้นทางคลองแสนแสบและเพชรบุรี ถ้าทำเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงกันได้ด้วยตั๋วใบเดียวมาถึงบีทีเอส รูดการ์ดได้เลย ต้องมีการดีไซน์ อย่าให้รถไฟฟ้าวิ่งขนานกับรถเมล์ เพื่อให้มีความหลากหลาย” ยรรยงเล่าไอเดีย ซึ่งเขาเคยเสนอไอเดียนี้หลายครั้ง และโยงถึงเรื่องที่อยู่อาศัยว่า

“การเคหะรูปแบบใหม่ ต้องเน้นติดกับขนส่งมวลชนที่คำนวณเวลาเดินทางได้แน่นอน และไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านการเคหะสำหรับคนจนเท่านั้น บ้านราคาถูกในอเมริกาไม่ได้เรียกว่า บ้านคนจน ในเมืองไทยการสร้างบ้านในรูปแบบสาธารณะ ยังติดเรื่องพ.ร.บ.ที่อยู่อาศัยคนจน ทำให้ไม่สามารถค้าขายหรือเปิดร้านอะไรได้ ในอนาคตสามารถทำด้านล่างของบ้านหรือคอนโดสาธารณะเป็นร้านกาแฟ แล้วเก็บค่าเช่าแพงๆ มาหนุนค่าเช่าบ้านทั้งหมด ซึ่งคอนโดที่ทำตอนนี้เป็นการค้าขายและเก็งกำไรอย่างเดียว”

 

ค็อกเทลพลังงาน

เหมือนเช่นที่กล่าวมา เขาเป็นสถาปนิกที่สนใจเรื่องชุมชน และการใช้พลังงาน โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน ซึ่งเขาทำงานให้ชุมชนเล็กๆ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยใช้ไฟไม่เกินเดือนละหนึ่งพันบาท

“ชุมชนยากจนที่ไม่มีบ้านเลขที่ชัดเจน ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่าคนทั่วไป เพราะรับกระแสไฟฟ้าจากสายไฟย่อย สถาบันที่ผมทำงานด้วย จึงทำโครงการนำร่อง 40 หลังคาเรือน ลงทุนหลังละสองแสนกว่าบาทติดโซลาร์เซลล์ให้ชุมชน แต่มีข้อเสีย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ไม่ให้ขาย ในอนาคต ถ้ามีบริษัทติดโซลาร์เซลล์ให้ชุมชน แล้วขายไฟโดยตรง รับประกันได้ 20 ปี บริษัทก็ได้กำไร เป็นโมเดลที่ใช้ได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของรัฐ” ยรรยงเล่า และโยงไปถึงเรื่องพลังงานระดับประเทศว่า การนำพลังงานถ่านหินมาใช้ แม้ราคาต้นทุนจะถูกกว่า แต่เมื่อบวก ลบ คูณ หาร ธนาคารโลกมีข้อมูลยืนยันว่า ถ้าบวกราคาสำหรับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็จะต้องจ่ายสูงกว่า

“กลายเป็นว่า เป็นพลังงานราคาแพง แต่ถ้าเอาโซลาร์เซลล์ มารวมพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท เหมือนการทำค็อกเทล ราคาการใช้พลังงานจะถูกกว่า เรื่องนี้รัฐยังไม่ได้ศึกษาจริงจัง ทั้งๆ ที่รัฐก็สนใจเรื่องพลังงานหมุนเวียนหลายอย่าง ”

  

ต้นทุนชีวิต&การคิด

เขาไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่อาบน้ำเพียงแค่ 5 ขัน แล้วบอกว่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

เขาไม่ได้เป็นเอ็นจีโอที่กินแต่ผัก เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้พลังงานอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์

และไม่ใช่นักพูด ที่มีแต่คำเท่ๆ ตามประสาคนรักษ์โลก แต่เป็นนักเคลื่อนไหว นักเขียน สถาปนิกชุมชน ที่สนใจเรื่องสังคม และลงมือทำสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคม อาทิ ทำโซลาร์เซลล์ให้ชุมชน, เขียนและ สเก็ตภาพ นวัตกรรมขนส่งทำมือที่คิดโดยคนธรรมดาๆ เพื่อนำไปต่อยอด ฯลฯ รวมถึงสนใจการใช้ชีวิต

ระหว่างการพูดคุย เขาตั้งคำถามว่า ทำไมคนเราต้องทำงานเวลา 9.00 -17. 00 น.

“สิ่งหนึ่งที่นักอนุรักษ์มักจะมองข้ามอยู่เสมอ ก็คือ การตื่นนอนไปทำงานพร้อมๆ กัน เป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่” สิ่งที่เขากล่าวถึง มีคำอธิบายอยู่ในเว็บ http://thaipublica.org/

เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนเรียนจบคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย UC Berkeley จากนั้นทำงานออกแบบ โดยเน้นเรื่องการออกแบบให้ชุมชน ทั้งในซิลิคอนวอลเล่ย์ และซานฟานซิสโก

"ผมมองว่า ในยุคหนึ่งกลุ่มฮิปปี้ก็มีแนวคิดเชิงสังคม ยุคดิจิทัล อิโคโนมี รากฐานก็มาจากพวกฮิปปี้ อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน แบ่งปันสื่อสารให้ทั่วถึงมากขึ้น ไอสไตน์ก็มีแนวคิดแบบสังคมนิยม ผมเองก็สนใจเรื่องสังคม ถ้าต้องทำงาน 9 ถึง 5 โมง ทำไมคนต้องทำเวลานั้น

ในเมืองไทยมีพื้นที่สาธารณเยอะกว่าอเมริกา ในอเมริกา ถ้าร้านซักแห้งของคนจีนหายไป ชุมชนอาจล่มสลายได้ เพราะคนมาพบปะกัน เป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางที่คนได้พูดคุยกัน ผมเคยทำงานออกแบบให้องค์กรรัฐที่นั่น ผมมีหน้าที่ออกแบบ ดึงร้านของผู้ประกอบเล็กๆ เข้ามาอยู่ในย่านเสื่อมโทรม

ผมกลับมาเมืองไทย 7 ปี ก็เพราะอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผมมองว่า ชุมชนในเมืองไทย ระบบสาธารณสุขมูลฐานดีกว่าในอเมริกา คนในชุมชนที่อเมริกาจะป่วยเยอะเป็นโรคอ้วน บางคนอุจจาระราดอยู่ในวิลแชร์ ไม่มีคนสนใจ แต่คนไทย แม้จะมีรายได้น้อย แต่ระบบการดูแลดีกว่า

ผมว่าเด็กไทยเป็นแฮกเกอร์ที่เก่งมาก ถ้ามองมุมกลับ พวกนี้เป็นนักคิด นักโปรแกรมเมอร์ที่ดีได้ ยูทูบเกิดที่อเมริกา ทั้งๆ ที่คนจีนเป็นคนคิด แต่ไม่ใช่ว่าจะโพสต์อะไรก็ได้ รัฐบาลไม่ยอม แต่คนอเมริกันเปิดกว้าง พวกเขามีสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก จริงๆ แล้วการโพสต์ความคิดต่างๆ ไม่ได้ทำให้รัฐควบคุมสังคมได้ยาก เพราะรัฐก็ตรวจสอบตลอดเวลา

ผมมองว่าสถาปนิกทั่วไป ทำงานกับคนรวยแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ทำงานกับคนทั่วไป คือ 99 เปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่า ควรมีการสร้างเครือข่ายสถาปนิก เพื่อให้คนที่ทำงานออฟฟิศในบริษัทสถาปนิกเจียดเวลาทำงานกับสิ่งที่จับต้องได้ในพื้นที่บ้าง"