'Bus Operator' เป้าหมาย 'เอทีพี30'

'Bus Operator' เป้าหมาย 'เอทีพี30'

บมจ.เอทีพี30 เดินแผนกระจายสัดส่วนลูกค้า รับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า 'ปิยะ เตชากูล' หุ้นใหญ่ โชว์แผนเติบโตปีละ 30%

แม้ตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะถูกปัจจัยทั้งในและนอกประเทศรุมเร้า แต่หุ้น เอทีพี30 หรือ ATP30 หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ ผู้ให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง เพื่อขนส่งพนักงานของโรงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ก็สามารถเปิดตัวได้อย่างสวยงาม โดยเปิดซื้อขายวันแรก (27ส.ค.2558) ที่ระดับราคา 2.04 บาท จากราคาไอพีโอ 0.95 บาท

'ธุรกิจบริการขนส่งยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เพราะยังมีรถบริการอีกหลากหลายประเภทที่บริษัทยังไม่เคยทำ ซึ่งเราคิดจะทำเร็วๆนี้' 'ปิยะ เตชากูล' กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอทีพี30 หรือ ATP30 บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week'

ATP30 ถือเป็น 1 ในผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการรับส่งพนักงานเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) โดยผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดียวกันในย่านนั้น คือ บริษัท ศรีราชากรีนพ้อยท์ จำกัด และบริษัท ผลอนันต์ฟาร์ม จำกัด

ปัจจุบันบริษัทมีรถโดยสารประเภทรถบัสประมาณ 136 คัน และรถโดยสารร่วมบริการประเภทรถตู้เกือบ 100 คัน ซึ่งรถทั้งหมดจะให้บริการลูกค้า 22 ราย ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเขตพื้นที่ตะวันออก คือ 1.จังหวัดชลบุรี เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น

2.จังหวัดระยอง อาทิ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) เป็นต้น 3. จังหวัดปราจีนบุรี เช่น นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี และ 4.จังหวัดฉะเชิงเรา เช่น นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ นิคมอุตสาหกรรมที เอฟ ดี และนิคมอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค2 เป็นต้น

ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC บมจ.โพสโค-ไทยน๊อคซ์ หรือ INOX บริษัท บริดจสโตน ไทร์ แมนนูแฟค เจอรี่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ดิแนล เฮลท์ 22 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ฟูจิทสึ เท็น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

'ปิยะ เตชากูล' ในฐานะหุ้นใหญ่สัดส่วน 22.27% 'เอทีพี30' พื้นเพเป็นคนจังหวัดชัยภูมิ แต่เข้ามาเรียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 27 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ 'ประพันธ์ เจริญประวัติ' ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

เขาเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายผลิต บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ระหว่างนั้นก็ศึกษาต่อปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตำแหน่งสุดท้ายในแวดวงวิศวกรรม หลังเดินบนเส้นทางนี้มา 17 ปี คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮโดรแก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด

สาเหตุที่ 'ปิยะ' เดินออกจากเส้นทางมุนษย์เงินเดือนแล้วหันหน้าสู่ถนนเจ้าของธุรกิจ เกิดจากบริษัทแม่ของ 'ไฮโดรแก๊ส' ซึ่งเป็นสัญชาตินอร์เวย์ มีนโยบายจะขายกิจการในเอเชียออกทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาไม่รอช้ารีบตามหากิจการที่เข้ากับจริตของตัวเอง สุดท้ายลงเอยที่ 'โลจิสติกส์' ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี แต่มีผู้เล่นน้อยราย

แรกเริ่มของการทำธุรกิจ เขาตั้งใจจะลงทุนเพียงลำพัง แต่ด้วยทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดอาจไม่สามารถทำไซด์ได้ตามที่ต้องการ เขาจึงเริ่มมองหาพันธมิตรที่มีดีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน ซึ่งตัวเลือกในครานั้น คือ ผู้ประกอบการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

โดยเขาได้นำโมเดลไปเสนอ 2 บริษัท นั่นคือ บริษัท สยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด และบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA แม้ทั้ง 2 บริษัทจะปฎิเสธการเดินรวมทาง แต่ 'ตระกูลพานิชชีวะ' และ 'ตระกูลกรมดิษฐ์' ก็ตัดสินใจลงทุนกับ ATP30 ในนามส่วนตัว

หลัง 'สมหะทัย พานิชชีวะ' น้องสาว 'วิกรม กรมดิษฐ์' เจ้าของ AMATA นำเรื่องไปเสนอต่อทั้งสองตระกูล ปัจจุบันครอบครัวพานิชชีวะ และกรมดิษฐ์ ถือหุ้น ATP30 จำนวน 19.09% และ 15.27% (ตัวเลขหลังขายหุ้นไอพีโอ) ตามลำดับ ซึ่งการนำเสนอแผนธุรกิจในครานั้นได้ทำการนัดผ่านผู้บริหารท่านหนึ่งใน AMATA

แรกเริ่มของการทำธุรกิจพบอุปสรรคเล็กน้อย จากเดิมที่ตั้งใจจะดำเนินการเพียงเป็นผู้บริการรถโดยสารร่วมของเหล่าพันธมิตรเท่านั้น โดยจะไม่ลงทุนซื้อรถมาให้บริการเอง แต่เมื่อดำเนินการไปสักระยะพบว่า รูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้จะทำให้บริษัทไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันยังเกิดการตัดสินใจทับซ้อนด้วย

ปัญหาในครานั้น ทำให้บริษัทตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งโมเดลนี้ทำให้บริษัทเดินทางมาพบกับคำว่า 'ประสบความสำเร็จ' ช่วงนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัทรถยี่ห้อ HINO มานำเสนอขายรถโดยสารที่ใช้วิ่งระยะสั้น 50-60 กม.ต่อเที่ยว ทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ประกอบการเจ้าแรกในประเทศไทยที่ใช้รถยี่ห้อนี้

2 ปี เล็งเพิ่มรถโดยสารบริษัท

ทำไมบริษัทไม่ทำรถโดยสารร่วมบริการประเภทรถตู้เอง? นายใหญ่ ตอบคำถามนี้ว่า ทำแล้วไม่คุ้มค่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักมาจากรถโดยสารของบริษัทมากถึง 70% ซึ่งในอนาคตเราตั้งใจจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ตรงนี้ให้มากขึ้น

โดยภายใน 2 ปีข้างหน้า บริษัทต้องมีสัดส่วนรถโดยสารของบริษัทแตะระดับ 90% ซึ่งการมีรถเป็นของตัวเองจะทำให้เราสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี ขณะเดียวกันในแง่ของอัตรากำไรขั้นต้นยังสามารถทำได้สูงถึง 35% ตรงข้ามกับอัตรากำไรขั้นต้นของรถโดยสารร่วมบริการที่ทำได้เพียง 10% เท่านั้น

'เราคงไม่ออกไปหาลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆเพราะลูกค้าในนิคมฯเดิมก็ยังมีอยู่จำนวนมาก'

การจะมีสัดส่วนรายได้แตะ 90% นั่นหมายความว่า บริษัทต้องมีรถโดยสารของบริษัทเกือบ 200 คัน ซึ่งเรามีลูกค้ารอใช้บริการอยู่ตรงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าเดิมที่มีแผนจะเพิ่มจำนวนเส้นทาง และลูกค้าเดิมที่ยังใช้บริการไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2-3 ราย รวมถึงลูกค้าใหม่ ปัจจุบันกำลังดีลลูกค้าใหม่ 2-3 ราย ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี,นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยลูกค้า 1 ราย มักใช้บริการรถบัสประมาณ 10 คันขึ้นไป

รถโรงเรียน-ท่องเที่ยว-เช่ารายวัน งานใหม่กำไรงาม

'ปิยะ' เล่าต่อว่า เรากำลังสนใจอยากทำ 'รถโรงเรียน' ที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปัจจุบันยังไม่มีรถรับส่งเด็กนักเรียนเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่ผู้ปกครองยังไปรับเอง หรือใช้บริการรถรับส่งของผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาในแง่ของความปลอดภัยยังถือว่า ทำได้ไม่ดี
ฉะนั้นหากกระทรวงศึกษาธิการเคาะเรื่องนี้ เราพร้อมจะโดดเข้าไปร่วมประมูล ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถยนต์หลากหลายยี่ห้อเล็งจะนำรูปแบบรถโรงเรียนไปเสนอต่อทางการ เช่น รถยนต์ยี่ห้อ เดมเลอร์ ผู้ผลิตรถบัสประเทศอินเดีย เป็นต้น

ขณะเดียวกันเรายังสนใจจะเข้าไปทำ 'รถเช่าเหมารายวัน' หลังเคยชิมลางทำให้กับลูกค้าบางราย ซึ่งรถประเภทนี้มีกำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง แต่ข้อเสีย คือ ลูกค้าไม่ได้มีเต็มตลอดปีเหมือนรถที่ให้บริการพนักงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ฉะนั้นคงต้องศึกษารายละเอียดให้ดีหากคิดจะทำจริงๆ

นอกจากนั้นยังเคยมีความคิดอยากทำ 'รถท่องเที่ยว' แต่เมื่อลองไปศึกษาแล้วพบว่า ไม่ค่อยน่าสนใจ เนื่องจากโครงสร้างรายได้ของเรื่องรถท่องเที่ยวบิดเบือนไปเยอะ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะไม่ได้กำไรจากการวิ่งรถ แต่จะทำเงินจากการนำนักท่องเที่ยวไปช้อปปิ้ง ฉะนั้นหากคิดจะทำรถประเภทนี้ เราอาจโดดเข้าไปทำรถทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเรือสำราญที่แหลมฉบังจะได้ไม่ต้องผูกตัดกับการช้อปปิ้ง

ทั้งนี้บริษัทยังสนใจจะทำ 'รถบัสรับส่งผู้โดยสารจากรถสถานีไฟฟ้าปลายทางไปสู่ที่หมายในระยะสั้นๆ' ซึ่งเราได้เคยนำโมเดลนี้ไปเสนอกับผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมแล้ว ฉะนั้นหากทางการเคาะเรื่องนี้ และมีกฎระเบียบชัดเจน เราก็พร้อมเข้าร่วมประมูล เพราะโครงการดังกล่าวจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกมากขึ้น

'เราจะไม่ทำรถประจำทาง เพราะเมื่อ 3 ปีก่อน ธุรกิจนี้ตกอยู่ในช่วงยุคอุตสาหกรรมตะวันตกดิน หรือ Sunset Industry หลังทางการปล่อยรถตู้ออกมาวิ่งทับเส้นทาง และสายการบินต้นทุนต่ำแห่ทำโปรโมชั่นอย่างหนัก ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันอย่างขนส่งสินค้าเราคงไม่ทำเช่นกัน เพราะความรับผิดชอบกับมาร์จิ้นไม่คุ้มค่า' 

ศูนย์ซ่อมบำรุงพร้อมเปิดปี 59

'นายใหญ่' เล่าต่อว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษา 'ธุรกิจซ่อมบำรุงรถบัส' จากเดิมที่ซ่อมเพียงรถบัสของตัวเอง เนื่องจากอู่ที่ซ่อมบำรุงรถขนาดใหญ่ในปัจจุบันเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ขณะที่การเข้ารับบริการตามศูนย์ก็มีราคาแพงมาก ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นช่องว่างทางธุรกิจของเรา ส่วนตัวมองว่า งานดังกล่าวจะสามารถสร้างกำไรขั้นต้นได้สูงถึง 30%

ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่แล้ว 3 แห่ง โดยตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี 1 แห่ง ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ครึ่ง, บางพระ 2 ไร่ และมาบตาพุด จังหวัดระยอง 3 ไร่กว่า โดยแต่ละศูนย์จะมีช่างประจำ 3-4 คน และสามารถปิดจ็อบทั่วไปได้ประมาณ 5-10 จ๊อบ ทั้งนี้เราตั้งใจจะยุบที่ดิน 1 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี เพื่อจะไปหาเช่าที่ดินแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ใจจริงอยากได้ประมาณ 3 ไร่

มีโอกาสปิดดีลนี้ภายในปี 2559 หรือไม่? เขา ตอบว่า หากสามารถปิดดีลการซื้อรถบัสเครื่องยนต์ขนาดไม่ใหญ่ จำนวน 45 ที่นั่ง กับผู้จัดจำหน่ายรถบัสยี่ห้อ YUTONG สัญชาติจีน ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของเมืองจีน ในแง่ของกำลังการผลิต ได้สำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภายใน 6 เดือนแรกของปี 2559 จะเห็นเราเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอย่างเป็นทางการ

สำหรับเงื่อนไขการซื้อรถบัส คือ เขาต้องนำรถบัสที่วิ่งในเมืองไทยกว่า 100 คัน มาใช้บริการในศูนย์ซ่อมบำรุงของเรา ซึ่งทางผู้จำหน่ายก็เห็นด้วย เพราะปัจจุบันเขามีศูนย์บริการเพียงแห่งเดียว และมีทีมวิ่งออกไปซ่อมรถเพียง 2-3 ทีมเท่านั้น ที่ผ่านมาเราได้แนะนำเขาไปว่า ให้เข้ามาตั้งสำนักงานขายในเมืองไทย อย่าขายผ่านโบรกเกอร์เหมือนที่ดำเนินการอยู่ เพราะโอกาสประสบความสำเร็จมีน้อย

ปัจจุบันบริษัทซื้อรถยนต์บัส ยี่ห้อฮีโน่ 80% ที่เหลือเป็นยี่ห้อสแกนเนีย 20% หากปิดดีลนี้สำเร็จพอร์ตการซื้อรถคงต้องกระจายออกไปใน YUTONG จริงๆ เราคุยดีลนี้มาเป็นปีแล้ว แต่เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานที่เมืองจีนก็ทำให้มั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้การเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงคงใช้เงินประมาณ 4-5 ล้านบาทเท่านั้น

บริษัทยังมีแผนจะเปิด 'ศูนย์อบรมและหลักสูตรนักขับ' เราตั้งใจจะนำเสนอโมเดลนี้ตามโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ลูกค้านำโปรแกรมนี้ไปนำเสนอต่อผู้ประกอบการขับรถรับส่งพนักงานที่ลูกค้าจ้างมา ปัจจุบันเรามีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยมาเป็นวิทยากรในเรื่องนี้แล้ว เบื้องต้นอาจใช้เงินทำโครงการนี้ประมาณ 2 ล้านบาท (เงินลงทุนจะนำมาจากการขายหุ้นไอพีโอ)

ปี 59 รายได้โต 30%

'ปิยะ' เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทเติบโตจากธุรกิจหลักเฉลี่ยปีละ 20% แต่หากปี 2559 เรามีรถบัสเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50 คัน รายได้รวมจากธุรกิจเดิมอาจขยายตัวปีละ 30% และถ้าเราเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงได้ตามแผน ผมเชื่อมั่นว่า รายได้จะขยับตัวขึ้นอีก แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะเพิ่มขึ้นในตัวเลขเท่าไร

ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนหลัก 4 ตัว แบ่งเป็น น้ำมันดีเซล 30% ซ่อมบำรุง6-7% เบี้ยประกันภัย 6% ค่าจ้างพนักงานขับรถ 12% ที่ผ่านมาเราสามารถลดต้นทุนได้ 3 ข้อแรก โดยในส่วนของน้ำมันบริษัทจะพยายามไม่ให้คนขับวิ่งนอกเส้นทาง และวิ่งรถเปล่าให้น้อยที่สุด ส่วน เรื่องการซ่อมบำรุง เราจะพัฒนาทีมช่างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะหาอะไหล่ด้วยตัวเอง สำหรับเบี้ยประกันจะพยายามให้เกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด ที่ผ่านมาเบี้ยประกันของเราลดลงทุกปี สะท้อนให้เห็นว่า เราลดอุบัติเหตุได้

เมื่อถามถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เขาตอบว่า เรามองความเสี่ยงออกเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1.ลูกค้าลดกำลังการผลิต หรือปิดโรงงาน หลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 2.ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ซึ่งความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย แม้ลูกค้าบางรายจะได้รับผลกระทบบ้างแล้ว แต่วันนี้ปัญหายังมาไม่ถึงเรา

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้กระจายสัดส่วนลูกค้าออกไปในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ยางรถยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคและบริโภค และเหล็ก สัดส่วน 25.87% 17.83% 17.73% 15.94% 9.75% 7.79% 5.09% ตามลำดับ

เขา ทิ้งท้ายว่า เมื่อต้นปี 2558 เรามองว่า รายได้รวมในปีนี้อาจยืนระดับ 270 ล้านบาท แต่เนื่องจากเราได้ขอให้รถโดยสารร่วมบริการจำนวน 60 คัน ไปขึ้นทะเบียนรถรับจ้างไม่ประจำทางให้เสร็จภายในเดือนส.ค.นี้ ส่งผลให้รายได้หายไป 5-6 ล้านบาท และกำไรลดลง 3 แสนบาท ฉะนั้นรายได้รวมปีนี้จะอยู่ระดับ 265 ล้านบาท แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2557 ที่มีรายได้รวม 235 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้รายได้รวมในปีนี้ขยายตัวมากกว่าปีก่อน เป็นเพราะบริษัทได้เพิ่มจำนวนรถบัสอีก 16 คัน และมีลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ราย นั่นคือ PTTGC และ INOX โดยลูกค้าทั้งสองรายใช้รถบัสประมาณ 10 คัน ขณะเดียวกันบริษัทจะรับรู้รายได้จากการเพิ่มรถจำนวนหนึ่งในช่วงระหว่างปี 2557

'ปีนี้อาจมีกำไรขั้นต้นระดับ 20-25% เทียบกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 18.94% และอาจมีอัตรากำไรสุทธิประมาณ 5% ทั้งนี้อีก 2 ปีข้างหน้า อยากเห็นอัตรากำไรสุทธิแตะระดับ 10% เราเชื่อว่า ทำได้แน่ เพราะทุกปีเรามีแผนจะเพิ่มจำนวนรถบัส 40-50 คัน เทียบกับก่อนหน้านี้ที่สามารถเพิ่มจำนวนรถบัสได้เพียงปีละ 20 คัน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาบริษัทตัดค่าเสื่อมปีละ 10%'