วันที่ ‘นวัตกรรม’ ต้องมาจากรากหญ้า

วันที่ ‘นวัตกรรม’ ต้องมาจากรากหญ้า

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรที่ลุกขึ้นมากำหนดชีวิตตัวเอง เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยไม่หวังการพึ่งพาจากภาครัฐ

น้ำท่วม น้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้ง ให้ฝนแล้ง เสียยังดีกว่า…”

เสียงบทเพลงอันโด่งดังที่มาจากวิทยุของ ศรคีรี ศรีประจวบ ทำให้ กุ้ง หรือ คำพัน สุพรม เกษตรกรสาวแห่งเมืองแปดริ้วอมยิ้มแต่ไม่วายถอนหายใจ ในมือกุ้งถือมีดคมกริบเตรียมตัดกะหล่ำที่ปลูกเคียงข้างแปลงข้าว ส่งขายตลาดนัดสีเขียวใจกลางกรุงเทพฯ

“ถ้ายังรักจะเป็นเกษตรกรเมืองไทยต้องอยู่ให้ได้ ไม่ว่าน้ำจะท่วมหรือฝนจะแล้ง” เป็นคาถาประจำใจของกุ้ง “ดูอย่างปีนี้ บางจังหวัดเพิ่งถูกประกาศเป็นเขตภัยแล้งมาหยกๆ วันนี้กลับมาเจอน้ำท่วมเอาซะแล้ว”

เช่นเดียวกับเกษตรกรจากอีกหลายพื้นที่ กุ้งสังเกตว่าฤดูกาลและสภาพดินฟ้าอากาศเมืองไทยกำลังแปรปรวนมากขึ้นทุกปี ทำให้นึกถึงคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ผ่านทางสื่อเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ความรู้เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศในอดีตของเกษตรกรอาจจะไม่สามารถใช้วางแผนการเพาะปลูกในอนาคตได้อีกต่อไป และจากการศึกษาสภาวะภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอีกหลายสำนัก ระบุตรงกันถึงการเกิดภาวะฝนแปรปรวนและฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดถี่ขึ้นจากนี้ไปจนถึงปลายศตวรรษ

ท่ามกลางการเติบโตของกระแสสโลว์ฟู๊ด คลีนฟู๊ด และอาหารสุขภาพแนวต่างๆ หลายคนอาจยังมองไปไม่เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกล้อง ธัญพืช และผัก ผลไม้คุณภาพสูงต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแนวใหม่ และเบื้องหลังความพยายามในการผลิตอาหารคุณภาพเหล่านี้ให้มาถึงมือผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ คือการประยุกต์ใช้ประสบการณ์บวกกับความรู้ใหม่ๆ ที่เกษตรกรแสวงหามาใช้ในการลองผิดลองถูกปรับตัว ท่ามกลางสิ่งท้าทายใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

ปลูกข้าวทนแล้งนอกห้องวิจัย

แม้งานวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้ง จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่รัฐระบุในแผนรับมืออนาคตอากาศเปลี่ยนแปลงระดับชาติ แต่ผลที่ได้ยังอยู่ห่างไกลจากการนำสู่การใช้ประโยชน์จริงของเกษตรกร เห็นได้ชัดจากในฤดูฝนปีนี้ที่ฝนตกช้าและปริมาณน้อยกว่าปกติ (ข้อมูลจากกรมอุตุฯ ระบุว่าจากเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงทำนา มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเขตภาคเหนือและภาคกลางน้อยที่สุดในรอบ 44 ปี) ชาวนาในหลายจังหวัดที่ปลูกข้าวพันธุ์เดิมๆ และต้องประสบปัญหาต้นข้าวตายจาการขาดน้ำ จนมีการออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจำนวนมาก

ในกรณีของกุ้ง ด้วยความช่างสังเกตและการสรรหาเทคนิคการเพาะปลูกใหม่ๆ เพื่อรับมือภาวะฝนน้อยและทิ้งช่วง ทำให้กุ้งเป็นเสมือนผู้บุกเบิกการปลูกข้าวแนวใหม่ให้ทนแล้งโดยวิธี “นาหยอดแบบไถชักร่อง” ที่เริ่มต้นจากการสังเกตภาวะฝนในปี 2552 และ 2553 ที่เคยเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเช่นเดียวกับในปีนี้ กุ้งได้ลองประยุกต์ใช้หลักการปลูกข้าวที่เคยเห็นตั้งแต่สมัยแม่ทำนาอยู่ที่กาฬสินธุ์ โดยในบริเวณที่เป็นที่สูงหรือที่ดอน แม่และชาวบ้านอื่นๆ จะขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าวไว้ตามชายป่าประมาณช่วงต้นฤดูฝน และแม้หากปีนั้นเป็นปีที่ฝนน้อย ความชื้นในดินก็ยังทำให้เมล็ดข้าวที่ฝังไว้ลึกพอประมาณสามารถงอกและเติบโตได้โดยไม่ต้องการน้ำมาก

ด้วยความที่กุ้งเป็นสมาชิกและประสานงานใกล้ชิดกับ กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำให้กุ้งชักชวนเพื่อนในกลุ่มที่ประสบปัญหาคล้ายกันทดลองวิธีปลูกข้าวหยอดแบบไถชักร่องในปี 2554 ซึ่งการทดลองครั้งนี้นำไปสู่ความสนใจของ มูลนิธิสายใยแผ่นดินที่กำลังทำโครงการเกษตรกรปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพอยู่ในขณะนั้นให้เลือกกลุ่มสนามชัยเขตเป็นพื้นที่ส่งเสริมระหว่างปี 2554-2556

ที่เรียกว่านาหยอดแบบไถชักร่อง คือการปลูกข้าวแบบหยอดในแปลงนา โดยใช้ไม้ไผ่เจาะหลุมตามแนวเชือกที่ขึงไว้ แล้วหยอดเมล็ดข้าวเปลือก โดยเว้นระยะห่างระหว่างร่อง 50 – 100 ซม. ขึ้นกับความใหญ่ของกอข้าวของแต่ละพันธุ์ หนึ่งในสาเหตุที่เหล่าเกษตรกร ในกลุ่มสนามชัยเขตสนใจเทคนิคการทำนาหยอด เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำมากทำให้ทำนาได้โดยปราศจากความเสี่ยงมากในกรณีที่ฝนทิ้งช่วงหรือฝนน้อยในต้นฤดูอย่างเช่นปีนี้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เป็นการปลูกที่ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ได้รากที่แตกกอได้ดีและแข็งแรงกว่าต้นข้าวนาหว่านทั่วไป

“การทำนาหว่านตามปรกติที่ผ่านมา ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้พวกเราเสียหายมากตามไปด้วยในปีที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล” ยุพิน คะเสนา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต กล่าว “และถ้าเราสามารถปรับเทคนิคนี้ให้ใช้แรงงานน้อยลงโดยมีเครื่องจักรทุ่นแรงในการหยอดเมล็ดข้าว ต้นทุนก็จะถูกลง ซึ่งอาจทำให้ชาวนาพื้นที่อื่นๆ สนใจนำการทำนาหยอดแบบไถชักร่องไปปรับใช้แพร่หลายมากขึ้น”

จากการทดลองยังพบว่าเทคนิคนาหยอดนี้ได้ผลดีเป็นพิเศษ

เมื่อใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวนาสามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้เองในท้องถิ่นและยังเป็นข้าวที่ราคาดีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอาหารสุขภาพในเมืองเช่นข้าวหอมนิลและหอมมะลิแดง

“แต่ข้าวบางชนิดเช่น ‘เหลืองปะทิว’ และ ‘ขวัญชัย’ ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับชาวนาเองเพราะกินอยู่ท้อง แต่หุงแล้วไม่นุ่มนวล ตลาดจึงอาจไม่ต้อนรับมาก เราเลยคิดกันว่าจะปรับมาแปรรูปทำอาหารชนิดใหม่ๆ เช่น พาสต้าข้าวกล้อง ตอนนี้ก็กำลังวางแผนติดต่อโรงงานที่สนใจให้เอาข้าวเราไปทดลองสีและผลิต เผื่อจะเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่แพ้หรือไม่ชอบเส้นพาสต้าจากข้าวสาลีโดยเฉพาะในต่างประเทศ” พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน นักส่งเสริมเกษตรที่ทำงานกับกลุ่มสนามชัยเขตกล่าวเสริม

 

ปรับตัวไม่หยุดนิ่งคือกุญแจสำคัญ

วิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้บริหารมูลนิธิสายใยแผ่นดินที่สนับสนุนการปรับตัวด้วยนวัตกรรมของกลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับการที่โครงการเริ่มต้นจากตัวเกษตรกรเองโดยนำความรู้ดั้งเดิมมาปรับใช้กับพื้นที่และเทคโนโลยีเพาะปลูกสมัยใหม่่

“ที่สำคัญมากกว่าการทำนาหยอดแบบไถชักร่องแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ คือการที่ี่ชาวบ้านคิดทำเรื่องขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องรอให้รัฐมาบอกให้ทำหรือช่วยเหลือ รัฐบาลมีแผนรับมือภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้นำสู่การปฏิบัติ และไม่รู้ว่าเมื่อปฏิบัติแล้วจะตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้จริงหรือไม่ ดังนั้น การที่เกษตรกรคิดเองและลงมือเอง ทำให้เขาได้เรียนรู้ และไม่หยุดนิ่งอยู่แค่นี้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ การปรับตัวกับสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำเรื่องเดียวครั้งเดียวจบ เพราะเราไม่รู้เลยว่าฤดูกาลในอนาคตของบ้านเราจะเปลี่ยนไปในทางไหนบ้าง ฉะนั้น การลองผิดลองถูกอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้มีเกษตรกรภูมิคุ้มกันหลากหลายไม่ว่าธรรมชาติจะมาไม้ไหน”

อีกหนึ่งในอีกภูมิคุ้มกันที่มูลนิธิเน้น ก็คือการปลูกพืชอาหารหลายชนิดบนที่ดินเพื่อให้ตัวเกษตรกรมีอาหารกินเองและมีผลผลิตทดแทนทำรายได้ในกรณีข้าวหรือพืชหลักที่ปลูกสำหรับป้อนตลาดเกิดความเสียหาย

ในกรณีของกุ้ง จากการสังเกตว่าฝนที่ตกช้าอาจทำให้ปีนี้แล้งยาวทำให้กุ้งหันทิศทางมาเน้นการปลูกผัก เช่น ถั่วฝักยาว ผักบุ้งและคะน้าที่สามารถใช้น้ำในบ่อสำรองที่มีอยู่ และแบ่งพื้นที่ทำนาหยอดแบบไถชักร่องเพียงบางส่วนเพื่อให้ได้ข้าวพอที่จะเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์เป็นหลักสำหรับทำนาปีต่อไป

การเก็บเมล็ดพันธุ์จากพืชที่ให้ผลผลิตและลักษณะดี ถือเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับสมาชิกกลุ่มฯ เพราะเมล็ดพันธุ์ถือเป็นเรื่องของหลักประกันในอนาคต “การที่เรามีความมั่นคงทางเมล็ดพันธุ์เอง ยังช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรกลุ่มอื่นได้ด้วย อย่างเช่นหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เราก็ส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไปช่วยชาวนาที่ผลผลิตเสียหายทั้งหมดจากนาจมน้ำ” พลูเพ็ชร ผู้ทำหน้าที่ที่ปรึกษากลุ่มฯ เล่าย้อนเหตุการณ์ครั้งนั้น

 

พันธุ์พืชพาสู่อนาคต

เมื่อพูดถึงความสูญเสียแหล่งพันธุกรรมที่เป็นแหล่งอาชีพจากภัยพิบัติที่ตนเองไม่ได้ก่อ คงมีไม่กี่คนที่รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดได้ดีเท่ากับชาวสวนส้มโอนครชัยศรีเมื่อคราวมหาอุทกภัยปลายปี 2554

“ส้มโอที่ขายเป็นเทน้ำเทท่ากันอยู่ในนครชัยศรีเวลานี้ ส่วนมากมาจากชัยนาท ราชบุรี และที่อื่นๆ ส้มพันธุ์นครชัยศรีแท้ๆ เหลือเพียงไม่กี่ร้านที่คนพื้นที่เองเขาจะรู้กัน” ชุติมา น้อยนารถ สมาชิกก่อตั้ง กลุ่มเกษตรยั่งยืนคลองจินดา จากอำเภอสามพราน จ.นครปฐม เปิดเผย

ชุติมาเป็นหนึ่งในทีมงานเครือข่ายเกษตรกอบกู้กิ่งพันธุ์ส้มโอหลังน้ำท่วมอำเภอนครชัยศรีเข้าขั้นวิกฤต และมีต้นส้มจมน้ำตายเป็นพื้นที่กว้าง แต่กิ่งพันธุ์ที่กู้ได้ในครั้งนั้น มีเพียงน้อยนิดและเมื่อมาขยายพันธุ์ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของชาวสวนส้มที่ต้องการกิ่งพันธุ์เพื่อปลูกใหม่หลังน้ำลด ทำให้กิ่งที่หาได้มีราคาแพง ข้อมูลจากจังหวัดนครปฐมระบุว่าชาวสวนหลายคนถึงกับหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน เพราะสู้ต้นทุนปลูกส้มไม่ไหว

แต่สำหรับกลุ่มเกษตรยั่งยืนคลองจินดาของชุติมา เหตุการณ์ครั้งนี้กลับเป็น การตอกย้ำที่สำคัญว่าโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่ทางกลุ่มคิดไว้เมื่อหนึ่งปีก่อนน้ำท่วมเป็นการเดินมาถูกทางแล้ว โดยหลังจากกลุ่มคลองจินดาเข้าร่วมการอบรมเตรียมรับมือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงจากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน สมาชิกในกลุ่มได้คิดถึงความยั่งยืนของอาชีพโดยการเก็บรักษาแหล่งพันธุกรรมพืชที่ทำรายได้ที่ใช้ความสามารถและความเข้าใจธรรมชาติปรับปรุงผลผลิตและรสชาดกันมาหลายชั่วอายุคน

อำเภอสามพราน โดยเฉพาะตำบลคลองจินดา เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่คนกรุงเทพฯ และผู้ส่งออกผลไม้รู้จักกันดี เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่เพชรสามพราน ฝรั่งพันธุ์ดีชนิดต่างๆ ตลอดจนผักและไม้ดอกไม้ประดับหลายสายพันธุ์

“ตอนที่องุ่นไวน์มะละกาเข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ คลองจินดาก็เป็นแหล่งปลูกที่ได้ผลดีจากฝีมือทำสวนของคนรุ่นพ่อแม่ ตอนนั้นได้ราคากิโลเป็นร้อย แพงขนาดไหนลองเทียบดูกับทองคำตอนนั้นบาทละ 400 คิดดู” ชุติมาเล่าย้อนอดีต

“ตอนนั้นสรุปกันว่าเราทุกคนต่างก็มีรากเป็นคนทำเกษตร ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติยังไง ถ้าผ่านพ้นมาได้ก็ต้องตั้งหลักชีวิตด้วยการปลูกผักผลไม้เลี้ยงตัวกันต่อไป พันธุ์พืชก็เลยเป็นปัจจัยสำคัญในการกู้บ้านกู้อาชีพของเรา”

การจัดตั้งธนาคารพันธุ์พืชเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศที่คำนึงด้านความมั่นคงทางอาหารให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคสภาวะอากาศไม่มีความแน่นอนอย่างในปัจจุบัน ประเทศไทยมีธนาคารพันธุ์พืชที่จัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสถาบันวิจัยบางแห่ง แต่ชุติมามองว่าแหล่งเหล่านี้ยากที่เกษตรกรรายย่อยอย่างกลุ่มของเธอจะเข้าถึง นอกจากนี้ เกษตรกรยังไม่มั่นใจที่จะนำพันธุ์พืชที่ออกตรงจากห้องเย็นมาลงทุนลงแรงปลูกเพราะตนเองไม่เคยเห็นรูปร่างลักษณะผลผลิตและชิมรสชาดของผักผลไม้เหล่านี้มาก่อน

“การมีธนาคารที่เกษตรกรเลือกเองได้ว่าจะเก็บอะไรและอย่างไร พร้อมทั้งองค์ความรู้ในการปลูกที่สั่งสมจากประสบการณ์ตรงของชุมชนเองน่าจะเหมาะสมกับการใช้งานของเรามากที่สุด ที่สำคัญคือ เราต้องการธนาคารพันธุ์พืชที่มีชีวิต คือมีการเอาเมล็ดพันธุ์ออกมาหมุนเวียนปลูกจริงทุกปี ทำให้ไม่ต้องเก็บในห้องเย็นที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ วิธีนี้ทำให้พวกเราทำกันเองโดยไม่ต้องลงทุนสูงมาก” ชุติมาเล่าความคิดเบื้องหลังการจัดตั้งธนาคารพันธุ์พืชชุมชนคลองจินดาซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมเมล็ดพันธุ์

นอกจากนี้ อุบล ศรีรัตนพิทักษ์ เกษตรกรสมาชิกกลุ่มให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สวนผักและผลไม้ปลอดสารเคมีของครอบครัวเธอก็เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบของธนาคารพันธุ์พืชของชุมชน กล่าวคือพืชหลักทุกอย่างในพื้นที่สวนประมาณ 12 ไร่สามารถเป็นแหล่งขยายพันธุกรรมเพื่อเก็บไว้ปลูกในอนาคตพร้อมแบ่งปันให้เพื่อนสมาชิกในและนอกชุมชน

“ตอนนี้เราก็ตอนกิ่งพริกจินดาที่ให้ผลดี โดยไม่ต้องใส่สารเคมี มะนาวที่น้ำดีและลูกดกไปฝากปลูกไว้ทั้งที่สวนในและนอกพื้นที่ ในอนาคตเผื่อสวนเราเกิดความเสียหายจากเหตุที่ไม่คาดคิด เราจะได้ไปขอพันธุ์ของเรากลับมาปลูกได้ใหม่ หลายสวนที่นี่ก็ทำแบบเดียวกัน”

ยิ่งไปกว่านั้นหลายสวนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ ยังสามารถสร้างธุรกิจใหม่ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายกิ่งและเมล็ดพันธุ์

“สิ่งนี้อาจเกิดเป็นทางเลือกทางรอดใหม่ของชาวสวนคลองจินดา หากในอนาคตพื้นที่บ้านเราประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นจากสภาพอากาศหรือคุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการรุกคืบของเมืองและอุตสาหกรรม การขายกิ่งพันธุ์ให้คนที่อื่นปลูกอาจเป็นแหล่งทดแทนรายได้ของคนคลองจินดา”ชุติมาพูดถึงอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง ที่เห็นได้ชัดยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงของอากาศ คือแนวโน้มการขยายเมืองแบบไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชอาหารถูกคุกคามมากขึ้นทุกปี