สร้างชาติด้วยศิลปะ

สร้างชาติด้วยศิลปะ

บทเรียนล้ำค่า ในการสร้างผลงานศิลปะให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ GDP อาศัยผ้าใบ สี และพู่กัน แต่สร้างมูลค่าได้ยิ่งกว่าทอง ยิ่งกว่าเพชร

“ปากท้องมาก่อน ศิลปะมาทีหลัง” คำนี้อาจจะใช้ไม่ได้กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของ “ศิลปะ” กับ “เศรษฐกิจ” สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้

คุยกับ ศุภวัตร ทองละมุล ศิลปินร่วมสมัย ที่นอกจากจะศึกษา ฝึกฝนการสร้างสรรค์งานศิลปะจากรากฐานภูมิปัญญาไทย ยังได้ติดตามพัฒนาการทางศิลปะร่วมสมัยของจีน ที่ก้าวหน้าจากรากฐานของประวัติศาสตร์ การเมืองและวัฒนธรรม ไปจนถึงการนำศิลปะมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางเศรษกิจของประเทศได้อย่างน่าสนใจ

 

เริ่มต้นสนใจศิลปะได้อย่างไร

เกิดที่สุรินทร์ แล้วก็มาโตที่ศรีสะเกษ คุณพ่อรับราชการครู คุณแม่เป็นแม่บ้าน มีพี่น้อง 4 คน ตอนเด็กโชคดีคือว่าเวลาพ่อไปโรงเรียนก็จะเอาลูกชายไปด้วย ห้องสมุดที่โรงเรียนก็มีหนังสือเยอะมาก แล้วก็ชอบวาดรูป แล้วพ่อเป็นคนที่พิเศษก็คือนอกจากสอนหนังสือแล้วก็เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ วาดรูป แล้วก็เล่นดนตรี โดยเฉพาะคลาริเน็ตเป่าเก่งมาก เราก็ชอบแบบนี้

เด็กๆ เราก็ฝึกวาดรูปไปเรื่อยๆ ขอตังค์แม่ 5 บาทซื้อสมุดวาดเขียนมาวาดเล่น เด็กๆ ไม่มีหนังสืออาร์ตหรอก เราอยู่บ้านนอกนี่ ก็ชอบดูโปสเตอร์หนังเพราะสีสันมันสวยดี แล้วก็ชอบดูภาพพุทธประวัติที่เขาติดตามวัด ตามศาลาการเปรียญ โตขึ้นถึงได้รู้ว่าเป็นฝีมือของครูเหม เวชกร แล้วก็ของพระเทวาภินิมมิต (ศิลปินเอกของไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7) ชอบ 2 ท่านนี้มาตั้งแต่เด็ก

พอโตเริ่มฝึกทักษะฝีมือวาดเขียน พ่อแม่ก็สนับสนุนนะ สนับสนุนให้ลูกชายเรียนศิลปะ ก็ไปเรียนที่อาชีวะอุบลฯ โชคดีว่าที่นี่ค่อนข้างจะเข้มงวดในการมอบหมายงาน ติดตามงาน โดยเฉพาะอาจารย์จุฑา ขำเปรมศรี เป็นคนที่เข้มงวดมาก ติดตามงานลูกศิษย์ แล้วก็อธิบายเรื่องทักษะฝีมือในการสร้างงานศิลปะอย่างลึกซึ้งเลยทีเดียว

จบจากอาชีวะอุบลฯ ก็มาต่อที่ศิลปกรรม จุฬาฯ พอจบปุ๊บเราก็มีความตั้งใจว่า ในเมื่อเราเรียนศิลปะมา เหมือนกับเราปลูกต้นไม้มาในระดับหนึ่งแล้วเนี่ย มันน่าจะจริงจังในการที่จะทำงานศิลปะ พอจบมาก็ตั้งใจเลยว่าจะทำงานศิลปะ การทำงานศิลปะของผมไม่ใช่ความบังเอิญ คือตั้งใจเลยว่า เรียนจบปุ๊บคือทำงานศิลปะเลย

 

มาสนใจศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อ หรือเรื่องราวไทยๆ ได้อย่างไร

พอเริ่มทำงานศิลปะจริงจังก็มีคำถามเยอะ แล้วศิลปะแบบไหนที่จะทำให้ชีวิตกับการทำงานศิลปะมันสมดุลกัน พอตั้งคำถามก็ลงมือปฏิบัติ อย่างเช่นว่าเราสนใจเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี หรือเรื่องหมู่บ้านภาคเหนือ เพราะว่าช่วงนั้นไปอยู่เชียงใหม่ เราก็ตั้งโจทย์แบบนี้แล้วก็พยายามที่จะลงรายละเอียดก็คือพยายามสร้างสรรค์งานที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน ก็เริ่มจากตรงนี้ก่อน เพราะว่าตอนที่เรียนจุฬาฯ เราก็สนใจพวก Modern Art เยอะแล้ว คิดว่าพอแล้ว

 

ต่อมาก็หันมาสนใจศิลปะร่วมสมัยของจีนด้วย ?

ทำงานศิลปะไปได้ระยะหนึ่ง มันก็อยู่ได้ในระดับหนึ่ง พอแสดงเดี่ยวมา 8 - 9 ครั้ง มันก็มีคำถามกับตัวเองอีก เราเพิ่งทราบว่าประเทศไทยทั้งหมดเนี่ยใช้หลักสูตร Modern Art ซึ่งเรื่องของทฤษฎีมันสามารถที่จะเรียนรู้ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่บาลานซ์ คือมันไม่บาลานซ์กับชีวิตกับสังคมที่เราเป็นอยู่ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าสถานที่ บุคคล เวลามันต้องสัมพันธ์กัน ที่นี้พอไม่สัมพันธ์กันก็เกิดความขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงกับอุดมคติทางศิลปะที่มันไม่สมดุลกัน

บ้านเรามองว่าให้ทำงานให้เป็นศิลปะก่อนแล้วจึงประเมินราคาได้ คือคนที่เก่งต้องมีงานที่ดี งานโดดเด่น พอผลงานดี ผลงานโดดเด่น แล้วจึงประเมินค่าเป็นราคาได้ อันนี้มองโดยทั่วไป แต่จีนเค้ามองเรื่องทักษะก่อน ฝึกเรื่องทักษะก่อน คือเค้ามองว่าถ้าคุณฝึกทักษะจนเก่งแล้วเนี่ย มันก็เป็นเหตุผลที่แย้งไม่ได้ว่า เมื่อคนเขียนรูปเก่งแล้วมันต้องสร้างศิลปะได้ ขณะที่ของเรามองว่าเขียนรูปไม่เก่งไม่เป็นไร แต่หากระบวนการเพื่อเข้าไปสู่งานศิลปะ เป็นลักษณะที่ตรงข้ามกันเลย อันนี้เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างจะหนักอยู่เหมือนกันถ้ายืนบนพื้นฐานของประเทศไทย

โดยประวัติศาสตร์ศิลปะ เราเรียนจากยุโรป แล้วก็จบที่อเมริกา มาจบที่ศิลปะศตวรรษที่ 20-21 ซึ่งส่วนใหญ่กระแสมันจะไปที่อเมริกา แต่เรามองอเมริกาแบบด้านเดียว คือเราไม่มองว่าอเมริกาเนี่ยเค้าสร้างสรรค์งานทางระบบอะคาเดมีกับโมเดิร์น อาร์ต คู่กัน แต่เราไปให้ความสนใจด้านเดียวคือด้านโมเดิร์น อาร์ต

เมื่อเราไม่มีนโยบายสนับสนุนการทำงานศิลปะให้ประกอบอาชีพได้ เราก็จะมองศิลปะเป็นอุดมคติ สุดท้ายก็ไส้แห้ง สุดท้ายนักเรียนศิลปะก็ต้องไปทำงานอย่างอื่นเพื่อเอาเงินมาสร้างสรรค์งานศิลปะ นักเรียนศิลปะจบไป 100 คน ทำได้อย่างเก่งไม่ถึง 5 คน ที่เหลือ 95 คนไปไหน ก็ต้องไปทำอย่างอื่นเพราะมันอยู่ไม่ได้ สถาบันศิลปะบ้านเรามองเรื่องอุดมคติมากไป คิดเรื่องการผลิตศิลปินชั้นเยี่ยมจนลืมการเลี้ยงชีพด้วยงานศิลปะ

ทีนี้ข้อมูลข่าวสารในยุคนี้มันเยอะมาก ก็สนใจศิลปะจีนขึ้นมา ย้อนกลับไปมองว่าจีนเค้าใช้วิธีไหน เน้นจีนเพราะว่าจีนเค้ามีนโยบายของชาติที่ชัดเจนในเรื่องศิลปะที่เน้นเรื่องการฝึกทักษะ

 

ที่น่าสนใจคือจีนทำเรื่องศิลปะกับเศรษฐกิจให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ ?

จีนเนี่ยผลิตงานศิลปะเพื่อขาย เราอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่า จีนเนี่ยใช้ราคางานศิลปะมาคิดเป็น GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่คิดจะทำ แต่จีนทำ เอามูลค่างานศิลปะมาคิดเป็น GDP เทียบกับมูลค่าสิ่งทอ เหล็กกล้า เหตุผลคือเขามองว่าศิลปะนี่มีแค่ผ้าใบ สี พู่กัน แต่มันสร้างมูลค่าได้ยิ่งกว่าทอง ยิ่งกว่าเพชร

 

เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงก็มีนักศึกษาจีนไปเรียนที่ยุโรป คนเหล่านี้พอกลับมาก็มาช่วยให้จีนพัฒนาโดยใช้งานศิลปะ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมเค้ามองว่าศิลปะกับการพัฒนาประเทศมันไปด้วยกันได้ อันนี้น่าสนใจ ไม่เหมือนของเราที่มองแยกกัน พอจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ.1949 ก็มีนโยบายเลยว่าให้ศิลปะ การเมือง ประชาชน ไปด้วยกัน คือให้ศิลปะกับชาติไปด้วยกัน

แล้วเค้าฉลาดค้าขายด้วย ถ้าผู้นำเข้าใจทุกอย่างมันก็ค้าขายได้ เพราะฉะนั้นคำว่าท้องอิ่มก่อน ศิลปะค่อยมาทีหลัง ใช้กับจีนไม่ได้ ขนาดเหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล ถูกไล่ล่าช่วง Long March ที่หนีออกจากเมืองแล้วไปอยู่ที่มณฑลซานซี ก็ยังไปตั้งโรงเรียนเพื่อเทรนคนมาทำงานศิลปะ ซึ่งมันน่าทึ่งมาก ไม่มีที่ไหนในโลก

ช่วงที่ประกาศความเป็นสาธารณรัฐแล้ว เขาก็ส่งศิลปินจีนไปวาดภาพตามที่ต่างๆ เช่น สิบสองปันนา ธิเบต ซินเจียง มองโกเลีย แล้วงานที่สำคัญๆ รัฐบาลเป็นคนสะสมแล้วก็พิมพ์หนังสือให้ ส่วนงานศิลปินจีนรุ่นใหม่ก็มีการส่งไปแสดงตามหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ผ่านการจัดการของสมาคมศิลปินแห่งชาติจีน

คือเขามองเห็นว่าศิลปะมันพัฒนาพร้อมกับการเติบโต วิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปด้วยกันได้

คือมองศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้ ?

ดูอย่างงานของโมเนต์ (Claude Monet จิตรกรคนสำคัญของประเทศฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 หนึ่งในผู้ริเริ่มศิลปะอิมเพรสชันนิสม์) ประเทศฝรั่งเศสก็ขายกินได้ไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นการลงทุนที่ง่าย คุ้มค่า แล้วมันไม่ต้องรอว่าแดดร้อนฝนตกน้ำท่วม นักท่องเที่ยวไปก็ดูได้ตลอด

ในต่างประเทศผลงานชิ้นที่สำคัญๆ ของศิลปินถือว่าเป็นสมบัติของชาติ แต่งานสำคัญของเราไปอยู่กับเอกชน เป็นงานสะสมของเอกชนไป เราไม่ได้มองงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ ว่ารัฐบาลควรจะเก็บมั้ย บ้านเรากำลังจะเข้าอาเซียนควรจะทำตรงนี้อย่างมากเลย

 

เมื่อจีนมองว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ เขาทำอย่างไรในการสนับสนุนศิลปิน

ก็ทำผ่านสมาคมศิลปินแห่งชาติจีนที่ตั้งมาตั้งแต่ 1949 ตั้งพร้อมกับการประกาศเป็นสาธารณรัฐ เค้ามองว่าศิลปะมันคู่กันมากับความเป็นชาติ เค้าก็เอาศิลปินทั้งหลายมารวมกัน พัฒนาไปด้วยกัน พยายามที่จะสร้างงานอยู่บนพื้นฐานของ Socialism Realism คืองานศิลปะแบบเพื่อชีวิตน่ะ ซึ่งเค้าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือภาพของทหาร กรรมาชีพ แล้วก็ชาวนา ภาพชาวนาก็จะไปกับเรื่องวัฒนธรรม คนเลี้ยงมา เลี้ยงแกะ คนทอผ้า กรรมาชีพก็จะเป็นพวกภาพสร้างตึก ทหารก็จะเป็นภาพของทหารที่ต่อสู้อดทนเพื่อป้องกันชาติ จะกำหนด 3 หัวข้อนี้เป็นหลัก ศิลปินก็เหมือนจะมีคอนเซปต์ที่จะมุ่งไปเรื่องเดียวกัน เมื่อคุณพูดเรื่องเดียวกัน รายละเอียดมันจะเยอะ แล้วมันจะมีพลังมากกว่า ศิลปกรรมแห่งชาติของจีนก็จะมีภาพแบบนี้ ทหาร ชาวนา กรรมาชีพ ธีมแบบนี้ เขาก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ

โอเค...เราอาจจะมองว่าเผด็จการ แต่เมื่อมีทางให้เดินแล้วทุกคนยอมรับ ทุกคนทำกัน มันก็จะง่ายกว่ามั้ย พอทุกคนมองเรื่องเดียวกัน แน่นอนที่สุด มันก็จะมีพลังมากกว่าที่จะอิสระ อะไรที่มันรวมกันมันจะง่าย ทุกคนพูดเรื่องเดียวกัน คิดคล้ายกัน แล้วก็มุ่งไปสู่เรื่องเดียวกัน มันจะมองเห็นงานที่เปรียบเทียบและพัฒนาไปได้ง่ายกว่ามั้ย อันนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

 

เรื่องความเป็นจีนในงานศิลปะยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน ?

ก่อนหน้า 1949 ก็มีแล้ว แต่พอประกาศความเป็นสาธารณรัฐแล้วมันชัดเจน มีบางคนไม่เห็นด้วยก็เป็นส่วนน้อย ใครเห็นด้วยก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จากสมาคมศิลปินจีน อีกอย่างที่เขาพัฒนาได้มากขึ้นเพราะมีสมาคมวิจัยเทคนิค เช่น พวกสีน้ำมัน หมึกจีน สีน้ำ เราจะเห็นชัดเลยว่างานศิลปะของจีนพัฒนาเพราะเทคนิคมันหลากหลาย มีผลงานขนาดใหญ่ 30-50 เมตร ซึ่งการจะทำงานใหญ่ๆ แบบนั้น ต้องมีพื้นฐานการจัดการที่ดีมากๆ ของเขามีระบบการเรียนอะคาเดมีที่ดี ซึ่งของเราไม่มี เราเรียนว่ากระโหลกเป็นอย่างนี้ กล้ามเนื้อเป็นอย่างนี้ แล้วจบ

 

ตรงนี้สืบทอดมาถึงศิลปินรุ่นใหม่ด้วย ?

อย่าง ไช่กว๋อเฉียง ก็เป็นศิลปิน Installation (ศิลปะจัดวาง) ที่ดังมาก ก็ใช้แนวคิดที่เหมาเจ๋อตงเคยกล่าวว่า ให้ใช้ส่วนดีของตะวันตกมารับใช้จีน ใช้อดีตมารับใช้ปัจจุบัน เขาก็ทำงานโดยเอาเรื่องขงเบ้งยืมลูกเกาทัณฑ์จากสามก๊กมาทำเป็นงานศิลปะ ทำเป็นเรือฟางแขวนอยู่แล้วมีธนูปัก นี่คือคอนเซปต์ที่มันถูกสร้างขึ้นมา

ช่วงหลังมีการตั้ง China Realism ขึ้นมา ก่อนหน้านี้แน่นอนว่าเป็น Socialism Realism หรือศิลปะแนวเพื่อชีวิต แต่เมื่อจีนมีการเปิดประเทศแล้วรูปแบบชีวิตเปลี่ยนไป China Realism ก็เอาศิลปะรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มารวมกัน มีอยู่ 30 คน แต่ละคนงานไม่ธรรมดา ราคาก็ไม่ธรรมดา ใช้ความเรียบง่ายทำให้มีคุณค่า คุณค่าทำให้มีราคา

จีนก็พัฒนารูปแบบงานศิลปะมาตั้งแต่ศิลปะเพื่อชีวิต หลังการเปิดประเทศก็มีศิลปินที่หลากหลาย แต่จุดยุทธศาสตร์ศิลปะก็ยังไม่เปลี่ยนนะ ก็ยังมีชาวนา กรรมาชีพ ทหาร ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มีศิลปินใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมเข้ามา ศิลปินระดับบรมครูอย่างจินจางอี้ ก็ยังอยู่ ทำงานจิตรกรรมภาพเหมือน เขียนตั้งแต่เหมายังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ก็ยังอยู่เป็นเสาหลักของงานจิตรกรรมจีน ในหน้าประวัติศาสตร์เขาเชื่อมกันได้

คนที่สะสมงานของศิลปินจีนเป็นใคร

ส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์เป็นผู้สะสม งานสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อชีวิต โดยเฉพาะงานในช่วงที่เหมาเจ๋อตงยังมีชีวิตอยู่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกต้องการมาก เพราะถือว่าเป็นสกุลหรือรูปแบบทางศิลปะที่เด่นชัด

ในช่วงทศวรรษ 50-60 ทุกคนแสวงหาความเป็นโมเดิร์น แต่จีนบอกไม่เอาโมเดิร์น ฉันจะเขียนศิลปะเพื่อชีวิต เขียนเหมาเจ๋อตง เขียนเรื่องการต่อสู้ เขียนลองมาร์ช เขียนเหมาเจ๋อตงไปเยี่ยมราษฎร เขียนเหมาเจ๋อตงไปเยี่ยมค่ายทหาร ทีนี้ไม่ได้เขียนคนเดียวนี่ เขียนกันเป็นร้อยๆ คน ก็เกิดเป็นสกุลช่างขึ้นมา ซึ่งต่างจากพวกที่แสวงหาความเป็นอิสระ คอมมิวนิสต์จะมองว่าอะไรก็ได้ที่คนมีส่วนร่วม นี่คือแรงงานของเรา ทหารของเรา เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว อย่างเราขับรถไปนี่ก็มีคนสร้างถนนให้เรา ทำไมเราไม่วาดรูปคนเหล่านั้นล่ะ ก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ

งานที่เห็นบ่อย จะเป็นงาน Hyper Realism ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ China Realism เช่น เหมาอัน งานของเหมาอันเป็นงานเขียนเนี้ยบมาก เขียนนุ่มเกิน เนี้ยบเกิน หรืองานของ เลิ่งจุน เขียนไฮเปอร์เรียลลิสม์ พวกนี้ต้องเข้าใจเทคนิคอย่างมาก ต้องมีการฝึกทักษะ

 

แต่ศิลปินที่ทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ก็มี ?

ศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ก็มีบ้าง แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการวิพากษ์วิจารณ์คือการที่รัฐเปิดช่องให้ด่า อย่าง ไอ่เว่ยเว่ย (Ai Wei Wei ศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมจีน) ก็เปิดให้ด่า แต่ให้ด่าได้คนเดียวนะ นอกจากไอ่เว่ยเว่ยก็ไม่เห็นมีคนอื่น นี่แสดงว่าเป็นกระบวนการที่สร้างศิลปิน เพราะยิ่งด่างานยิ่งแพง แต่ให้ด่าได้คนเดียว แสดงว่ามันถูกเปิดช่องเอาไว้ เหมือนกาต้มน้ำต้องเปิดช่องเอาไว้ไม่ให้มันระเบิด แค่นั้นเอง แต่ก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบ Pop Art ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์แบบต้องการการเปลี่ยนแปลงจริงจัง คันๆ ขำๆ แค่นั้นเอง ทุกอย่างก็ยังเป็นระบบที่อยู่ในการดำเนินการของรัฐบาลกับสมาคมศิลปินจีน

 

กลับมาดูบ้านเราเหมือนข้ามคลาสสิค อาร์ต ไปมุ่งที่โมเดิร์น อาร์ต ?

งานอะคาเดมีมันไปในแนวทางเดียวกับคลาสสิค อาร์ต คือเขียนให้เหมือนจริง แต่ถ้าเรามองแบบโมเดิร์น อาร์ต เนี่ยงานอะคาเดมีมันกลายเป็นการ copy สิ่งที่ปรากฏใกล้เคียงเกินไป เหมือนเกินไป ไม่เป็นศิลปะ งานที่เรียบง่ายคนไปมองว่าไม่ใช่โมเดิร์น อาร์ต

คือเราใช้วิธีการของโมเดิร์น อาร์ต มาตัดสินคลาสสิค อาร์ต มันเลยขัดแย้งกัน พอเขียนภาพเหมือนจริงเราบอกว่าเป็นงาน skill งานทักษะธรรมดา แต่ทำไมงาน China Realism ของหวางอี้ตง ขนาดแค่ 80 คูณ 100 เซ็นติเมตร ขายได้ 5 ล้านฮ่องกงดอลลาร์ในตลาดการประมูล

เราอยู่บ้านนอก เห็นวัวควายในทุ่งนาสวยๆ แต่เราไม่สามารถจะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะมันไม่โมเดิร์น ก็เลยคิดว่ามันไม่เป็นศิลปะ ก็ย้อนกลับไปที่ว่าเราฝึกแบบไหน เราเข้าใจแค่ไหน ถ้าเรามองให้เห็นว่างานแบบอะคาเดมีทั่วโลกสนใจแล้วก็สร้างเป็นมูลค่าได้เราจะยอมรับไหม แล้วเราจะมีแนวทางแบบไหนให้คนในชาติมีหลักสูตรแบบนี้ เพื่อที่จะมองในสิ่งที่จะสร้างเป็นงานศิลปะได้โดยไม่ต้องไปอิสระมากเกินไป ถ้ามองแบบนี้ศิลปะกับการหาเลี้ยงชีวิตมันก็สมดุล คนเสพก็เอื้อมถึง มีทั้งคุณค่า ราคา สนใจในสิ่งที่ใกล้ตัวและทำได้ง่าย

 

กลายเป็นว่าความเป็นชาติคือจุดขาย ?

ที่น่าสนใจคือความเป็นชาติ เมื่อพูดถึงการขายงานศิลปะ ความเป็นชาตินี่ชัดเจนมาก เพราะในประเทศที่มองความเป็นอิสระ ความเป็นสมัยใหม่ มันหาความเป็นชาติไม่ได้ ทีนี้พอโลกมันแคบเข้าด้วยการสื่อสาร เราเจอกันก็ต้องถามว่าคุณมาจากประเทศไหนแล้วประเทศคุณมีอะไร พอมาถึงจุดนี้ความเป็นชาติมันขายได้ ซึ่งเราก็มี แต่เราพยายามปฏิเสธหรือเปล่า สุดท้ายเราก็ไม่เจอตัวเองเพราะเราคิดไกลเกินไป หาอะไรที่ไกลตัว สุดท้ายก็ล้า แล้วก็เลิก

เราไม่รู้ว่าจะเข้าถึงความเป็นชาติได้อย่างไร เพราะเราถูกสร้างมาว่าจะต้องโมเดิร์น แล้วจะโมเดิร์นอย่างไร ไม่รู้ คุณต้องไปหาเอง จบเลยครับ.