เหนือฟ้ากินซ่า

เหนือฟ้ากินซ่า

ตอนนี้คนไทยบินไปเที่ยวญี่ปุ่นเหมือนไปเชียงใหม่หรือภูเก็ต

หลังจากญี่ปุ่นยกเว้นไม่ให้พวกเราต้องใช้วีซ่าเข้าประเทศอีกต่อไป ธุรกิจท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเองปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรองรับนักเที่ยวจากไทย ป้ายถนนหนทาง ชื่อสินค้าและข้อมูลการท่องเที่ยวก็มีภาษาไทยกำกับเพื่ออำนวยความสะดวกเพราะญี่ปุ่นเองก็ต้องการรายได้จากนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน


นักชอปปิงไทยรู้จักย่านกินซ่าในกรุงโตเกียวเป็นอย่างดีและย่อมไม่พลาดไปละลายทรัพย์ที่ย่านนี้ กินซ่าเป็นย่านชอปปิงชื่อดังของญี่ปุ่นและของโลก เต็มไปด้วยเสน่ห์ของการผสมผสานระหว่างความล้ำสมัยกับประเพณีอันเก่าแก่งดงามไว้ได้อย่างลงตัว ที่นี่มีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าแบรนด์ดังระดับโลกปะปนไปกับร้านค้าอันเก่าแก่เรียงรายเต็มสองข้างถนน นอกจากนี้ ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสความงดงามของโลกแห่งศิลปะเพราะที่นี่มีโรงละครและแกลลอรีกว่า 200 แห่ง รวมทั้งคาบุกิซ่า


เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าของร้านค้าและผู้ทำธุรกิจในย่านกินซ่ารวมตัวกันร้องเรียนต่อต้านโครงการของเดอะเพนนินซูล่า โตเกียวซึ่งเป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวที่โฆษณาว่าจะให้บริการรับส่งแขกผู้มาพักระหว่างสนามบินกับโรงแรมด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อประหยัดเวลาและหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด


ข้อร้องเรียนนี้มีคนร่วมลงนามกว่า 10,000 คน โดยวิจารณ์ว่า บริการนี้อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและเกิดมลพิษทางเสียง ตอนนี้ มีคนร่วมลงชื่อมากขึ้นทุกวันนับตั้งแต่มีการประกาศแผนนี้เมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว หลายคนกล่าวว่า โครงการนี้อันตรายมากเพราะกินซ่าไม่มีพื้นที่ให้เฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉินถ้าเครื่องมีปัญหา นอกจากนี้ คนที่ได้รับประโยชน์จากบริการนี้ก็จะเป็นกลุ่มผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นลูกค้าของโรงแรมเท่านั้น


หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนของญี่ปุ่นรายงานว่า เจ้าของโรงแรมนี้คิดโครงการนี้เพราะโตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2020 โดยเชื่อว่า นี่จะเป็นโอกาสทองของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าต่างประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์จากสนามบินนาริตะมาที่โรงแรมและที่อื่นๆ ด้วย


โรงแรมนี้เปิดให้บริการเมื่อปี 2007 และอยู่ในอำเภอยุราคูโชซึ่งติดกับกินซ่าและมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าซึ่งอยู่สูงกว่าพื้นดิน 112 เมตร ขณะนี้ลานจอดได้รับอนุญาตให้ใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น แต่ทางโรงแรมกำลังขอใบอนุญาตเพื่อการใช้ทางการค้า


ทางโรงแรมเจ้งขออนุญาตใช้ 2 เส้นทางคือทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้โดยขึ้นอยู่กับทิศทางลม ในแต่ละปีจะมีเที่ยวบินทั้งหมดไม่เกิน 260 เที่ยวบินและเฮลิคอปเตอร์จะอยู่บนดาดฟ้าไม่กี่นาทีเพื่อส่งหรือรับลูกค้าเท่านั้น เส้นทางการบินจะไม่ไปใกล้ตึกที่สูงเกิน 24 ชั้นและไม่มีแผนบินเหนือย่านกินซ่า


ฝ่ายที่ร้องเรียนนำโดยกลุ่มเซ็น-กินซ่า ซึ่งประกอบด้วยสมาคมธุรกิจและชุมชนในย่านดังกล่าว ชินอิจิ ทานิซาว่า ประธานของกลุ่มเซ็น-กินซ่า กล่าวว่า ในปี 1998 ผู้ประกอบธุรกิจในกินซ่ารวมตัวกันออก “ระเบียบกินซ่า” ซึ่งจำกัดไม่ให้ตึกต่างๆ มีความสูงเกิน 56 เมตรและป้ายโฆษณาบนหลังคาตึกไม่ให้สูงเกิน 10 เมตร แต่ตอนนี้ ผู้บริหารโรงแรมกำลังจะใช้น่านฟ้าของกินซ่าเป็นรันเวย์โดยใช้ประโยชน์จากระเบียบดังกล่าว


เมื่อต้นปี นายกเทศมนตรีและประธานของสภาท้องถิ่นส่งคำขออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรขอให้ทางโรงแรมยกเลิกแผนดังกล่าว พวกเขากล่าวในคำร้องเรียนว่า “การบินเหนือย่านชอปปิงและย่านการค้าที่มีคนและร้านค้ามากมายจะมีผลกระทบอย่างมากกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่และอาจทำให้เกิดมลพิษทางเสียงและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย”


ทางการกรุงโตเกียวมีระเบียบและขบวนการในการประเมินผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายแล้ว การให้บริการเฮลิคอปเตอร์สามารถทำได้ถ้าไม่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โรงแรมได้ทดลองบินและวัดระดับเสียงที่เกิดขึ้นใน 20 จุด ทางโรงแรมอ้างว่า ระดับเสียงต่ำกว่าค่ามาตรฐานในทุกจุด


ฝ่ายบริหารของโรงแรมฯ ซึ่งมีโรงแรมสาขาใน 10 เมืองใหญ่ทั่วโลกมาที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปีและได้ทำการพูดคุยเจรจากับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ทางโรงแรมฯ กล่าวว่า จะยังเดินหน้าเจรจาต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชนและผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่

กระทรวงการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตแนะว่า ให้โรงแรมทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่มากขึ้นอีก จุนจิโร ยามาชิต้า ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงแรมกล่าวว่า “ความสัมพันธ์กับกินซ่าสำคัญกับเรามากเพราะแขกของเราไปชอปปิงที่นั่น ในขณะเดียวกันทางโรงแรมก็ให้ความสำคัญกับการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวด้วย เพราะเราต้องการให้แขกของเรามีตัวเลือกในการเดินทางไปและกลับสนามบิน เราจะอธิบายแผนเรื่องนี้ของเราแก่คนในพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”


ปัจจุบัน โตเกียวมีการให้บริการด้วยเฮลิคอปเตอร์เพียงแห่งเดียว เฮลิคอปเตอร์จะรับผู้โดยสารได้เที่ยวละ 5 คน โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 270,000 เยน หรือ 78,000 บาทต่อเที่ยวต่อการเดินทาง 20 นาที ระหว่างสนามบินนาริตะกับตึกที่ทำการ นอกจากนี้ ยังให้บริการพาทัวร์ภูเขาไฟฟูจิยาม่าด้วย


.................................
ที่มา หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน