'แฮนด์อัพ-ทูลมอโร่' รวมพล'คนเปลี่ยนโลก'

'แฮนด์อัพ-ทูลมอโร่' รวมพล'คนเปลี่ยนโลก'

พวกเขาคือแชมป์ Banpu Champions for Change ปี 5 ที่ใช้สื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างโลกใบใหม่ให้งดงามสุดๆ ด้วยสองมือ

“แฮนด์อัพเน็ตเวิร์ค” และ “ทูลมอโร่” คือ 2 ใน 4 กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 5” (Banpu Champions for Change 5) โดย บมจ.บ้านปู และ Change Fusion คว้าเงินรางวัลทีมละ 2 แสนบาท ไปต่อความฝัน

นี่คือการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจเพื่อสังคม พวกเขาร่วม “ลงมือทำ” เพื่อพิสูจน์ตัวเองบนถนนเส้นนี้

“ไม่ต้องทำเรื่องยากๆ ที่ทำไม่ได้ ขอแค่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ก็พอ เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนสามารถช่วยเหลือสังคมในแบบที่คุณเป็นได้”

คำประกาศของ “แฮนด์อัพเน็ตเวิร์ค” เครือข่ายอาสาสมัครที่ใช้ทักษะมาช่วยเหลือสังคม(skill-based volunteer network) ตัวกลางที่จะเชื่อมโยงอาสาสมัครที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากภาคธุรกิจและองค์กรภาคสังคม เพื่อรวมพลังของทุกคนมาร่วมแก้ปัญหาสังคมให้ตรงจุด

นี่คือผลงานของ ปิง-ศรวุฒิ ปิงคลาศัย, ปอน-อังกูร ไชยปรีชาวิทย์, วิทย์-ชาญวิทย์ หาญธำรงวิทย์, พีท-วณิช จิรไชยสิงห์ และแคท-อัชฌาวดี เจียมบรรจง เพื่อนซี้ต่างสถาบันแต่ฝันเดียวกัน คืออยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น

ทุกคนคืออดีตเด็กกิจกรรม เลยรู้ความสำคัญของงานอาสา จึงมีความคิดที่อยากยกระดับงานอาสาสมัครให้น่าสนใจขึ้น โดยพัฒนาระบบการจับคู่อาสาสมัครเข้ากับองค์กรภาคสังคม เพื่อให้เหล่าอาสาได้นำศักยภาพของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ตรงกับเนื้องาน และแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ถ้าโครงการนั้นต้องการอาสาสมัครที่มีความสามารถหลากหลาย เราก็จะทำการรับสมัครอาสาผ่านช่องทางที่เรามี(facebook/Handup.network) แต่ถ้าโพรเจคนั้นๆ ต้องการความถนัดเฉพาะทาง และความสามารถที่ลึกซึ้งกว่านั้น เราก็จะนำเสนอไปยังภาคเอกชน เพื่อทำเป็นโครงการซีเอสอาร์ร่วมกัน”

ไอเดียที่จะปฏิวัติการทำซีเอสอาร์แบบซ้ำๆ มาสู่โครงการที่สร้างสรรค์ แก้ปัญหาสังคมได้ตรงจุด สร้างการจดจำและดึงการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ผลพลอยได้สำคัญ คือช่วยพัฒนาศักยภาพคนในองค์กร ไปพร้อมกันด้วย
พวกเขาจบจากมหาวิทยาลัยที่ดีและมีภูมิความรู้อยู่พอตัว ชีวิตดูมีทางเลือก แต่ทุกคนกลับเลือกกิจการเพื่อสังคม

ปอน อังกูร อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่กำลังทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเล็กๆ ของตัวเอง บอกเหตุผลของการแบ่งภาคมาทำกิจการเพื่อสังคมกับเพื่อนๆ ว่า เขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แม้ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในเร็ววัน แต่ขอเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะช่วยหมุนประเทศนี้ให้ดีขึ้นได้

เช่นเดียวกับ ปิง ศรวุฒิ อดีตรองนายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่บอกเราว่า การทำงานภาคสังคม อาจไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องเงิน แต่ก็ตอบโจทย์ความสุขของชีวิต เขาว่า แต้มต่อของคนทำงานด้านนี้ คือได้อยู่แวดล้อมกับผู้คนที่ทำให้ “โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น” และแม้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าระหว่างทางสามารถทำให้สังคมดีขึ้น ตัวเขาเองได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น ก็ไม่มีคำว่าเสียเปล่า เท่านี้ก็คุ้มค่ามากแล้วสำหรับเขา

ส่วน พีท วณิช ที่คลุกคลีอยู่กับภาคธุรกิจ บอกเราว่า สิ่งที่ผลักดันตัวเขาให้แบ่งภาคมาทำงานเพื่อสังคม ก็เพราะเชื่อว่า คนเราเกิดมาทั้งที ควรสร้างอะไรเจ๋งๆ ให้กับโลกใบนี้บ้าง และแฮนด์อัพก็คือบทพิสูจน์ความเจ๋งของคนอย่างเขา

SE ตอบความฝัน แต่งานนี้ไม่ได้ง่าย พวกเขาบอกว่า ต้องเตรียมใจที่จะเหนื่อย จะท้อ เจอปัญหาสารพัด และอาจมีเสียน้ำตาบ้าง แต่ข้อดีหนึ่งของการทำ SE คือ เป็นความเหนื่อยที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังให้เราได้ พร้อมสู้ต่อไปไม่มีท้อ ส่วนใครที่จะมาทำ ขอให้ชัดเจนก่อนว่า ปัญหาที่ต้องการแก้คืออะไร แล้วเราสามารถทำอะไรได้ และมีทักษะในการแก้ปัญหานั้น ถ้ามั่นใจแล้วก็ลงมือทำทันที เพราะ SE ที่ดี ไม่ใช่แผนธุรกิจที่ดีพร้อม แต่คือการลงมือทำ และเรียนรู้ไปกับมัน

ข้ามมาที่ฝั่ง “ทูลมอโร่” กิจการเพื่อสังคมของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มือรางวัล ผู้ผ่านชีวิต ดีสุดขั้ว ซ่าสุดขีด “เสก-สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์” เขาชักชวนน้องๆ หนึ่ง-ณัฐพงศ์ มีไพรพฤกษ์, แป้ง-กมลวัฒน์ ชูเตชะ, บูม-พชร ปิยเกียรติสุข, จิ๋ว-ชวลิต นาคทอง และ โอม-อรรถพล คำสอน มาร่วมเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ ของเด็กไทย ด้วยการทำรายการทีวีออนไลน์ที่นำความเชื่อผิดๆ ของเยาวชน มาทดลองให้เห็นในรูปแบบ social experimental VDO เป็นรายการแนวแคนดิด(แอบถ่าย) ที่ทั้งสนุกและมีสาระ สนองใจวัยโจ๋ยุคโซเชียล 

ตัวละครเด็กสาววัยรุ่นในชุดนักเรียนมัธยม เดินถามผู้คนที่เดินผ่านไปมาว่า “หนูอกหัก ต้องทำอย่างไร?” คือตัวอย่างสถานการณ์จริง ที่ทูลมอโร่นำส่งถึงเด็กไทย เพื่อให้เข้าใจและรู้วิธีรับมือกับอาการ “อกหัก” ไม่ต้องไปหาทางออกแบบผิดๆ ให้เจ็บจุก เรื่องราวที่กระแทกใจวัยรุ่น ส่งผลตอบรับดีเกินคาด ชนิดเปิดมาเพียง 5 เดือน มีสมาชิกแฟนเพจแล้วถึง 4.5 หมื่นราย (facebook/toolmorrow) ยอดดูวิดีโอรวมกว่า 1.3 ล้านครั้ง คนกดไลค์ 7 หมื่นไลค์ และแชร์ไปกว่า 2.4 หมื่นครั้ง ขณะที่ส่วนหนึ่งยังหลังไมค์มาไถ่ถามและแบ่งปันเรื่องราวให้ฟังด้วย

สุรเสกข์ เป็นนักคิด นักออกแบบ เคยคว้ารางวัลระดับนานาชาติและระดับประเทศมานับไม่ถ้วน แต่วันนี้เขาจะใช้ความรู้ก้อนเดียวกัน มาทำเพื่อสังคม

“ผมมองว่า ความคิดสร้างสรรค์จะมีคุณค่ามาก ก็ต่อเมื่อเราทำให้กับคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และคุณค่านั้นจะมีมากขึ้น ถ้าส่งผลกระทบต่อสังคมได้มากขึ้น ผมเลยเปลี่ยนมาทำสิ่งที่ให้อิมแพคกับสังคม นั่นคือการเป็น SE” เขาบอก

การหารายได้ของทูลมอโร่ มาจากสปอนเซอร์และการทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์ แต่มีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เอาสปอนเซอร์ที่ทำสินค้ามอมเมาเยาวชน ไม่มีเหล้า ไม่เอาบุหรี่ เขาว่า “ไม่คุ้มกัน” ถ้าพวกเขาได้เงิน แต่เยาวชนได้โทษ

การดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีม ช่วยเปลี่ยนชีวิตของเด็กๆ กลุ่มนี้ เช่นเดียวกับ โอม อรรถพล นิสิตคณะสถาปัตย์ ม.ศรีปทุม ที่เริ่มจากได้ร่วมแสดงในรายการของทูลมอโร่ แล้วรู้สึก “อินจัด” เลยขอเปลี่ยนสถานะมาเป็นทีมงาน
โอมเป็นอดีตเด็กเที่ยว ที่ใช้ชีวิตแบบสุดขั้ว เขาว่าเริ่มเบื่อ พอมองไปรอบๆ ตัว เลยได้เห็นความบอบช้ำของสังคมที่เท่าทวีขึ้น อย่างการที่เด็กสมัยนี้เสพติดโซเชียลกันมาก หลายคนใช้สื่อในทางที่ผิด และหลายสื่อก็สอนสิ่งผิดๆ ให้กับเด็กด้วย ทำให้ชีวิตของเยาวชนไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ เขาเลยอยากมีส่วนร่วมทำสื่อน้ำดี ให้เด็กไทยรู้เท่าทันโลก

“ผมมีความฝันที่อยากทำอะไรเพื่อสังคมสักอย่าง ทำเพราะใจอยากทำ ทำเพราะความสนุก แต่พอเข้ามาจริงๆ แล้ว รู้สึกชอบ ที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ให้กับสังคม อย่างน้อยที่สุด ถ้าน้องๆ ได้เห็นสิ่งที่พวกเราทำ หวังว่าเขาจะเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่ถูกต้องได้” เขาบอก

ขณะที่ แป้ง กมลวัฒน์ ที่มีประสบการณ์ด้านโฆษณาและรายการทีวีมาหลายปี วันนี้เขาคือสมาชิกทูลมอโร่

“ผมทำงานโฆษณา ทำให้ลูกค้า ทำงานทีวี ทำให้เจ้าของบริษัท ซึ่งผมได้เงินก็จริง แต่จะดีกว่าไหม ถ้าได้ทำงานที่ ทั้งลูกค้าได้ สังคมได้ แล้วยังย้อนกลับมาได้กับตัวเองด้วย เหมือนกับงานนี้ ผมได้ทำสื่อที่ให้ทั้งความบันเทิง และสะท้อนถึงชีวิตผู้คนในสังคม ตอบทั้งงานและการทำเพื่อสังคมด้วย” เขาบอก

ถามถึงเป้าหมายต่อไป คนทำเขาบอกเราว่า อยากเห็นทูลมอโร่เป็นรายการที่ออกอากาศทางจอทีวี เพื่อเข้าถึงเยาวชนได้มากขึ้น ก่อนขยายบทบาทไปสู่การเป็นเอเยนซี่เพื่อสังคม พร้อมก้าวเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับทัศนคติของเด็กในสังคม’ เพื่อเปลี่ยนโลกของเยาวชนให้สดใสขึ้นด้วยมือของพวกเขา

หลายคนบอกว่า ทำเพื่อสังคมอยู่ลำบาก ไม่เหมือนเส้นทางอื่นที่ดูจะเรียบง่ายกว่านี้ แต่คนในสนามย้ำชัดว่า

“ถ้ารักที่จะทำ ทำด้วยความรัก และต้องการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันจะมีทางออกของมันเอง ขอแค่ไม่ล้มเลิกไปก่อนเท่านั้น”

พวกเขาบอกความเชื่อ และกำลังลงมือทำ เพื่อพิสูจน์ตัวเองบนถนนเส้นนี้