'จุฑาศรี คูวินิชกุล' เริ่มธุรกิจใหม่ ในธุรกิจครอบครัว

'จุฑาศรี คูวินิชกุล' เริ่มธุรกิจใหม่ ในธุรกิจครอบครัว

เธอคือทายาท“อลูเม็ท”ธุรกิจอะลูมิเนียมรายใหญ่ผู้ให้คำมั่นไว้กับตัวเองว่าจะมาสานต่อธุรกิจครอบครัวให้เติบใหญ่และสร้างคุณค่าให้กับสังคม

วันนี้จะมีสักกี่คนที่ไม่รู้จัก “GrabTaxi” (แกร็บแท็กซี่) แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกแท็กซี่ ที่เข้ามาแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตคนเมือง ซึ่งปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 6 ล้านคน และทุกๆ 1 วินาที จะมีคนเรียกใช้บริการถึง 11 ครั้ง!

ขณะที่มีเครือข่ายครอบคลุม 23 เมือง ใน 6 ประเทศอาเซียน มีแท็กซี่เข้าร่วมมากถึงหลักแสนคน ภายใน 14 เดือน สามารถระดมทุนไปได้แล้วถึง 340 ล้านเหรียญ (กว่าหมื่นล้านบาท!)

แกร็บแท็กซี่ คือผลผลิตของเพื่อนร่วมชั้นเรียน Harvard Business School สหรัฐอเมริกา มีคนต้นคิดคือ Anthony Tan ชาวมาเลเซีย และ Hooi Ling Tan เพื่อนร่วมชั้น ขณะที่ยังมีเด็กสาวชาวไทยอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน เธอคือ “จูน-จุฑาศรี คูวินิชกุล” ซึ่งวันนี้นั่งแท่น ผู้อำนวยการ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย)

จุฑาศรี คือทายาท “อลูเม็ท” ธุรกิจอลูมีเนียมหลายพันล้าน บุตรสาวของ “ธเนศ และอัญชัน คูวินิชกุล” วันนี้เธอ Startup ธุรกิจของตัวเอง แต่ยังดำรงบทบาทในธุรกิจครอบครัว และปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองได้ไม่ขาดตกบกพร่อง

ขณะทายาทหลายคน มีแค่สองทางให้เลือกเดิน ไม่ทำธุรกิจของตัวเอง ก็ก้มหน้าสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อไป แต่กับ จุฑาศรี เธอเลือกที่จะทำทั้ง “หน้าที่” และ “ความฝัน” ไปพร้อมๆ กัน

“คุณพ่อ (ธเนศ) ท่านจะปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า เป็นผู้ประกอบการได้ เพราะท่านเองก็มีโพรเจคเต็มไปหมด ฉะนั้นไม่ว่าจะโพรเจคไหนคุณพ่อไม่เคยว่า ขอแค่ให้งานไม่เสียก็พอ ซึ่งนั่นอาจเป็นความโชคดีของคนที่มีฐานธุรกิจครอบครัว เพราะสามารถขอเงินทุนเริ่มต้น (Seed Funding) จากที่บ้านมาทดลองทำได้”

จุฑาศรี ยกความดีให้วิสัยทัศน์ของคนรุ่นก่อน ที่เปิดทางให้ทายาท ได้เรียนรู้การทำธุรกิจใหม่ๆ แม้แต่วันที่เธอขึ้นเวที “Forbes Thailand Forum 2015 : E-ENTREPRENEURS” ก็ยังมีคนเป็นพ่อมาให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด บ่งบอกว่า สนับสนุนฝันของลูกอย่างเต็มที่

แม้ครอบครัวจะไม่ได้กดดันอะไรมาก แต่พี่น้อง “คูวินิชกุล” ต่างก็ให้คำมั่นว่า จะกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เช่นเดียวกับ จุฑาศรี เธอใช้ชีวิตในการเรียนและช่วงเริ่มต้นของการทำงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มที่ โดยหลังเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอไปทำงานที่บริษัทเทรดดิ้ง Mitsubishi Corporation ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลา 3 ปี ไปกับการเรียนรู้ด้านการเงินและการตลาดของอุตสาหกรรมอลูมีเนียมระดับโลก ก่อนนำประสบการณ์มาบริหารธุรกิจอลูมีเนียมของครอบครัวที่ชื่อ “อลูเมท” ซึ่งเป็นอลูมีเนียมเส้นรีดที่ป้อนกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้าง ประตู หน้าต่าง ยานยนต์ และการบิน ต่างๆ

สองปีต่อมา เธอไปเรียนต่อด้าน MBA ที่ Harvard Business School สหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้นก็ไม่เคยทิ้งพันธกิจเพื่อครอบครัว

“จูนเขียนโครงไว้ตั้งแต่สมัยเรียนว่า ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ธุรกิจของครอบครัวเราจะไปในทิศทางไหน จะตั้งธุรกิจตัวไหนขึ้นมา และเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างไร”

เธอบอกภาพฝันที่เขียนไว้ชัดตั้งแต่สมัยเรียน และวันนี้ก็เริ่มเดินตามแผนนั้นแล้ว

“ทุกวันนี้ยังอยู่ในขั้นแรกๆ ของแผน โดยมองว่า ธุรกิจอลูมีเนียมการแข่งขันสูง ขณะที่ทั่วโลกธุรกิจครอบครัวที่ทำอลูมีเนียมจะเห็นวงจรที่ค่อยๆ ตกลงเรื่อยๆ แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะต้านกระแสนี้ได้ นั่นคือที่มาของการปรับโครงสร้างองค์กร และเริ่มต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 3 ปี” เธอบอกแผนใหญ่

ก่อนอธิบายโครงสร้างของธุรกิจครอบครัว ที่เป็น Holding company ทั้งในไทยและฮ่องกง ลงทุนในบริษัทและสินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets) ใน 5 สายธุรกิจหลัก คือ สายเทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น แกร็บแท็กซี่ สายเอกลักษณ์ไทยที่ผสมผสานความร่วมสมัย ซึ่งพี่สาว เจนนิสา คูวินิชกุล ได้ปั้นแบรนด์เครื่องหอม “Jainnisa” และ “Primmalai” ไปก่อนหน้านี้ สายการดีไซน์ นวัตกรรมอลูมีเนียมและวัสดุอื่นๆ สายสุขภาพและสุขภาวะ ปิดท้ายกับเศรษฐกิจสีเขียว

ความสนใจหลากหลายตามความเปลี่ยนไปของกระแสโลก ซึ่งคนรุ่นก่อนไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเป็นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่มีจุดยืนสำคัญที่คนสานต่อต้องยึดให้มั่น นั่นคือ

“ต้องเป็นธุรกิจที่ดี ไม่แตะต้องสิ่งต้องห้าม และสร้างคุณค่าให้กับสังคม”

เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวก็เคยเขวไปทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบ้าง แต่ปัจจุบันก็เลิกไปหมดแล้ว ซึ่งอนาคตสิ่งที่ยืนยันได้จากคำของทายาท คือ พวกเขาจะทำ “ธุรกิจที่ดี” เท่านั้น

เธอยกตัวอย่าง แกร็บแท็กซี่ ที่เป้าหมายไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด แต่เป็นธุรกิจที่ต้องการทำให้สังคมดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งคนขับแท็กซี่และผู้โดยสาร เปลี่ยนการบริการแท็กซี่เพื่อสังคมที่ดีขึ้น เป็นธุรกิจที่นิยามตัวเองว่า Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม อย่างเต็มภาคภูมิ

ทว่าธุรกิจที่ดีก็ไม่จำเป็นต้องขาดทุน ดูได้จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของแกร็บแท็กซี่ ทั้งจำนวนผู้ใช้ รายได้ และเม็ดเงินจากการระดมทุน ขยายจากแค่แอพเรียกแท็กซี่ ไปสู่แกร็บไบค์ บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอพ รับส่งของสนองการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และคนที่ต้องการแมสเซนเจอร์แบบออนดีมานด์ และแกร็บคาร์ บริการรถลีมูซีน เพื่อการเดินทางที่เป็นส่วนตัวและพรีเมี่ยม เหล่านี้คือภาพสะท้อน “โอกาส” ของธุรกิจน้ำดีที่เธอได้กล่าวไว้

การเริ่มธุรกิจใหม่ ในธุรกิจครอบครัว ช่วยส่งเสริมและเติมเต็มจุดอ่อนของทายาท จุฑาศรี บอกเราว่า ครอบครัวเป็นทั้งทีมงาน เป็นพี่เลี้ยง เป็นแหล่งทุนให้ตั้งต้นธุรกิจ เป็นองค์ความรู้ ผู้คอยให้ความช่วยเหลือ ตลอดจน “เป็นกำลังใจ” ให้ข้ามผ่านโจทย์หนักๆ ไปได้ เรียกว่า เหมือน “จิ๊กซอว์” ที่เติมความฝันของเธอให้สมบูรณ์เต็มผืน

เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากคนรุ่นก่อน แต่ก็พร้อมเดินเกมธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

“เมื่อก่อนยังไม่มี Business Model มากขนาดนี้ ไม่มีคู่แข่ง ที่ทั้งมาก และวิ่งไว มีคนที่คิดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการทำธุรกิจวันนี้ ต้องเปิดกว้างกับข้อมูล ศึกษา Business Model ใหม่ๆ และรู้ความเคลื่อนไหวของตลาด เพราะนี่เป็นโลกอีกยุคหนึ่งที่เราต้องตามให้ทัน ถ้าตามไม่ทัน อาจจะหลุดโลกได้ง่ายๆ” เธอย้ำ

ในภาพฝันที่มีต่อธุรกิจครอบครัว เธอว่า ยังอยากเห็นการเติบโต ทั้งด้านรายได้และการสร้างประโยชน์สู่สังคม ส่วนฝันลึกๆ ก็แค่อยากให้พ่อกับแม่ได้หยุดพักจากงาน และเดินทางเที่ยวรอบโลกได้อย่างสบายใจเสียที

เมื่อวันนี้ทายาทอย่างเธอพร้อมแล้วที่จะรับช่วงต่อธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบใหญ่ ด้วยสไตล์คนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

“”””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

Key to success
เริ่มธุรกิจใหม่ ในธุรกิจครอบครัว

๐ ได้ไอเดียใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจครอบครัว
๐ มีเงินทุนมาลองทำ ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่
๐ มีครอบครัวเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุน
๐ มีกำลังใจที่ดีในการเริ่มต้นธุรกิจ
๐ ทายาทจะไม่อยากทิ้งธุรกิจครอบครัว