จี้ทรูมูฟจ่าย 1,400 ล้านภายใน 30 วัน

จี้ทรูมูฟจ่าย 1,400 ล้านภายใน 30 วัน

บอร์ดกทค.ถกวาระเงินเยียวยาคลื่น 1800 กรอบเวลา 1 ปีจากหมดสัมปทาน ยันเอกชนต้องจ่ายภายใน 30 วันหลังคำสั่งออก หากยังเฉยโดนฟ้องศาล

นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (13 ส.ค.) วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะพิจารณาเงินรายได้ที่เกิดจากมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (มาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ) ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) โดยเป็นการคำนวณเงินเยียวยาในช่วงแรก คือ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557 ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนที่เกิดในช่วงดังกล่าวได้คำนวณมูลค่าออกมาแล้วเสร็จ

โดยเบื้องต้นของทรูมูฟตั้งแต่ในช่วงหมดสัญญาสัมปทานในย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์จากบมจ.กสท โทรคมนาคม ในขณะนั้นมีลูกค้าเหลืออยู่ในระบบ 17.5 ล้านราย ส่วนดีพีซีเหลือจำนวน 80,000 ราย โดยการคำนวณจากคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯพิจารณาแล้วว่า ในช่วงแรกนั้นมีรายได้เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสัมปทานมากกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งต้องนำมาหักออกจากรายจ่าย 3 ส่วนคือ 1.รายได้จากการใช้คลื่น เช่น ค่าโรมมิ่ง 2.ค่าเช่าใช้โครงข่ายของกสทฯ และ 3.ค่าบริหารจัดการระบบ และค่าใช้จ่ายพนักงาน โดยหลังจากคำนวณแล้ว ทรูมูฟต้องจ่ายเงินเยียวยาในช่วงแรก 1,400 ล้านบาท และดีพีซี 200 ล้านบาท

“ตัวเลขสรุปมาแค่ว่า เกิดรายได้จากช่วงที่หมดสัมปทานลง 6,000 ล้านบาท แต่ต้องมาหักจากรายจ่ายใน 3 ข้อดังนั้นต้องรอให้บอร์ดกทค.เคาะตัวเลขออกมาในวันนี้ แต่ผมยืนยันได้ว่าจะอย่างไรเอกชนก็ต้องจ่ายเงินค่าเยียวยามา เพราะถือเป็นรายได้ของรัฐ ไม่เกี่ยงว่าบริษัทนั้นจะประสบปัญหาขาดทุนอยู่หรือไม่” นายฐากร กล่าว

เขา ระบุเพิ่มว่า หลังจากที่บอร์ดกทค.เคาะตัวเลขรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นหลังหักจากค่าใช้จ่ายออกแล้ว ทางสำนักงานกสทช.จะทำหนังสือเป็นทางการส่งไปยังเอกชนเพื่อให้จ่ายเงินดัวกล่าว ซึ่งจะเป็นคำสั่งทางปกครองให้ชำระภายใน 30 วัน ส่วนค่าใช้โครงข่ายของกสทฯ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วว่า เอกชนต้องจ่ายให้กสทฯไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท แต่หากกสทฯ จะคำนวณเองแล้วได้มูลค่าการใช้โครงข่ายมากกว่าจำนวนดังกล่าว ก็ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องต่อเอกชนเอง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งฉบับที่ 94/2557 ให้ กสทช. ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ออกไป 1 ปี และให้คุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 ดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองในวันที่ 17 ก.ค. 2558 และสำนักงาน กสทช. ได้เคยประกาศให้ทราบว่าหลังจากเวลานั้นแล้วซิบจะดับ จะยุติมาตรการเยียวยานั้น ซึ่งต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้รายงานให้หัวหน้า คสช.เพื่อทราบในแนวทางการดำเนินงาน และขอรับนโยบาย

เลขาธิการกสทช.ระบุอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้มาตราเยียวยาลูกค้า 1800 เมกะเฮิรตซ์ มีการขยายเวลาถึง 3 ช่วงแล้ว คือ 1. ตั้งแต่ 16 ก.ย.2556-15 ก.ค. 2557 ซึ่งเป็นช่วงการเยียวยาลูกค้าภายหลังจากที่สิ้นสดุสัญญาสัมปทานกับกสทฯ 2. ตั้งแต่ 16 ก.ย.2557-ปัจจุบัน คือช่วงวที่คสช.มีคำสั่งให้ชะลอการประมูล 4จีในครั้งนั้นออกไปก่อน และให้ขยายมาตรการเยียวยาไปพร้อมกัน และช่วงที่ 3 คือ ตั้งแต่ 18 ก.ค.2558-มีผู้ชนะการประมูลได้ใบอนุญาตใหม่

แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรการเยียวยาใน 2 ช่วงแรกนั้น จนถึงขณะนี้กสทช.ยังไม่ได้รับเงินรายได้ที่เกิดขึ้นเลย จากการใช้โครงข่ายและรายได้จากการให้บริการของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ซึ่งแม้จะมีการตั้งคณะทำงานในการคำนวณพิจารณารายได้ที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ลงตัว ดังนั้นการประชุมบอร์ดกทค.วันนี้จะสรุปทุกอย่างให้เรียบร้อย