ความสำเร็จจากการเหลือ 'ตัวเลือกเดียว'

ความสำเร็จจากการเหลือ 'ตัวเลือกเดียว'

'หนูดี' ตีแผ่ความซับซ้อนการทำงานของสมอง กรณีการตัดสินใจเมื่อมีตัวเลือกมากกว่าหนึ่ง อ้างอิงการทดสอบของ Prof.Dan Ariely แห่งมหาวิทยาลัย MIT

ธรรมชาติของมนุษย์มักจะชอบมีตัวเลือกหลายๆ ตัว ยิ่งมีตัวเลือกให้เราเยอะเท่าไหร่เรายิ่งรู้สึกมีอำนาจเท่านั้น เช่น ถ้าสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและเราสอบเข้าได้เยอะแล้วมานั่งเลือกเราจะรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก หรือเรียนจบแล้วสมัครงานมีบริษัทตอบรับมาเยอะเรายิ่งชอบเพราะได้เลือกเยอะขึ้น หันมาดูด้านความรักกันบ้าง หากเราเป็นหนุ่มหล่อมีสาวๆ มาตกหลุมรักมากมายเราจะรู้สึกว่าเราเจ๋ง หล่อเลือกได้ หรือหากเป็นสาวสวยที่มีหนุ่มๆ แวะเวียนมาขายขนมจีบเยอะ เราก็รู้สึกมีอำนาจต่อรองสามารถเลือกคนที่ดีที่สุดได้

แม้ฟังดูดี แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา เพราะในการที่สมองมนุษย์​“ชอบ” การมีตัวเลือกเยอะๆจึงทำให้เราไม่สรุปเสียที การสรุปและเลือกมาตัวเลือกเดียวจะทำให้เราโฟกัสพลังงานสมองไปที่จุดเดียวและทำสิ่งนั้นให้ออกมาดีที่สุดได้

ปัญหาก็คือแม้บางครั้งเราควรเลือกจากตัวเลือกทั้งหมดที่มีดีและไม่ดีปะปนกันแล้ว...และเลือกที่เจ๋งที่สุดมา แต่เราก็เลือกไม่ได้ เพราะพอตัดตัวเลือกทั้งหมดออกเหลือเพียงตัวเลือกเดียวที่เราคิดว่าดีที่สุด...แต่สมองของเราลึกๆ จะกลัวว่า “มันดีที่สุดจริงหรือ” และ “ถ้ามันไม่ได้ดีอย่างที่คิดละ” ในที่สุดแล้ว ด้วยความหวาดระแวง เราจะทำในสิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักทำโดยไม่รู้ตัวและห้ามตัวเองไม่ได้ นั่นก็คือ “เก็บตัวเลือกไว้ให้มากที่สุด” แม้วิธีการนี้จะกลับมาบ่อนทำลายตัวเราในภายหลังก็ตาม เพราะในที่สุดแล้วเราก็ไม่สามารถเก็บทุกตัวเลือกไว้กับเราได้ตลอดกาลเพราะมันผิดธรรมชาติของชีวิตมนุษย์

หากเราไม่ตัดสินใจเลือกและปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราจะถูกบังคับให้เลือกด้วยสถานการณ์และบางครั้งสิ่งที่ถูกบังคับให้เลือกอาจเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ดีที่สุดก็ได้

มาดูงานวิจัยสนุกๆ ของศาสตราจารย์ ​Dan Ariely แห่งมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกากันบ้างดีกว่าค่ะ งานวิจัยนี้ทำกับนักศึกษาในกลุ่มวิศวะที่เอ็มไอที โดยออกแบบเป็นเกมที่มีกฏการเล่นดังนี้ คือ เมื่อเข้าสู่เกมในแลปทอปแล้ว ที่หน้าจอจะมีประตูให้เราคลิกเลือกสามบาน ประตูสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน ในการคลิกแต่ละครั้งผู้เล่นจะได้เงินระหว่าง 1-10 เซนต์ ผู้เล่นมีโอกาสคลิก 100 ครั้งและทุกครั้งที่กดทางหน้าจอก็จะแสดงผลรวมของเงินรางวัล

วิธีเล่นก็คือเราจะต้องหาประตูที่ให้เงินมากที่สุดแล้วกดรวมกันให้ได้เงินมาที่สุด ฟังดูง่ายแต่ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะทุกครั้งที่กดประตูหนึ่งเราจะเสียสิทธิการกดอีกประตูหนึ่งไปโดยทันที ดังนั้น วิธีการเล่นให้ดีที่สุดก็คือ หาประตูที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดและกดประตูนั้นประตูเดียวจนจบเกม ปัญหาก็คือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประตูที่เราเลือกจะให้ผลดีที่สุดจนจบเกม คนส่วนใหญ่จึงมักวิ่งรอกไปประตูนั้นประตูนี้และผลาญสิทธิการทำเงินของตัวเองไปเรื่อยๆ

วิธีการทำงานของสมองแบบนี้ หากเรานำมาเปรียบเทียบกับความรัก สมมติว่า เราเลือกจะออกเดทกับคนที่น่าสนใจสามคน แล้วเราก็เจอสลับกันไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเราก็เลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นแฟน นี่ฟังดูน่าจะดีถ้าทำได้ในชีวิตจริงทุกครั้ง แต่สมมติ ระหว่างที่เราคุยกับ A และกำลังคิดว่า B ก็น่ารัก แต่ในที่สุดเราอาจเลือก C คิดว่าในความเป็นจริงแล้ว C จะรอเราอยู่ไหม หรือระหว่างที่เราคุยกับ A อยู่ หันกลับมาเราอาจพบว่า C จะหายไปตลอดกาลเลย เราจะยอมให้เป็นแบบนั้นไหม

นักวิจัยคนเดิมอยากรู้ค่ะ เขาได้ออกแบบการทดสอบให้ยากขึ้นไปอีกโดยกำหนดว่า ในการคลิกทุก 12 ครั้ง หากประตูไหนไม่ได้รับการคลิกเปิดเลยมันจะหายไปตลอดกาล โดยดีไซน์ให้หน้าจอแสดงภาพประตูหดเล็กลงเรื่อยๆ ก่อนที่มันจะหายไป ที่น่าประหลาดใจก็คือ ผู้ร่วมวิจัยแทบทุกคนที่แม้ว่าจะพบประตูที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดแล้ว แต่เมื่อประตูบานหนึ่งกำลังจะหายไปตลอดกาล เขาก็กลับอดใจไว้ไม่ได้ ต้องหันไปคลิกที่ประตูบานนั้นก่อนที่มันจะหายไป แม้จะรู้ว่าการทำแบบนี้ทำให้เขาเสียโอกาสการทำเงินไปหนึ่งครั้งแต่เขาไม่สามารถยอมให้ประตู หรือ “โอกาส” หนึ่งสูญหายไปได้ตลอดกาล

สมองมนุษย์นี้ยากแท้หยั่งถึงจริงๆ นะคะ

แล้วมาดูขั้นแอดวานซ์กันบ้าง คราวนี้นักวิจัยออกแบบให้ประตูที่หายไปจะไม่หายไปตลอดกาล เพียงแค่เรากลับไปคลิกมันอีกครั้งเดียวมันก็จะกลับมาเหมือนเดิมทุกประการ แต่ครั้งนี้ผู้ถูกวิจัยก็มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากเดิม นั่นคือ เขาพยายามจะต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้ประตูไหนหายไปด้วยการกลับไปคลิกเรื่อยๆเมื่อประตูหนึ่งหายไปแม้ประตูนั้นจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีเท่าไหร่ก็ตาม ดูเหมือนว่าสมองมนุษย์จะถูกออกแบบมาให้เราวิ่งวนไล่จิกโอกาสเล็กๆที่กำลังจะหลุดลอยหายไปเหมือนแม่ไก่ โดยไม่ดูว่าเมื่อเราหันไปจิกโอกาสเล็กๆเหล่านั้น เรากำลังทอดทิ้งโอกาสใหญ่อันเดียวที่ดีที่สุดไป

เปรียบเทียบเหมือนพ่อแม่ที่วิ่งรอกพาลูกเล็กๆ ไปเรียนพิเศษตามที่ต่างๆ ตลอดทั้งวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งภาษาอังกฤษ ลิตเติ้ลยิม ดนตรี บัลเลต์​เทควันโด ฯลฯ ทั้งๆ ที่ความจริงเด็กคนหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าไหมหากเขาเลือกในสิ่งที่ชอบที่สุดเพียงสิ่งเดียวและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดโดยใช้เวลาที่เหลือในการพักผ่อนฟื้นฟูกำลังก่อนเผชิญหน้าสัปดาห์ต่อไปด้วยพลังงานเต็มร้อย

แม่ทัพจีนในอดีตกาลคนหนึ่งชื่อเซี่ยงหยี่ ได้ใช้เทคนิคเดียวกับพระเจ้าตากสินของเราก่อนเข้าตีเมืองจันทร์โดยการทุบหม้อข้าวทิ้งทั้งหมดแล้วบอกว่าต้องตีเมืองจันทบุรีให้แตกแล้วค่อยเข้าไปกินมื้อต่อไปในนั้นจนทหารหักโค่นเอาเมืองจันทร์ได้ในวันนั้นเอง เซี่ยงหยี่นั้นพาทหารขึ้นเรือรบบุกไปโจมตีกองทัพราชวงศ์ฉิน โดยตอนเช้าทหารตื่นมาพบเรือรบไหม้ไฟ คิดว่าข้าศึกโจมตีกลับพบว่าแม่ทัพตัวเองนั่นเองกำลังจุดไฟเผาเรือ เซี่ยงหยี่บอกว่าไม่มีทั้งเรือและอาหารแล้ว ทหารต้องชนะกองทัพฉินให้ได้จึงจะมีอาหารกิน ด้วยวิธีนี้เขาจึงชนะกองทัพฉินได้อย่างราบคาบในการศึกเพียงเก้าครั้ง

บางครั้ง การเผาทางเลือกอื่นทุกทางแล้วเหลือเพียงทางสำคัญที่สุดเพียงทางเดียวอาจเป็น “ตัวเลือก” ที่ดีที่สุดก็เป็นได้ค่ะ

* บทความโดย หนูดี วนิษา เรซ  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและการเรียนรู้ เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจกายใจ  ฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2558