หมอรามาฯ หนุนออกพรบ.ยาสูบฉบับใหม่

หมอรามาฯ หนุนออกพรบ.ยาสูบฉบับใหม่

หมอรามาฯ หนุนออกพรบ.ยาสูบฉบับใหม่ แนะแจงให้ชัดประชาชนได้ประโยชน์ ช่วยปกป้องชีวิตคนใกล้ชิด

นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานประชุมวิชาการ“บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ”ครั้งที่14เรื่อง“หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย”เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ประเทศไทยเคยลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้สำเร็จกว่าร้อยละ40-50แต่ปัจจุบันประเทศไทยลดได้เพียงประมาณร้อยละ20เท่านั้น จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้อีก ซึ่งแนวทางอาจเป็นการเพิ่มจำนวนคนเข้าไปทำงานในด้านการลดการบริโภคยาสูบ และการใช้แนวทางกฎหมาย เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า18ปี อย่างไรก็ตาม กฎหมายต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับกลยุทธ์ กลวิธีของบริษัทบุหรี่ที่มีวิธีล่อใจนักสูบหน้าใหม่

นพ.วิชช์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ปัญหาคือแม้ขณะนี้จะมีคนมาร่วมลงนามสนับสนุนกฎหมายมากถึง11.2ล้านคนแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการลงชื่อเห็นด้วยโดยที่ไม่ได้เข้าใจว่าสุดท้ายแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลประโยชน์อะไรต่อตัวเอง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องออกกฎหมายใหม่ และออกมาแล้วจะนำไปสู่อะไร ต้องทำให้เห็นภาพชัดเจน หากพูดแต่เพียงว่าลดอัตราการสูบบุหรี่ลง30%คนก็จะไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพ แต่หากทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลกระทบที่ตามมาหากไม่มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และประชาชนจะได้อะไรจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง

“ผู้ที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้ต้องยกตัวอย่างขึ้นมาให้ได้ว่า หากไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา ใครจะได้รับผลกระทบ เช่น ทุกวันนี้มีคนตายจากโรคที่เกิดจากบุหรี่มากถึงปีละ50,000คน หากบอกเพียงเท่านี้ก็จะไม่เร้าอารมณ์ความรู้สึกร่วมกัน แต่ต้องแปลงออกมาเป็นชีวิตคนที่ชัดเจน ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคนที่จะป่วยและตายในจำนวน50,000 คน อาจไม่ใช่แค่ผู้สูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนใกล้ชิดรอบข้าง เช่น ภรรยา ลูก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง หรือการลดการสูบลง30%คือการสูบบุหรี่ลดลงจาก10คน เหลือ3คน คนที่ได้รับผลกระทบจะน้อยลงมากไปเท่าไร ไม่ต้องป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ถุงลมโป่งพอง สมมติปีหนึ่งๆ ลดลงได้2-3หมื่นราย10ปีก็ช่วยรักษาชีวิตคนไปได้2-3แสนราย คือต้องทำให้เห็นว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อปกป้องชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะเด็กและสตรี ปกป้องเศรษฐกิจช่วยให้คนยากจนไม่ต้องจนลง เป็นต้น” นพ.วิชช์ กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การให้การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากการสำรวจในอังกฤษพบว่า คนที่ทำงานในบริษัทจบปริญญาตรี มีการติดบุหรี่เพียง1ใน10แต่คนที่ขายแรงงานกลับมีการติดบุหรี่มากถึง1ใน3ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่เมื่อคนไทยมีความรู้ การศึกษาสูงมากๆ ก็มีโอกาสที่จะออกกฎหมายแบบสุดโต่งในการห้ามขาย ห้ามสูบไปเลยก็เป็นได้ สำหรับการให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการออกกฎหมาย สสส.เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมสุขภาพโดยตรง ทั้งนี้ มีการตั้งเป้าในการล่ารายชื่อผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ให้ได้15ล้านคน หรือเท่ากับประชากร1ใน4ของประเทศภายในวันที่20ก.ย.นี้ ซึ่งตรงกับวันเยาวชนแห่งชาติ