สกอ.เพิ่มสัดส่วนทันตแพทย์ไทยลดขาดแคลน

สกอ.เพิ่มสัดส่วนทันตแพทย์ไทยลดขาดแคลน

สกอ.ผนึกคณะทันตแพทย์ เพิ่มสัดส่วนทันตแพทย์ไทย ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะต้องลดสัดส่วนระหว่างทันตแพทย์กับประชากรให้อยู่ที่ 1:4,000 คน

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาทันตสุขภาวะของประชาชน (ปี 2558-2567) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนทันตแพทย์ค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนระหว่างทันตแพทย์กับประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 5,000 คน ซึ่งมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วสัดส่วนต้องอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 3,000 คน 

ทาง สกอ. จึงได้จัดโครงการดังกล่าวร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อผลิตทันตแพทย์เพิ่มในระยะ 5 ปีหลังจากนี้ โดยจะผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 300 คน จากเดิมที่ผลิตปีละ 526 คน รวมเป็น 826 คน ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะต้องลดสัดส่วนระหว่างทันตแพทย์กับประชากรให้อยู่ที่ 1 ต่อ 4,000 คน และภายใน 10 ปี สัดส่วนต้องอยู่ที่ 1 ต่อ 3,000 คน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะทันตแพทยศาสตร์ จำนวน 8 แห่ง และกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งเข้ามาช่วยในการผลิตทันตแพทย์ได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะทันตแพทยศาสตร์ ยังเป็นคณะยอดนิยมที่นักเรียนจำนวนมากสนใจเข้าศึกษาต่อ ดังนั้นจึงไม่รู้สึกเป็นกังวลว่าจะไม่มีนักเรียนมาเลือกเรียนต่อในคณะนี้ เพราะเมื่อเรียนจบเด็กก็มีงานทำทันที โดยต้องทำงานใช้ทุนรัฐบาลอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งจะกระจายลงไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ แต่หลังจากนั้นเป็นสิทธิของผู้เรียนว่าจะเรียนต่อ ทำงานกับเอกชน หรือเปิดคลินิกของตนเอง