ม.44บูรณาการ10กระทรวง สกัด'แว้น-สถานบันเทิง'

ม.44บูรณาการ10กระทรวง สกัด'แว้น-สถานบันเทิง'

"...การใช้มาตรา 44 คือการบูรณาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 กระทรวง บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ..." ชาญเชาวน์

ปัญหาเด็กแว้น ปัญหาร้านเหล้าและสถานบันเทิงใกล้สถาบันการศึกษา เหล่านี้เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับเมืองไทยมานาน ซึ่งในอดีตอาจถูกมองเป็นเรื่องเล็ก แต่ปัจจุบันกำลังได้รับความสำคัญ เพราะนอกจากจะก่อความเดือดร้อนรำคาญ ยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นลูกโซ่ ถึงขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ลงมาแก้ไข ซึ่งเป็นที่จับตาว่าจะลดปัญหาในระยะยาวได้เพียงใด


พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ นายเทพชัย หย่อง ในรายการ “ชั่วโมงที่ 26” ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW 26


เริ่มต้นที่ นายชาญเชาวน์ บอกถึงความจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจตาม ม.44 มาแก้ปัญหาเป็นเพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด 10 ฉบับ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 กระทรวง ฉะนั้น คำสั่งจากหัวหน้า คสช. คือการบูรณาการให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ชี้ถึงการทำงานหลังนำ ม.44 มาบังคับใช้ว่า ทำให้ตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับยยับยั้งปัญหาที่หนักอกนี้ได้อย่างราบรื่น เนื่องจากในอดีตตำรวจสามารถจับกุมได้เฉพาะช่วงก่อเหตุหรือขณะแข่งขัน ทำให้ต้องระดมกำลังจากแผนกต่างๆ กระทั่งเกิดช่องโหว่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยประชาชน เช่น กำลังสายตรวจที่ถูกระดมไป ทำให้เกิดการฉกชิงวิงราว รวมถึงการสกัดจับขณะแข่งก็มีอันตราย จนบางครั้งมีการบาดเจ็บล้มตายจากการถูกเฉี่ยวชน ถือเป็นการสูญเสียกำลังไปอย่างน่าเสียดาย


ผู้ช่วย ผบ.ตร.ชี้ว่าแม้เพียงการรวมตัวกัน ตำรวจก็สามารถจับกุมได้ทันที และยังขยายการจับกุมไปยังร้านจำหน่ายอะไหล่และร้านปรับแต่งเครื่องยนต์ ที่ถือเป็นต้นตอของปัญหา เนื่องจาก พวกเขาทราบดีว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ในบางร้าน ถึงกับมีบริการ “โมบายยูนิต” ส่งช่างไปปรับแต่งถึงสถานที่นัดแข่งขัน
“พอเกิดเหตุก็เกิดการสูญเสียเกิดคดีความจนเป็นปัญหาต่างๆ ตามมา ฉะนั้น ม.44 จึงเน้นที่การระงับยับยั้งป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น”


พล.ต.ท.ประวุฒ บอกว่า การจับกุมเด็กแว้นขณะรวมกลุ่มกัน แม้จะกระทำได้จริง แต่นั่นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสำนักงานตำรจวจแห่งชาติ(ตร.) เตรียมเสนอในการยกฐานะปัญหาเยาวชนขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ พร้อมตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำกับดูแลและพัฒนาความพฤติกรรมเยาวชน โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่น


“ยกตัวอย่าง การจับกุมที่ราชพฤกษ์ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่กลัวตาย เพราะสามารถตัดสินกระโดดสะพานเพียงเพื่อหลบหนีการจับกุม และยังพบว่า จำนวนครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นกลุ่มนี้ อยู่นอกระบบการศึกษา ข้อมูลเหล่านี้ต้องนำมาประมวลเพื่อร่วมกันแก้ไข”


ส่วนประเด็นร้านจำหน่ายสุราใกล้สถาบันการศึกษาในระยะ 300 เมตร นายชาญเชาวน์ บอกว่าไม่จำเป็นต้องวัดระยะ แต่อยากให้ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ตำรวจในท้องที่ กรมสรรพสามิต ร่วมกันพูดคุยตกลงกันถึงคำว่า “บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา” มันเท่าไร เพราะมันมีความหลากหลายในรายละเอียดของแต่ละชุมชน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและประกาศในชุมชน ภายใน 160 วันตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้แล้วกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตามนั้น


ส่วนการเคร่งครัดใช้กฎหมาย ตามข้อบังคับเดิมที่มีอยู่เดิม เช่น ห้ามจำหน่ายให้กับบุคคลที่อายุเกิน 20 ปี หรือต้องไม่มียาเสพติด อาวุธ หากพบว่าอยู่ใกล้สถานศึกษาจะถูกปิดกิจการทันที ฉะนั้น ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าติดตามด้วย


“อาจมีห้องแถวที่อยู่ใกล้โรงเรียน 100 เมตร สามารถจำหน่ายสุราได้ แต่นั่นเป็นเพราะเจ้าของร้านต้องเครงครัดกฎหมาย” นายชาญเชาวน์ ระบุ


พล.ต.ท.ประวุฒิ ขยายความว่า ในระยะที่ชุมชนตกลงกันว่าห้ามขาย ก็จะมีการออกใบอนุญาต ฉะนั้นเมื่อมีขวดเบียร์ตั้งอยู่ ตำรวจจับกุมได้ทันที ในขณะที่ผ่านมา เกิดเรื่องกำกึ่งกันระหว่างร้านในโซนนิ่งกับนอกโซน ทำให้ตำรวจต้องรอหลังเที่ยงคืน จึงจะมีอำนาจจับกุม แต่เมื่อถึงเวลานั้นเยาวชนก็ดื่มกันตั้งแต่ 5 โมงเย็นจนเที่ยงคืน ก็มึนเมาไปแล้ว


“ชุมชนเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดระยะ ไม่ใช่แค่ 100หรือ300 เมตร แต่อาจมีระยะถึง 2 กิโลเมตร ก็เป็นไปได้”
ส่วนปัญหาเด็กแว้น ตาม ม.44 ที่ผูกโยงความผิดไปถึงผู้ปกครองนั้น นายชาญเชาวน์ ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว มีระบุไว้ในกฎหมาย เพียงแต่อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบร่วมกันในการสั่งสอนลูก


พล.ต.ท.ประวุฒิ เสริมถึงเนื้อหาที่ระบุตามกฎหมายคุ้มครองเด็กว่า นี่ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันรถจักรยานยนต์ แต่เป็นการปล่อยปละละเลยการอบรมเลี้ยงดู จนทำให้มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดทุกประเภท


ขณะเดียวกันในสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่ผู้ปกครอง ไม่สามารถดูแลเด็กได้เท่าที่ควร เช่น เด็กผู้หญิงอายุ 13 ปี กล้าเปิดตัวว่าต้องการออกจากบ้านเพื่อร่วมชีวิตกับคู่ชีวิตของเขา ก็จำเป็นต้องเปิดช่องให้ผู้ปกครองแสดงเจตนารมณ์ว่า พวกเขาไม่ได้ปล่อยปละละเลย


“ผู้ปกครองอาจมาแจ้งตำรวจก่อนว่า เด็กออกจากบ้านไปและมีความเสี่ยงที่ก่อปัญหาสังคม เมื่อนั้นเราก็ต้องมีกระบวนการดึงเขากลับคืนสู่ครอบครัว ไม่ให้เป็นระเบิดเวลาให้กับสังคม แต่นี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น”


สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว นายชาญเชาวน์ เสริมว่าปัจจุบันเรามีคณะกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งเราทุกคนในสังคมต้องร่วมกันดูแล


อย่างไรก็ตามทั้งฝ่ายตำรวจและกระทรวงยุติธรรม เห็นตรงกันว่า การบังคับใช้กฎหมาย ตามอำนาจ ม.44 จะมีผลดีในระยะยาวหรือไม่นั้น สังคมต้องช่วยกันจับตา !!!