Daily Market Outlook (3 ส.ค.58)

Daily Market Outlook (3 ส.ค.58)

คาดว่าตลาดปรับตัวลง

คาดหุ้นไทยปรับตัวลงวันนี้ ปัจจัยภายนอกยังคงกดดันการส่งออกของไทย ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอตัว ตลอดจนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจเข้าสู่ภาวะหดตัวในไตรมาส 2 และแนวโน้มที่ไม่แน่นอนในไตรมาส 3 ภายในประเทศภาระหนี้เกษตรกรจะเป็นปัญหาในภาวะภัยแล้ง และรัฐบาลต้องออกมาตรการมาแก้ไข จับตาการประชุม กนง.วันนี้

หุ้นเด่นวันนี้: SCC (ราคาปิด 526.00 บาท; NR; ราคาเป้าหมาย Bloomberg 569.48 บาท)

แนวโน้มกำไรสุทธิของ SCC อยู่ในทิศทางสดใสตลอดทั้งปีนี้และปีหน้า โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ล่าสุดได้แสดงถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอีกครั้งในผลประกอบการงวด 2Q58 หลังจากที่ Spread ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลัก (HDPE, PP) เทียบ Naphtha ยังสามารถยืนตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เราเชื่อว่าจะเห็นวงจรขาขึ้นของปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ตลอดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจาก Supply จากคู่แข่งใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนน้อยตามความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ Demand ในภูมิภาคยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้แล้วเราเชื่อว่าน่าจะเห็นการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างและเริ่มเห็นความโดดเด่นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลและการลงทุนของภาคเอกชนที่จะก่อให้เกิดความต้องการใช้ปูนชีเมนต์และวัสดุก่อสร้างต่างๆ ในประเทศเพิ่มขึ้น ประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของ SCC ปีนี้อยู่ที่ 21% ก่อนจะขยายตัวลดลงเป็น 8% ในปี 2559 อ้างอิงจาก Bloomberg consensus นอกจากนี้ล่าสุด SCC ประกาศจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิงวด 1H58 ในอัตรา 7.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนต่อปีเทียบเท่าที่ 3.0% ในส่วนของ Price Pattern ของ SCC ได้กลับมาเกิด Daily Buy Signal ครั้งใหม่ พร้อมกับสัญญาณทาง Technical ระยะสั้นที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวระยะสั้นของ SCC โดยเมื่อพิจารณาจาก Price Pattern ของ SCC คาดว่าจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นไปทดสอบเป้าหมายสำคัญในระยะสั้นที่ 532 บาท และทดสอบเป้าหมายหลักที่ 538 บาท ได้ตามลำดับ ทั้งนี้หาก Price Pattern ของ SCC ยังมีความแข็งแกร่งมากพอ โดยสามารถปิดตลาดเหนือ 540 บาท นี่จะบ่งบอกเป็นนัยถึงการทำ New High ครั้งใหม่ของ SCC โดยมีเป้าหมายแรกเพื่อทดสอบ High เดิมที่ 548 บาท และมีเป้าหมายแรกของการทำ New High อยู่ที่ 558 บาท (แนวต้าน: 530, 534, 540; แนวรับ: 524, 520, 514)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• ธปท.กำลังจะปรับประมาณการเศรษฐกิจลง ธปท.กำลังจะปรับลดการคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกลงอีก ในเดือน มิ.ย. ธปท.ปรับลดคาดการณ์ GDP ขยายตัวสำหรับปีนี้ลงเป็น 3.0% จาก 3.8% ก่อนหน้า และคาดการส่งออกหดตัว 1.5% แต่จากคำพูดล่าสุดที่ว่าการขยายตัวของ GDP อาจจะต่ำกว่า 3.0% และ ธปท.เห็นในขณะนี้ว่าการส่งออกน่าจะหดตัวมากกว่า 1.5% (Bangkok Post)

• นักเศรษฐศาสตร์คาด กนง.คงดอกเบี้ย นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศที่สำรวจโดยเดอะเนชั่นต่างเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันพุธเนื่องจากเศรษฐกิจยังอ่อนแอและมีความกังวลเรื่องผลลบจากภัยแล้ง (The Nation)

• นายกฯ สั่งปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร นายกรัฐมนตรีแสดงออกถึงความกังวลต่อหนี้สินของเกษตรกรที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกร โดยตั้งเป้าการเจรจาหนี้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. นี้ ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. พบว่าหนี้ดังกล่าวทะลุเกิน 3.88 แสนลบ. ในกลุ่มเกษตรกรจำนวน 1,637,562 ราย คิดเป็นต่อหัวเฉลี่ยราว 230,000 บาท (Bangkok Post)

• ยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลังมีมติให้ยกเว้นการนำมูลค่าสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีเพียงมูลค่าที่ดินที่จะนำมาคำนวณภาษี ทั้งนี้เกณฑ์ภาษีใหม่ยังสามารถก่อให้เกิดภาษีต่อปีจำนวน 2.5 หมื่นลบ. มาจากภาษีบ้านและที่ดินและจากภาษีบำรุงท้องที่ (Bangkok Post)

• RS แจ้งว่ากลุ่ม King Power ได้เข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มครอบครัวของผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบันในสัดส่วน 9% ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่าการเข้ามาของ King Power จะช่วยให้ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนของ RS มีสูงขึ้น รวมถึงผลบวกจากช่องทางการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ King Power จะมีสถานะเป็นเพียงนักลงทุนและจะไม่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของ RS แต่อย่างใด (Bangkok Post)

• BH เจาะเมียนมาร์วางแผนร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเตรียมสร้างศูนย์วินิจฉัยโรคเพื่อส่งต่อคนไข้มารักษาในไทย บำรุงราษฎร์คาดจะใช้เงินหลักร้อยล้านขึ้นไป โดยปัจจุบันมีชาวเมียนมาร์เดินทางมารักษาที่ไทยจำนวนมาก (Post Today)

ต่างประเทศ:

• กรีซจะขอรับเงินกู้งวดแรกจำนวน 2.4 หมื่นล้านยูโรจากเจ้าหนี้ในเดือนสิงหาคม กรีซอยู่ระหว่างการเจรจากับประชาคมยุโรป (EC) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขอให้ประกันเงินกู้จำนวน 8.6 หมื่นล้านยูโร (9.448 หมื่นล้านดอลลาร์) สำหรับแผนช่วยเหลือกรีซ รัฐบาลกรีซคาดว่าจะสามารถสรุปการเจรจากับเจ้าหนี้ได้ภายในกลางเดือนสิงหาคม เงินกู้จำนวน 2.436 หมื่นล้านยูโรจะถูกนำไปใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้เบื้องต้นให้แก่ธนาคารกรีซ 1 หมื่นล้านยูโร 7.16 พันล้านยูโรจะนำไปชำระคืนเงินกู้ฉุกเฉินระยะสั้น 3.2 พันล้านยูโรนำไปชำระค่าไถ่ถอนพันธบัตรซึ่งถือโดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และชำระหนี้อื่น ๆ (Reuters)

• ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน จากข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในสหรัฐที่น่าผิดหวังซึ่งทำลายความหวังว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินดอลลาร์เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 124.01 เยน เมื่อเช้านี้หลังจากร่วงลงสู่ระดับ 124.58 เยนในวันศุกร์ เงินยูโรยังคงอยู่ที่ 1.1097 ดอลลาร์หลังจากขึ้นเกือบ 0.5% เมื่อวันศุกร์ (Reuters)

สหรัฐ:

• ตลาดหุ้นสหรัฐปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากหุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวลงอีกทั้งข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในสหรัฐที่ชะลอตัวทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ (Reuters)

• อัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานในสหรัฐชะลอตัวลงในไตรมาส 2/58ดัชนีค่าจ้างแรงงาน (ECI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในไตรมาส 2/58 เป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 33 ปี ดัชนีดังกล่าวเป็นตัววัดต้นทุนค่าแรงงานได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ดัชนีเพิ่มขึ้น 0.7% ในไตรมาส 1/58 ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ก่อนหน้าว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในไตรมาส 2/58 ซึ่งจะลดความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนนี้ (Reuters)

• พันธบัตรสหรัฐฟื้นตัวเมื่อวันศุกร์ หลังจากการประกาศข้อมูลอัตราการเติบโตของค่าจ้างแรงงานไตรมาส 2/58 ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ค่า benchmark ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์อยู่ที่ 2.2550% ในขณะที่ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น 17/32 จุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 เดือนอยู่ที่ 2.9040% จากเดิม 2.9390% (Reuters)

• ดัชนีความอ่อนไหวของผู้บริโภคลดลง ดัชนีความอ่อนไหวของประชากรสหรัฐ (Consumer Sentiment Index) ลดลงมาอยู่ที่ 93.1 ในเดือนกรกฎาคมจาก 96.1 ในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 13.8% เทียบกับเดือนกรกฎาคมปีก่อน (Reuters)

ยุโรป:

• หุ้นยุโรปปิดบวก ปิดท้ายเดือน ก.ค.ในวันศุกร์ ข่าวควบรวมกิจการและผลประกอบการดีของหลายบริษัท มีผลบวกรวมเหนือการปรับตัวลงของหุ้นโภคภัณฑ์และเหมืองแร่ (Reuters)

• ผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาดีส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ 600 บริษัทของยุโรปในดัชนี STOXX EUROPE 600ที่ได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ไปแล้วนั้น 53% เท่าหรือดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดจากข้อมูลของThomson Reuters StarMineโดยเฉลี่ยในอดีต 48% ของบริษัทเท่านั้นที่เท่าหรือดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดในแต่ละไตรมาส นักวิเคราะห์คาดไตรมาส 2 จะขยายตัว 5.7% YoY (Reuters)

เอเชีย:

• การใช้จ่ายครัวเรือนของญี่ปุ่นลดลงผิดคาดในเดือน มิ.ย. และ เงินเฟ้อชะงักงัน ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวในไตรมาส 2 และทำให้เกิดความสงสัยต่อมุมมองของ BOJ ที่ว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (Reuters)

• อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในโตเกียวลดลง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของทั้งญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.1% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งดีกว่าคาด แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในโตเกียว ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำภาวะเงินเฟ้อของทั้งประเทศ ลดลง 0.1% ในเดือน ก.ค. นับเป็นการลดลงครั้งแรก นับตั้งแต่ เม.ย. 2013 (Reuters)

• การใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่นร่วงลง 2% ตั้งแต่ต้นปีถึง มิ.ย. หลังได้เพิ่มขึ้นไป 4.8% ในเดือนก่อน ผิดจากตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่ม 1.7% (Reuters)

• การเติบโตของบริษัทผลิตสินค้าขนาดใหญ่ชะงักผิดคาดใน ก.ค.เพราะอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศอ่อนแอ จากผลที่เผยในการสำรวจเมื่อวันศุกร์ โดยตัวเลขดัชนีการผลิต (PMI) ยืนอยู่ที่ 50.0 ใน ก.ค. เทียบกับเดือนก่อนที่ 50.2 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 50.2 คือน่าจะขยายตัวแต่ยังคงไม่ราบรื่นนัก (Reuters)

• ภาคบริการจีนปรับตัวดีขึ้นตัวเลข PMI อย่างเป็นทางการของภาคที่ไม่ใช่การผลิตปรับตัวขึ้น 53.9 ใน ก.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 53.8 และชี้ถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง โดยภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นสำหรับ GDP จีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มสัดส่วนมาเป็น 48.2% ปีที่แล้วเทียบกับภาคการผลิตและก่อสร้างเท่ากับ 42.6%(Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันดิบรายเดือนร่วงมากสุดนับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 51 ในวันศุกร์ โดยการร่วงต่อเนื่องใน ก.ค. มาจากตลาดหุ้นจีนที่ลบหนักและสัญญาณจากผู้ผลิตตะวันออกกลางเร่งผลิตน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ น้ำมันดิบสหรัฐปิดลง 1.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (-2.9%) สู่ระดับ 47.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์เดือน ก.ย. ร่วงลง 1.1 ดอลลาร์สหรัฐ (-2.1%) มาอยู่ที่ 52.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยลบไปทั้งหมด 5% ในรายสัปดาห์และ 18% ในรายเดือน (Reuters)

• ทองคำขึ้นวันศุกร์ หลังค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอกว่าคาด แต่ราคารายเดือนยังคงถือเป็นการร่วงลงสูงสุดในรอบ 2 ปีอยู่จากการคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย ทองคำตลาดจรปรับขึ้น 0.8% สู่ 1,095.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำล่วงหน้าสหรัฐส่งมอบ ส.ค.ปิดบวก 0.6% แตะ 1,094.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (Reuters)