'ดอน'ยินดี'กษิต'วิจารณ์ปัญหาค้ามนุษย์ ถือเป็นความห่วงใย

'ดอน'ยินดี'กษิต'วิจารณ์ปัญหาค้ามนุษย์ ถือเป็นความห่วงใย

“ดอน” ยินดี “กษิต” วิจารณ์ปัญหาค้ามนุษย์ ถือเป็นความห่วงใย ยืนยันรัฐบาลแก้ปัญหาถูกทางแล้ว

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์และกฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วิจารณ์การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไม่มีความจริงจังมากพอ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ว่า เรื่องนี้ถือเป็นข้อห่วงใยที่มีอยู่เดิมแล้ว และรัฐบาลได้จัดให้ปัญหานี้อยู่ในแผนของการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามหลัก 5 พี ที่ว่าด้วยการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ 

นายดอน กล่าวว่า หลังจากที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ ทริปรีพอร์ต ให้ประเทศไทยอยู่ในเทียร์ 3 รัฐบาลไม่ได้รู้สึกท้อถอย และจะเดินหน้าแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้ต่อไป  

“สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วก็จะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่จะเพิ่มความจริงจังมากขึ้น ให้การทำงานแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเอกภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการรับรู้ในภาคประชาชน สังคม และองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ อย่างสหรัฐฯ จะมีการรายงานผลการดำเนินการของไทยให้ทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะเดินหน้าป้องกันและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป และพยายามป้องกันเหตุแทรกซ้อน ทั้งในและนอกประเทศที่จะไปมีผลต่อการจัดอันดับทริปรีพอร์ต” นายดอน กล่าว  

เมื่อถามว่าการจัดอันดับให้ไทยอยู่เทียร์ 3 มีปัจจัยจากเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า มีส่วนเช่นกัน แต่ถือเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราก็ต้องยอมรับ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป แต่ส่วนตัวก็มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์นี้มาถูกทางแล้ว และยืนยันจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป ขอให้คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ได้เข้าใจและเห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน 

เมื่อถามว่าจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ มาเป็นคณะทำงานแก้ปัญหาหรือไม่นั้น รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เชิญทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เอ็นจีโอ เข้ามาร่วมประชุมเป็นประจำอยู่แล้ว แต่จะเชิญมารับตำแหน่งในคณะอนุกรรมการฯ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันต่อไปในอนาคต  

เมื่อถามว่าอาจจะมีการรณรงค์ต่อต้านไม่ใช้สินค้าสหรัฐฯ นายดอน กล่าวว่า ขอให้ใช้เหตุผลอย่าใช้อารมณ์เพราะเรื่องนี้เป็นไปตามหลักสากลที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งกฎกติกาเพื่อประเมินประเทศต่างๆ ไว้แล้ว