‘Act’ แบบไหนในอาเซียน ไม่ตกเทรนด์!!

‘Act’ แบบไหนในอาเซียน ไม่ตกเทรนด์!!

Trend สัญญาณบอกสิ่งที่กำลังจะฮอตในอนาคต พัฒนาการ 10 ชาติอาเซียน กำลังเลื่อนไปอีกขั้น ไล่ให้ทัน หากไม่อยากพลาด ปิดเกมก่อนคู่แข่ง

อาเซียนกำลังจะผนึกกันเป็นหนึ่ง ภายใต้ประชาคมอาเซียน ใน 3 เสาหลัก การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2559 นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะหยิบยกมาถกกันบ่อยๆ ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน แห่งนี้ เพราะหากเพิกเฉยกับการเปลี่ยนแปลง

ธุรกิจอาจตก “Trend”

โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทย ที่ควรลุกมาติดอาวุธกลยุทธ์ให้ครบมือ เพื่อฉกฉวยโอกาสการค้าและการลงทุนให้ทัน

ทว่า มีข้อข้องใจถึง 3 เสาหลักของอาเซียนว่าจะรวมเป็น “หนึ่งเดียว” ได้จริงหรือ จากความ “แตกต่าง” กันอย่างสิ้นเชิง ทั้งการเมือง ความเป็นอยู่ของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และขนาดเศรษฐกิจ

นี่จึงเป็น “กำแพง” กั้นชั้นเยี่ยมที่รอวันทลายลง

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมการตลาดนานาชาติ ภายใต้

หัวข้อ“ASEAN in ACTION” People Products Platformsโดยดึงกูรูการตลาดมาบอกเล่าถึงแนวโน้ม โอกาส อุปสรรค และความท้าทายมากมาย ในตลาดอาเซียน

จะออก “แอ็คชั่น” แบบไหน จึงจะได้ใจผู้บริโภค !!

“ศ.ดร.จอร์จ อบอนยี” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เริ่มต้นวิเคราะห์เรื่องถนัดอย่าง “เสาหลักเศรษฐกิจ” โดยหยิบยกกรณีเศรษฐกิจไทย ย้อนไป 25 ปีที่ผ่านมา พบอัตราการเติบโตสูงถึง 3 เท่า แม้อดีตจะเคยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี2540) แต่ไทยก็พัฒนาเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีต่างจากปัจจุบัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์ส่งออกไทยที่ติดลบต่อเนื่อง “สองปีครึ่ง” ส่วนหนึ่งเกิดจากขาดการปรับตัว ยังคงผลิตสินค้าวัตถุดิบป้อนตลาดส่งออก ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศพัฒนาไปไกลกว่า ด้วยการผลิตสินค้า“มูลค่าเพิ่ม”ออกไปจำหน่าย อย่างมาเลเซียที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพาราไปจำหน่ายทั่วโลก

ขณะเดียวกัน ไทยยังต่างจากญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่คิดค้นสินค้านวัตกรรมออกมาตอบสนองตลาดได้อย่างต่อเนื่อง นั่นยิ่งทำให้ไทยสูญเสียประสิทธิภาพในการแข่งขันลงเรื่อยๆ

“แบรนด์ทั่วโลกมาใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตชิ้นส่วนและฐานประกอบสินค้า ไทยจึงเป็นเหมือน Global Value Chain(ห่วงโซ่อุปทานหนึ่งของโลก) แต่ผู้ผลิตไทยก็อยู่ในภาวะ Low Value Added (ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มต่ำ) ติดหล่มในการใช้ประสิทธิภาพที่มี”

ไม่เพียงเศรษฐกิจไทย บริบทเศรษฐกิจอาเซียน ยังน่าจับตา เมื่อการผลิตสินค้าในภูมิภาคนี้มีตลาดหลักอยู่ “นอกกลุ่มอาเซียน” เช่น จีน ยุโรป และสหรัฐ นี่คือความเสี่ยง

“ดีมานด์ตลาดอยู่นอกภูมิภาคมากถึง 77%”เขาย้ำ ที่สำคัญการผลิตสินค้าจำหน่ายอยู่ในตลาดกลางอย่างจีนมโหฬาร กว่า 50% ก่อนที่โรงงานของโลกอย่างจีน จะผลิตสินค้าสำเร็จรูปทั้งไอแพด ไอโฟนส่งออก ไปทั่วโลก เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนเกิดปัญหา จึงกระทบเศรษฐกิจอาเซียน

ชำแหละออกมาแล้ว เหมือน “อุปสรรค” ในอาเซียนค่อนข้างมาก แต่ในร้ายมีดี เพราะ “โอกาส” งามรออยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในปี 2573 จะมาจากเอเชียถึง 40%

“ปี 2563 อาเซียนจะเป็นตลาดใหญ่มากอันดับ3ของโลกรองจากสหรัฐ จีน” ศ.ดร.อบอนยี ระบุ

แต่คำถามคือจะขายสินค้าอะไรให้อาเซียน ที่มีขนาดเศรษฐกิจต่างกันให้ประสบความสำเร็จ!

หัวใจสำคัญคือ การหาตลาดและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้พบ โดยต้องเข้าใจโมเดลธุรกิจที่จะใช้เป็นหมัดเด็ดในแต่ละประเทศ

เช่น ยักษ์ใหญ่อย่าง จีอี (เจนเนอรัล อิเล็คทริค) ที่นำเทคโนโลยีการผลิตเตาไฟฟ้าไปจำหน่ายในพื้นที่ยากไร้ในอินเดียทั้งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยจีอีเลือกที่จะออกแบบเตาไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ที่ทั้งซื้อง่าย ราคาถูก แก้ปัญหาพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

โดยมี“แม่บ้านอินเดีย” เป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม จีอีจึงทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) โดยด้วยการดึงผู้หญิงมาช่วยขายสินค้าอีกแรง จนขยายตลาดไปไกลถึงบังกลาเทศ เป็นต้น

“ไม่ใช่แค่นำเสนอสินค้านวัตกรรม แต่นำคนท้องถิ่นมามีสวนร่วม”

มาถึง “เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม” กันบ้าง “เอ็ดการ์ อาคาไนย” ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์

นวัตกรรมสินค้า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทีเอ็นเอส และ “ดร.อาภาภัทร บุญรอด” กรรมการผู้จัดการ ทีเอ็นเอส ประเทศไทย เจาะลึก “แนวโน้มตลาดผู้บริโภค” (Consumer Marketing Trend)เพื่อให้เข้าใจ “ผู้บริโภคชาวอาเซียน” อย่างถ่องแท้

เริ่มจาก 5 สิ่งสุดท้าทาย (Challenges) นักการตลาด ได้แก่

1.ความหลากหลายทางวัฒนธรรม “แม้ชาติอาเซียนจะมีพื้นที่ใกล้กันแต่เราแตกต่างกันมาก”ทั้งคนในเมืองเล็ก-ใหญ่ คนในแต่ละประเทศ การใช้ชีวิต พฤติกรรมการรับประทานอาหาร รสนิยม เหล่านี้แบรนด์ต้อง “เชื่อมให้ติด” มีแบรนด์อินเตอร์จำนวนมากอยู่ในอาเซียนแล้วอย่าง เคเอฟซี,แม็คโดนัล โดยแบรนด์เหล่านี้ต่างปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับคนท้องถิ่น เช่น รสชาติอาหารให้เข้ากับท้องถิ่น

2.ความแตกต่างของการพัฒนา ทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวของประชากรแต่ละชาติ เช่น สิงคโปร์ที่ห่างชั้นกับอินโดนีเซียมาก ทำให้ตลาดซับซ้อนต่างกัน

3.ความแตกต่างของการบริโภคในแต่ละเมือง เช่น ไทยคุ้นเคยกับการบริโภคแม็คโดนัลมานาน และเพิ่งจัดกิจกรรมตลาดฉลอง 30 ปี ไปเมื่อต้นปี ขณะที่เวียดนามเพิ่งมีสาขาแรก คนต่อคิวล้นหลามเพื่อรับบริการ


4.การเข้าถึงผู้บริโภคออนไลน์ เดลิเวอรี่ หรือขนส่งด่วน (Express) จะทำได้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างสาธารณูปโภคการของประเทศนั้นๆ เช่น ขนส่ง รถไฟ ซูเปอร์ไฮเวย์ เพราะบางประเทศเป็นเกาะ อย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีเกาะแก่งกว่า 2.2 หมื่นเกาะ

5.การสื่อสาร ที่แตกต่างกัน แบรนด์จึงต้องเข้าถึงจิตใจผู้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการให้ได้
นอกจากนี้ ยังมีอีก “7เทรนด์” การเปลี่ยนแปลงของอาเซียน ที่ต้องจับตา คือ

1.ชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือก-เข้าถึงสินค้าและบริการมากขึ้น สินค้าหรูจะไม่จำกัดแค่คนรวยเท่านั้น ระยะสั้นแบรนด์ควรสร้างความพึงพอใจ ประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ช่วยเติมเต็มชีวิตให้มีความสุข ระยะยาวแบรนด์จะทำอย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง

2.การขยายตัวของเมืองบริวารหรือแซทเทิลไลท์ ทาวน์ คนไม่ต้องทำงานไกล คนรวยไม่ได้มีอยู่จำกัดแค่ในเมืองเท่านั้น แบรนด์ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์คนเหล่านี้

3.การบูมของดิจิทัล ที่การใช้งานขยายตัวเร็วขึ้นและแพร่หลาย เป็นอนาคตของอาเซียน แต่กลับพบว่า แต่ละประเทศใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์ต่างกัน ต่างช่วงเวลา และมีอุปกรณ์สื่อสารไม่เท่ากัน
แบรนด์ต้องเลือกว่า จะสื่อสารช่วงใดผ่านแพลตฟอร์มใดจึงจะสร้างการเข้าถึง (Touch Point) ผู้บริโภคได้

4.ความใกล้ชิดกับช่องทางค้าปลีก ด้วยการเพิ่มระบบดิจิทัลเข้ามาเสริมการค้าขายโดยไม่มีการแบ่งแยกช่องทางอีกต่อไป

5.วิวัฒนาการของแรงงาน เมื่อผู้หญิงเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานอาเซียนมากขึ้น

6.การสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วตระหนักถึงการสืบสานวัฒนธรรม การกลับไปสู่สิ่งพื้นฐาน

และ 7.การเดินทางที่ง่ายขึ้นเมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตมากมาย สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อแบรนด์อย่างยิ่ง

“เทรนด์ข้างหน้าบอกให้แบรนด์แอ็คทีฟขึ้น เพราะอาเซียนเป็นตลาดที่ซับซ้อน ยากที่จะทำอะไรที่ครอบจักรวาล แล้วนำไปใช้ได้ทั้งหมด” ดร.อาภาภัทร บอก หากแบรนด์จะคว้าโอกาสตลาดที่เหมาะเธอชี้เป้าไปยัง “เมืองรอง-เมืองเล็ก” เพราะความเป็นเมือง ต้องการทุกอย่าง และประเทศหลายประเทศก็ขยับสู่สังคมเมือง ทั้งเมียนมา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งโตเร็วมาก

ยิ่งแบรนด์เข้าไปได้เร็ว ก็มีโอกาสมากกว่า

ขณะที่ สินค้าอุโภคบริโภคยังโดดเด่นเป็นที่ต้องการพื้นฐาน พ่วงความน่าสนใจไปที่

เซ็กเมนต์ “Affordable premium” หรือสินค้าที่ดูพรีเมียมขึ้นในราคาจับต้องได้ เช่น แบรนด์ เอชแอนด์เอ็ม คือแบรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วไปที่มีกำลังเงินมากขึ้น อยากใช้โปรดักท์เพื่อเสริมสถานะ แต่ยังไม่สามารถใช้สินค้าระดับชาแนลได้

เธอย้ำว่านักการตลาดต้องเข้าใจความแตกต่างของอาเซียนให้ได้ และเข้าใจตลาดว่าควรจะขายอะไร ขายเมื่อไหร่ ขายอย่างไร และใช้สื่ออะไร (6W1H)

“ที่เราพยายามจะพูดวันนี้ว่าอาเซียนคือรุ้ง โอเค ว่ามันคือการรวมตัวเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวกัน แต่นักการตลาดต้องเข้าใจว่า อะไรที่เขาเหมือนกันหรือต่างกัน อย่างเทรนด์ที่เราพยายามชูขึ้นมาคือเขามีเหมือนกัน แม้อยู่ในเทรนด์เดียวกัน แต่ระดับยังไม่เหมือนกัน นักการตลาดต้องบริหารจัดการ ต้องเข้าใจบริบทวัฒนธรรม เพื่อให้รู้ว่าเราจะสื่อสารอะไรจะทำโปรดักท์อะไร”

ดร.อาภาภัทร ยังคาดว่า ภายสิ้นปีนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการตลาดในอาเซียนมากขึ้น

“บิ๊กแบรนด์ที่คมกว่าเร็วกว่า เริ่มเร็วกว่าคนอื่น จะเข้าไปจับจองโอกาสได้เร็วกว่า เพราะโอกาสมันเปิดแล้ว”

ทว่าขุมทรัพย์ไม่ได้เปิดให้แค่ธุรกิจไทย แต่อ้าแขนรับทุกราย

“ดังนั้นเราต้องสู้ จากนี้ไปไทยเราต้องเร็ว” ก่อนทิ้งประโยคห่วงใยว่า

“สิ้นปีเปิดเออีซีเต็มตัว เป็นห่วงธุรกิจไทย หากไม่ปรับตัว อาจเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย เพราะอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ ทำตลาดเชิงรุกค่อนข้างมาก เพราะตลาดบ้านเราก็เป็นตลาดที่หอมหวน เราเล็งตลาดคนอื่น คนอื่นก็เล็งตลาดบ้านเรา เราจะเล่นเกมอย่างไรถึงจะปกป้องตลาดบ้านเรา และไปรุกตลาดคนอื่นได้ ฉะนั้นเรื่องการวางกลยุทธ์ การเข้าใจผู้บริโภคมองเทรนด์ เป็นเรื่องสำคัญกับแบรนด์มาก และที่ห่วงมากคือแบรนด์เอสเอ็มอี”

“โบ เนลสัน” รองประธานอำนวยการระดับโลก-หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภค-บริโภค บริษัท ดีเคเอสเอช เข้าไปจัดจำหน่ายและกระจายสินค้ามากมายในอาเซียน บอกว่า กุญแจความสำเร็จของการทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอาเซียนต้องเข้าใจกฎระเบียบต่างๆให้ดี มีพันธมิตรที่ดี เข้าใจตลาดในเชิงลึก เพราะสินค้าที่จำหน่ายได้และประสบความสำเร็จในประเทศไทยอาจขายไม่ได้ในประเทศอื่น ต้องมีการสำรวจตลาด เช่น สินค้าที่จำหน่ายในลาวต้องมีขนาดใหญ่ เพราะผู้บริโภคซื้อแล้วนำไปแบ่งกันใช้ แต่เวียดนามต้องเป็นขนาดเล็ก

นับถอยหลังอาเซียนเป็นตลาดเดียว เขาฉายอนาคตผ่านมุมมอง “Future of the ASEAN Market : Forecasted Opportunity & Risk/Crisis Management” ว่าโอกาสธุรกิจเกิดแน่จากการเป็นปึกแผ่นของภูมิภาค จะส่งผลเกิดการบริโภคภายในที่แข็งแกร่ง อิงดัชนีชี้วัดจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว 313% ตั้งแต่ปี 2544-2556

สัดส่วนประชากร 1 ใน 11 ของโลกอาศัยอยู่ในอาเซียน การเติบโตของชนชั้นระดับกลางจะเพิ่มเป็น 128 ล้านครัวเรือน ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมี 67 ล้านครัวเรือน โดยเฉพาะประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ที่มีราว 289 ล้านคน ผลักดันตัวเองไปสู่การทำงานเพื่อมีรายได้หวังขยับเข้าสู่การเป็น “ชนชั้นระดับกลาง” มากขึ้น การลงทุนในอาเซียนจะเพิ่มขึ้น เพราะเป็นจุดหมายการลงทุน โดยถือเป็นจุดหมายอันดับ1ของนักลงทุนสหรัฐและยุโรป เป็นสัญญาณการบริโภคที่จะแกร่งยิ่งขึ้น

----------------------
ถอดรหัส “อินเตอร์แบรนด์”
ลุยอาเซียน

มีธุรกิจอุตสาหกรรมบริการเชื่อมโยงโรงแรมกว่า 130 แห่งทั่วโลก ร้านอาหารกว่า 13,000 แห่ง เฉพาะไทยมีโรงแรม 21 แห่ง ร้านอาหารกว่า 1,100 แห่ง “ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์” รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ และนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)เล่า

ขณะที่การทำธุรกิจในเวทีระดับโลก คือความพร้อมทั้งแพลตฟอร์มและการดำเนินการ ข้อมูลหลายอย่างถูกแบ่งปันจากตลาดอาเซียนอย่างพม่า เวียดนาม ที่คร่ำหวอดมานาน แล้วพยายามมองหา “โอกาส” ควบคู่กับการพิจารณาศักยภาพการเติบโตของตลาด

ทว่า “โชคดี” เมื่อการออกนอกบ้าน บริษัทได้พันธมิตรที่ดี(right partner)โดยเฉพาะทุนท้องถิ่นที่มาทำงานช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนกัน

“เราก็ช่วยเขาในการขยายสาขาเขาก็แชร์ข้อมูลกับเราในเรื่องข้อมูลต่างๆ รวมทั้งสายสัมพันธ์ต่างๆ”

วันนี้การบุกอาเซียน เขาแนะนำให้ผู้ประกอบการ“เรียนรู้” พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละตลาด เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า

อาทิ โรงแรมของไมเนอร์ สิ่งที่ดำเนินการ คือหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เข้ามาพักเกิดความพึงพอใจ ให้เกิดการบอกต่อผ่านโลกออนไลน์ โดยไม่ต้องลงทุนทำแคมเปญหรือประชาสัมพันธ์

ภาพไมเนอร์ในอาเซียน คือการเพิ่มสาขาของธุรกิจที่มีอยู่ มองโอกาสขยายตัวผ่านพันธมิตร และให้แฟรนไชส์ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร มุ่งผนึกพันธมิตร ส่วนโรงแรมหากพัฒนาเองต้องใช้งบลงทุนสูง จึงเน้นไปที่การรับบริหารจัดการ“ลงทุนน้อยกว่า แต่ผลตอบแทนก็ยังถือว่าสูงกว่า”

“เชิดพันธ์ สุคนธ์พงษ์เผ่า” ผู้อำนวยการด้านการตลาดระดับภูมิภาค บริษัท Asiapac at Pepsico ซึ่งดูกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็กของยักษ์น้ำดำระดับโลกอย่าง เป๊ปซี่ เล่าว่า เมื่อเป๊ปซี่เริ่มทำตลาดนอกสหรัฐ เพื่อบุกโลกจึงได้สร้างโมเดลธุรกิจขึ้นมาเจาะเส้นทางต่างๆ มีการวางแผนงานเป็นขั้นตอน หายุทธศาสตร์มารองรับการบุกตลาด ซึ่งข้อดีของการเป็นบริษัทระดับโลกคือการเดินกลยุทธ์มักมีโครงสร้างแบบ “Global” เป็นทุนเดิมที่ต่อยอด โดยเฉพาะการออกแคมเปญการตลาดต่างๆ

“การตลาดเรามีโกลบอลทีม ช่วยทำให้สแน็คประสบความสำเร็จสูงมาก”

ปัจจุบันอาเซียน เป๊ปซี่ส่งสแน็คเข้ามาทำตลาดมากมาย เช่น แบรนด์โดรีโทส (Doritos) จับกลุ่มเป้าหมายวัยหนุ่มสาว มี ชีโตส เจาะกลุ่มครอบครัว เลย์อยู่ในตลาดไทยในฐานะผู้นำ สอดคล้องในเวทีโลกว่า สแน็คของค่ายเป๊ปซี่นั้นแข็งแกร่งมาก และเป็นเบอร์ 1 ของโลก โดยที่“คู่แข่งไม่ได้มาใกล้เราเลย”

“เคยทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค มีกว่า 60% ที่ประสบความสำเร็จจากการนวัตกรรมสินค้าและอีก 40% ล้มเหลว” ประโยคสะท้อนการทำตลาดนั้นไม่ง่ายที่” ภีท นุชนาฎนนท์หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิลประเทศไทย หยิบยกมาเล่า ทว่า ความล้มเหลวจะช่วยเพิ่มโอกาสทางความสำเร็จ

วันนี้มี “เงิน” ใช่จะเป็นแต้มต่อให้ธุรกิจเสมอไป ตลาดอาเซียนเปิด จะเข้าเส้นชัยต้องเข้าใจความต่างของแต่ละประเทศ เข้าใจวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมให้ดีพอ กลยุทธ์ที่ใช้แต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง กูเกิลเองวางกลยุทธ์ในไทย เวียดนามก็ไม่เหมือนกัน

การทำธุรกิจของกูเกิลไม่เคยตั้งเป้าหมายจะเติบโต 3% หรือ 5% แต่บริษัทจะหาหนทางให้คนหันมาใช้งานอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจอื่นเติบโตดีขึ้น เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ทำเว็บไซต์ กูเกิลก็จะพยายามเข้าไปช่วยให้องค์กรเหล่านั้นเข้าถึงข้อมูลต่างๆผ่าน“แพลตฟอร์ม”ของกูเกิล ซึ่งเป็นการเอื้อให้บริษัทโตตามเคียงข้างคู่ค้า