หัตถศิลป์ แรงบันดาลใจจากคุณค่า

หัตถศิลป์ แรงบันดาลใจจากคุณค่า

คุณค่าของงาน 'หัตถศิลป์' เพิ่มมูลค่าได้ด้วยการออกแบบที่ดี

เทคโนโลยีสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเพียงใดก็ไม่อาจทดแทน ‘คุณค่า’ ของสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยสองมือของมนุษย์ ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่มาขึ้นเท่าไรยิ่งขับเน้นให้เห็นคุณค่าให้กับงาน ‘หัตถศิลป์’ (Craft) มากขึ้นเท่านั้น คุณค่าของงานหัตถศิลป์ยังเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการออกแบบที่ดี

“คราฟท์ (Craft) มีคุณค่าในตัวเองในฐานะที่เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของที่มา เรื่องของภูมิปัญญา เรื่องของอารยธรรม ในสิ่งที่คนในประเทศนั้นๆ ได้มีการพัฒนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นคราฟท์เป็นต้นทุนของงานในเชิงสร้างสรรค์ในหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในประเทศของเรา” คุณ แสงระวี สิงหวิบูลย์ ผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตศิลป์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ‘SACICT’ กล่าว

“คราฟท์เป็นต้นทุนของงานหลายๆ อย่าง เราอาจจะมีวงการงานไลฟ์สไตล์ งานดีไซน์ หรืองานเฟอร์นิเจอร์ งานสร้างสรรค์อื่นๆ มากมายที่สร้างมูลค่า ที่ถ้านับมูลค่าเป็นเงินมันก็เยอะ แต่ว่าจริงๆ แล้วต้นทุนก็คือคราฟท์ เป็นต้นทุนที่เราพูดถึงคุณค่า ไม่มีใครพูดถึงมูลค่าของมัน เพราะฉะนั้นเรานำเอาสิ่งที่เป็นคุณค่ามาต่อให้เป็นมูลค่า”

การต่อยอดมูลค่าให้กับคุณค่าของงานหัตถศิลป์เป็นที่มาของ หนังสือ SACICT Craft Trend 2016 จัดทำโดย ฝ่ายพัฒนานวัตศิลป์ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตศิลป์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ออกแบบและผลิตโดย นิตยสารบ้านและสวน

“ตอนนี้คราฟท์เป็นเทรนด์ (Trend) ที่ฮอทที่สุดสำหรับโมเดิร์น ดีไซน์ (Modern Design) ..แนวโน้ม (Prediction) เทรนด์ของต่างประเทศจะมีหลายเทรนด์ ซึ่งเน้นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนซื้อ เขาชอบสไตล์นี้ เขาชอบสีนั้น แต่จริงๆ ทุกคนจะต้องเอาคำว่าคราฟท์ ไปแตะกับทุกๆ อย่าง” คุณ เจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารกลุ่มบ้านและการตกแต่ง บริษัท อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าว

“ ..หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่ามันสำคัญขนาดไหน เวลาทำโครงการแล้วอยากจะได้ผลิตภัณฑ์แล้วอยากจะรีบขาย แต่ SACICT พูดคำเดียวเรื่องกระบวนการ (Process) เราลงทุน หลายๆ อย่างเพื่อให้ดีไซเนอร์ไทย ช่างฝีมือไทย ให้คนที่ทำงานทางด้านหัตถศิลป์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของกระบวนการวิธีการคิดก่อนที่จะเร่งเอาเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาขาย


SACICT ในฐานะที่เป็นเหมือนฝ่ายการตลาดส่วนกลางของคนที่ทำงานคราฟท์ทั้งหมดในเมืองไทยก็ถือโอกาสนี้นำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาด (Marketing Tools) สำหรับดีไซเนอร์และช่างฝีมือในเมืองไทย.. พวกเราร่วมกันทำ 4 เทรนด์ขึ้นมา ไม่ใช่ทำขึ้นมาเพื่อให้พวกเรามานั่งลอกเลียนแบบ (Copy) แต่เพื่อให้รู้ว่าถ้าเราทำ 4 เทรนด์นี้ หรืออย่างน้อยคิดตาม 4 เทรนด์ที่เราได้สังเคราะห์มา มีโอกาสที่จะได้ทำการตลาดร่วมกัน เพราะมันเป็นเทรนด์ที่ฮอท”

# เชิงช่างชนรุ่นใหม่-เสน่ห์ของการใช้มือ
“คนเริ่มชื่นชอบเสน่ห์ของการใช้มือ หรือเครื่องมือที่ต้องใช้มือ งานคราฟท์แบบนี้เป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ และทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ก็ลุกขึ้นมาทำกัน แบรนด์ชั้นนำจากอิตาลี แทนที่จะผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้ออกมาดูเนี้ยบเหมือนสมัยก่อนก็มักจะมีมุมหนึ่งหรือจุดหนึ่งในตัวเฟอร์นิเจอร์ที่จะทิ้งคำใบ้ว่า งานชิ้นนั้นจะแพงจะเนี้ยบอะไรขนาดไหนจริงๆ แล้วทำมาจากมือ แล้วกลายเป็นว่าการทำมาจากมือตรงนั้นเป็นมูลค่าเพิ่ม” คุณเจรมัย บอก

“ ..ที่ไปไกลกว่านั้นอีก ไม่ได้แค่ชื่นชมของ ไม่ได้แค่ชื่นชอบเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว แต่ไปไกลกว่าถึงขนาดคิดค้นเครื่องมือที่จะผลิตงานคราฟท์ของตัวเองขึ้นมา ทำให้คนที่จะซื้อได้มีส่วนร่วมกับการผลิต.. ดีไซเนอร์จากเดนมาร์กตอนที่เราไปเห็นงานเขาก็จะเห็นเซรามิกที่เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่ย่นๆ โอเคมันก็แค่เซรามิกหน้าตาแปลกๆ แต่ว่าเขาขายที่กระบวนการ เขาคิดค้นเครื่องที่เป็นเหมือนถังน้ำมัน เอาดินเหนียวใส่ลงไป มีไม้ท่อนหนึ่งลงไปกดไว้ แล้วใช้ค้อนเหล็กตีเข้าไปจนดินเหนียวปลิ้นขึ้นมากลายเป็นภาชนะนั้น

..โคมไฟเซรามิกเหมือนกัน เขาประดิษฐ์เครื่องจับแล้วก็หมุนมีตัวพ่นไฟความร้อนสูงไปรอบๆ ให้เกิดเป็นลวดลาย (Pattern) จากความร้อนที่กัดผิวเซรามิก เป็นโคมไฟบ้าง เป็นภาชนะบ้าง อย่างที่บอก ถ้าเราดูที่ผลิตภัณฑ์ก็อาจจะ เออ.. สวยดี แต่แล้วไง เดี๋ยวก็คงทำเลียนแบบได้ พิมพ์ลายเลียนแบบได้ แต่ถ้าเราดูกระบวนการ เขาขายผลิตภัณฑ์นี้ที่กระบวนการของการผลิต”

# ชนเผ่าชาวร่วมสมัย-เสน่ห์ของท้องถิ่น
“การดึงเสน่ห์ของท้องถิ่น พื้นถิ่น ชนกลุ่มน้อย.. เป็นเรื่องของการปลื้มในลวดลาย วิถี ภูมิปัญญา (Wisdom) และเทคนิค ที่อาจจะเป็นเรื่องพื้นถิ่นนำมาประยุกต์ใช้กับสมัยใหม่ ดีไซเนอร์ไทย คุณ ณัฐพงศ์ สารพูนทรัพย์ ทำงานร่วมกับ SACICT ในโครงการ Craft Design Awards เป็นการดุนลายเครื่องเงินของเชียงใหม่ ซึ่งการดุนลายส่วนใหญ่ดุนจากข้างในข้างเดียว สวยข้างนอกด้านในจะบุ๋มๆ แต่เขาไปหาเทคนิคในการดุนลายสองด้าน ทำให้ไม่มีด้านหลังไม่มีด้านใน สวยทั้งสองด้านเกิดแสงเงา และเป็นเรขาคณิตที่ไม่ใช่เป็นกลมๆ แต่เป็นสี่เหลี่ยมทันสมัย” คุณเจรมัย ยกตัวอย่างเทรนด์ของงานหัตถศิลป์จากเสน่ห์ของท้องถิ่น

# สัมผัสต่างจากอาเซียน-บุคลิกของความเป็นตะวันออก
“ทุกคนจะเห็นว่ามีงานที่เป็นบุคลิกของความเป็นตะวันออกอยู่ในบริบทของงานออกแบบทั่วโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่ส่วนมากที่เราเห็นต่างประเทศมันกลายเป็นงานของดีไซเนอร์ทางฝั่งตะวันตก ไม่ใช่ทางฝั่งเราเป็นคนคิด คือเขามาปลื้มงานของเราแล้วเขาเอาไปพัฒนาต่อ ถึงเวลาแล้วที่เราจะมองให้ลึกกว่าลายกนก ลงรักปิดทอง รูปยักษ์ รูปทุเรียน อะไรที่มันง่ายๆ ..ถ้าคิดได้แค่นั้น เราก็เป็นลูกเล่น (Gimmick) ให้ฝรั่งเล่น แต่ถ้าเราลงได้ลึกกว่า ผมว่าเราไปได้ไกลกว่าเพราะเรารู้กระบวนทัศน์ของทุกๆ อย่าง การสานแบบนี้มันเกิดมาจากอะไร ลวดลายนี้มันเกิดจากอะไร มันเป็นสีแบบนี้เพราะอะไร เรารู้มากกว่าฝรั่งที่มาเรียนรู้ทีหลัง” คุณเจรมัย บอกและยกตัวอย่างว่า

“ผมชอบงานของคุณ รัฐ เปี่ยมสุข ที่ทำให้ SACICT เป็นการลงรักปิดทอง เทคนิคยังเหมือนเดิมแต่คิดว่ากราฟฟิกไม่ต้องเหมือนเดิม มีการเก็บลายดอกโบตั๋นไว้แต่ลดบางอย่าง กลายเป็นงานที่เป็นเรขาคณิต (Geometry) มองผ่านๆ ก็ โอเค.. ลายลงรักปิดทอง แต่ถ้าดูใกล้ๆ ไม่ใช่ มันทันสมัยกว่าเดิม และถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่บานประตู ไม่ใช่อะไรที่อยู่กับวัด”
อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นงานฝีมือในสไตล์ญี่ปุ่น

“อันนี้เราไปดูงานของ ‘nendo’ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเป็นสตูดิโอที่มีชื่อเสียง แต่ไม่ได้ทำแบรนด์เพื่อขายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง nendo ทำงานออกแบบให้กับหลายๆ แบรนด์ของฝรั่ง.. เราจะคิดว่าเทคนิคทางด้านงานไม้ (Carpentry) เป็นอะไรที่อยู่มานาน ไม่ค่อยจะมีอะไรใหม่ ไม่จริง.. มันยังมีอะไรให้ต่อยอดได้ แม้กระทั่งคราฟท์บางอย่างที่เราคิดว่ามันจบแล้ว อย่างงานไม้เราคิดว่ามันจบแล้ว ..ญี่ปุ่นเขายังไม่ลดละที่จะพัฒนางานไม้แบบตะวันออก งานไม้แบบญี่ปุ่นให้มีชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ .. ”

ศิลปะแห่งธรรมชาติ-จินตนาการจากธรรมชาติ
“ ..สภาวะทางธรรมชาติ ผมไม่ได้พูดว่ามันเป็นลวดลายหรือสีสัน เป็นการจินตนาการว่าในธรรมชาติมีอะไรแล้วเอามาใช้ในการออกแบบ งานของคุณ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของ SACICT Craft Awards เหมือนกัน เป็นเทคนิคการทำกรงนกเขาเป็นโคมไฟ แต่ว่าไอเดียฟอร์มมาจากรูปทรงของจาก ถ้าคนไม่ปลื้มเรื่องเทคนิคก็ต้องปลื้มเรื่องฟอร์ม” คุณเจรมัยยกตัวอย่าง

ตัวอย่างบางส่วนจากหนังสือ SACICT Craft Trend 2016 คือสิ่งสะท้อนให้เห็นงานหัตถศิลป์ในมุมมองใหม่ที่เติบโตไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

“คราฟท์ตอนนี้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ เราเห็นงานคราฟท์อยู่ในที่ๆ คนรุ่นใหม่เขาอยู่กัน อยู่ในบริบทที่เราไม่คิดว่ามันควรจะเป็น เราเห็นภาชนะจักสานถูกใช้เป็นโคมไฟ เราชื่นชม (Appreciate) มันว่าเป็นงานคราฟท์ เราชอบที่มันลดความแข็งกระด้างให้กับงานตกแต่งภายใน ซึ่งมัน Minimal หรือเป็นอะไรที่น้อยๆ นะครับ ทำให้งานที่แข็งเกินไปกลายเป็นงานที่ดูมีลายมือของคน มีความเป็น Human Touch เข้ามาในงานดีไซน์ของปัจจุบัน” คุณเจรมัยกล่าว

สิ่งที่จะช่วยให้งานหัตถศิลป์พัฒนาไปได้มากยิ่งขึ้นคือการร่วมมือกันระหว่างนักออกแบบและช่างฝีมือ

“ดีไซเนอร์คงนั่งคิดอยู่ในสตูดิโอคนเดียวไม่ได้ ช่างฝีมือที่มีทักษะที่สืบทอดมาคงก้มหน้าก้มตาทำ ต่างคนต่างทำไม่ได้ สิ่งที่ SACICT ทำแล้วประสบความสำเร็จที่สุดคือการจับคู่ ดีไซเนอร์สองคนที่มาจากคนละสายงาน (Field) การจับคู่ช่างฝีมือกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ จับคู่ดีไซเนอร์รุ่นเก่ากับช่างฝีมือรุ่นใหม่ ..ถ้าเราไม่ได้มองว่าผลิตภัณฑ์ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่มองว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไร ผมว่ามันต่อยอดได้เยอะ วิธีการที่จะทำได้คือการร่วมงานกันของคนที่มาจากสองมุม” คุณเจรมัย บอก

“ตัวอย่างการร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ต่างประเทศ ที่จริงๆ แล้วเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์กับช่างจักสานที่เวียดนาม ทั้งสองคนไม่รู้จักกัน ช่างจักสานไม่ได้รู้เรื่องเทรนด์ ไม่รู้ว่าฝรั่งชอบอะไร ดีไซเนอร์คนนี้อายุมากระดับอาจารย์แล้ว ไม่เคยทำงานจักสานมาก่อน ได้มาเจอกันใช้เวลาสองถึงสามเดือนในการคิดกันว่าจะทำอะไร แล้วออกมาก็ได้เป็นงานที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ดี

..อีกตัวอย่างที่ดี เป็นบริษัทใหญ่ที่ส่งดีไซเนอร์ออกแบบกราฟฟิกบนผืนผ้าไปที่ประเทศอินเดีย ถ้าถูกส่งไปที่อินเดียทุกคนจะทำงานที่มีสีสัน ระยิบระยับ สีจัดจ้านแน่นอน ทุกคนก็จะมีคำตอบง่ายๆ (Simplify Answer) สำหรับอินเดียเรียบร้อยแล้ว งานจะน่าเบื่อมาก ดีไซเนอร์คนนี้เขาตั้งใจเลยว่าฉันจะทำงานขาวดำ ดูสิว่ามันจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราตั้งโจทย์ให้ยากเข้าไว้แล้วไม่รู้คำตอบ เขาไปร่วมกับมหาวิทยาลัยแฟชั่นเทคโนโลยีที่นิวเดลี ร่วมกับเด็กอินเดียร่างภาพขาวดำโดยคนอินเดีย จับเรื่องราวความเป็นอินเดียของเขาจริงๆ เกิดเป็นลวดลายที่เกิดจากคนอินเดีย”


เมื่อพูดถึง งานหัตถศิลป์ จุดเด่นที่คนนึกถึงคือ ความเฉพาะที่มีเพียงหนึ่งเดียว (Unique) การทำทีละชิ้น ความช้าในการผลิต แต่ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์งานที่ได้มาตรฐานสู่ตลาดสากล

“อย่างแรกที่ต้องมีคือความอดทน.. เรื่องของฝรั่งที่ถูกส่งมาทำงานที่อินเดียจริงๆ นั่นคือแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ‘อิเกีย’ (IKEA) สิ่งสุดท้ายที่เราจะนึกถึงอิเกียคือคราฟท์ แต่ไม่จริง จริงๆ เขาเริ่มจากคราฟท์เกือบจะทุกโครงการ เมื่อเขาหมดหนทาง (resource) ที่จะทำหน้าที่ได้ในสวีเดนแล้ว หรือคิดไม่ออกแล้ว เขาใช้วิธีสุ่มจับดีไซเนอร์ที่ไม่รู้อะไรเลยจับคู่กับ in house designer แล้วส่งไปโลกที่สาม เพื่อจะกลับมาพร้อมอะไรบางอย่างที่เขาคิดไม่ได้ในสตูดิโอ ได้เป็นงานคราฟท์ ที่มีความ unique ผลิตช้า ผลิตยาก ผลิตแพง ขนส่งไม่ได้ จากนั้นเมื่อได้มาเป็นฟอร์มที่เขาคิดว่าตลาดรับได้แล้ว เขาใช้เวลาสองปีในการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐาน UL (Underwriters' Laboratories Inc. - ห้องปฏิบัติการ รับรองความปลอดภัยของสินค้า) ..ให้ขายได้ทั่วโลก ถ้าขายได้ทั่วโลกก็จะผลิตได้เยอะขึ้น เมื่อผลิตได้เยอะขึ้นต้นทุนก็จะลง เมื่อต้นทุนลงคนหลายๆ คนก็จะเริ่มซื้อได้ เมื่อคนหลายๆคนซื้อได้เราก็เริ่ม mass produce ได้” คุณเจรมัย อธิบาย

“หลายคนพูดว่าคราฟท์เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นเรื่องที่มีส่วนจริง แต่เราเห็นตัวอย่างหลายตัวอย่าง เรารู้อยู่แล้วว่าการทำงานคราฟท์ออกมาให้เปรียบประดุจออกมาจากเครื่องจักรเลย ผ่านมาตรฐานทุกอย่างมันก็ทำได้ แต่คำถามคือมาตรฐานเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่ามาตรฐานของใคร มาตรฐานลูกค้าหรือว่ามาตรฐานของตัวเราเอง มาตรฐานในโลกนี้ไมได้มีมาตรฐานเดียวเพราะฉะนั้นคงต้องเลือกก่อนว่าเราจะลุล่วง (complete) ในมาตรฐานใคร หลังจากนั้นทุกอย่างมันใช้เวลาและความอดทนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่คราฟท์จะแตกต่างจากอุตสาหกรรมคือ เราจะทำอย่างไรให้ความไม่สมบูรณ์แบบ (imperfection) เป็นความสมบูรณ์แบบ (perfection) อันนั้นคือสิ่งที่เราต้องคิด” คุณแสงระวี กล่าวเสริม

ความกังวลต่อช่างฝีมือที่ลดน้อยลงและขาดการสืบทอด คุณเจรมัย บอกว่า

“พูดถึงเรื่องของ ช่างจากไป (dying out) จริงๆ แล้วต้องถามว่าคราฟท์สูญตามช่างฝีมือไปหรือเปล่า เราบังคับให้คนรุ่นที่สอง รุ่นที่สาม เป็นช่างฝีมือเหมือนปู่เหมือนพ่อเขาไม่ได้ แต่เราสามารถปรับปรุง (innovate) ให้เทคนิคงานคราฟท์เหล่านั้นอยู่ได้ในยุคนี้ สภาพปัจจุบัน ตลาดปัจจุบัน บริบทปัจจุบัน ซึ่งการที่เราจะเก็บรักษาอะไรบางอย่างไว้มันมีสองอย่าง อย่างแรกคือเก็บไว้ให้พังคือเก็บเอาไว้ กับทำให้มันถูกต้องกับบริบท

ถ้าเรานึกถึงตึกแถวในเมือง เราบอกมันมีคุณค่าแล้วเก็บเอาไว้เฉยๆ เป็นบ้านคนมันก็จะตาย แต่ถ้าเราไม่ลืมว่าตึกแถวเป็น street activity มันต้องเป็นร้านค้านะ มันต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบ (reaction) กับคนที่เดินฟุตบาทนะ อันนั้นต่างหากคือการเก็บมันไว้ให้อยู่ต่อได้ คราฟท์ก็เหมือนกัน.. ”

ยังมีรายละเอียดและแรงบันดาลใจอีกมากมายในหนังสือ SACICT Craft Trend 2016 เพราะคุณค่าของงานหัตถศิลป์คือต้นทุนอันมหาศาล ดังที่คุณแสงระวี บอกว่า

“ ..เรากำลังพูดถึงแรงบันดาลใจที่เราได้จากงานคราฟท์ เราสามารถเอามาแตกได้เป็นหลายสิ่งหลายอย่าง รายละเอียดเล็กๆ ในการทำหัตถกรรมสักอย่างหนึ่งอาจจะกลายเป็นตึกใหญ่มากที่มีคนเข้าไปใช้งานเยอะมาก หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เป็นต้นทุนที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง”