STEC กู้วิกฤติ 'รับเหมา 'Take Off สู่งานใหม่

STEC กู้วิกฤติ 'รับเหมา 'Take Off สู่งานใหม่

เมื่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศชะงัก บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นจำต้องกู้ฐานะการเงิน ฟื้นราคาหุ้น ด้วยการเทคตัวสู่ธุรกิจใหม่

ภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่ 'ซบเซา' มาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน หลังขั้นตอนการเบิกจ่ายโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลล่าช้า เนื่องจากเมืองไทยประสบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ประสบปัญหา 'กำไรหด' บางรายถึงขั้น 'ขาดทุน'

โดยเฉพาะ TOP3 ของเมืองไทย อย่าง บมจ.ช.การช่าง หรือ CK บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC ซึ่งในปี 2557 CK มีกำไรสุทธิ 2.2 พันล้านบาท (มีกำไรจากการขายเงินลงทุนบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL1.0 พันล้านบาท) ITD 522 ล้านบาท และ STEC 1.52 พันล้านบาท เทียบกับปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 7.67 พันล้านบาท (มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบมจ.น้ำประปาไทย และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงทพ) 907 ล้านบาท 1.73 พันล้านบาท ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ทำให้รับเหมาก่อสร้างบางรายจำต้อง 'ปิดจุดเสี่ยง' ด้วยการแตกตัวออกไปสู่ธุรกิจอื่น เพื่อเรียกศรัทธาจากผู้ถือหุ้นคืนกลับมา 'เบิร์ด-ภาคภูมิ ศรีชำนิ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC ตอกย้ำเรื่องนี้ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า

'ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทประมูลงานใหม่ได้เพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 2557 ที่สามารถประมูลงานใหม่ได้มากถึง 2 หมื่นล้านบาท นั่นเป็นเพราะรัฐบาลเคาะโครงการขนาดใหญ่ล่าช้า'

เมื่อสถานการณ์อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังคงตกอยู่ในอาการเซื้องซึมเช่นนี้ เราคงต้องลุกขึ้นมา 'ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่' วิธีการ คือ กระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทงานที่ว่า คือ 'ออกไปหางานต่างประเทศ-รุกงานสัมปทาน-แตกไลน์สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์'

เขา ยอมรับว่า แม้ในอนาคตบริษัทอาจมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า STEC ยังคงยกให้ธุรกิจก่อสร้างเป็นงานหลัก (Core Business) เหมือนเดิม เพราะเป็นงานที่มีความถนัดมากที่สุดถึงแม้ว่า ธุรกิจก่อสร้างจะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจและการเมืองก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้อยู่เหนือการควบคุมปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้เกือบ 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ฉะนั้นเมื่องานในประเทศชะลอตัว หลังรัฐบาลไม่อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โดยเฉพาะในแถบอาเซียน

สำหรับแผนการโกอินเตอร์ บริษัทจะเน้นลงทุน ด้วยนโยบายอนุรักษ์นิยมทั้งเรื่องต้นทุน และความสามารถในการทำกำไร โดยจะเลือกลงทุนในประเทศที่คิดว่า 'เราสามารถควบคุมต้นทุนได้'

ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปชิมลางงานต่างประเทศบ้างแล้ว หลังชนะการประมูลงานก่อสร้างถนน ประเทศลาว มูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวรัฐบาลลาวได้รับวงเงินกู้ 80% จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง (สพพ.) อย่างไรก็ดีภายใต้สัญญาเงินกู้ดังกล่าวระบุไว้ว่า รัฐบาลลาวต้องใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างคนไทยทำงานนี้เท่านั้น

'สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีงานลักษณะนี้อีกมาก ทั้งในประเทศพม่า,ลาว และกัมพูชา ฉะนั้นเราก็คงติดสอยห้อยตามเข้าไปประมูลงานในประเทศ ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน'

'กรรมการผู้จัดการ' ตอบคำถามที่ว่า บริษัทสามารถรับงานโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานของกระทรวงการคลังได้หรือไม่ เราสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ 1.การลงทุนต้องต่ำและไม่มีความเสี่ยง ที่สำคัญต้องได้รับเงินจากการทำงานชัวร์ๆ ซึ่งเป้าหมายของ STEC คงไม่ใช่งานของเอกชน แต่จะเป็นงานของภาครัฐมากกว่า 2.ถ้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรคงจะเป็นพันธมิตรที่มาจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ คงจะไม่จับมือกับเอกชนในประเทศนั้นๆ

ปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงที่ STEC จะจับมือกับญี่ปุ่นในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศพม่า เบื้องต้นญี่ปุ่นจะขายเทคโนโลยีและอุปกรณ์ ส่วนบริษัทจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยการลงทุนโรงไฟฟ้า 1 แห่ง มีมูลค่าหลักพันล้านบาท 'ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงออกจากงานในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะชะงัก'

'ภาคภูมิ' บอกว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุน “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ผ่านมา STEC ได้ซื้อที่ดินทำเลดีๆ ไว้หลากหลายแปลง เช่น ที่ดินบนถนนบางนา กม.4.5 (ริมถนนศรีนครินทร์) จำนวน 20 กว่าไร่

ขณะเดียวกันยังมีที่ดิน ย่านพระราม 3 (ใกล้สะพานแขวนข้ามไปพระราม 2) ซึ่งที่ดินตรงนี้ทำเลค่อนข้างสวย เพราะด้านหน้าติดถนนพระราม 3 ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 8 ไร่ และยังมีที่ดินติดทะเลแถวหัวหิน (ระหว่างหัวหิน-ชะอำ) จำนวน 14-15 ไร่

'บริษัทมีกระแสเงินสดเหลืออยู่มาก แถมยังไม่มีหนี้สิน ที่สำคัญไม่มีดอกเบี้ยจ่าย มีแต่ดอกเบี้ยรับ ดังนั้นควรนำเงินสดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น สะสมที่ดิน ฉะนั้นหากเจอที่ดินที่มีศักยภาพ เราก็จะซื้อเก็บไว้ ปัจจุบันราคาที่ดินที่มีอยู่ในมือสูงขึ้นอย่างมาก เฉลี่ย 2-3 ร้อยล้านบาท'

ความคิดที่ผันตัวเองมาเป็น “ดีเวลลอปเปอร์” ยอมรับว่า กระบวนการยังอยู่ในขั้นศึกษา เขาย้ำ เพราะการนำที่ดินมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยในปัจจุบันยังไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไรนัก เห็นได้จากการนำผลประกอบการงานก่อสร้างมาเปรียบเทียบกับงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังค่อนข้างแตกต่าง พูดง่ายๆ 'งานก่อสร้างกำไรดีกว่า'

ฉะนั้นวันนี้คงต้องเน้นงานก่อสร้างไปก่อน แต่ถ้าจังหวะได้เราพร้อมลุย ยกเว้นว่า ที่ดิน แถวพระราม 3 เกิดบูมขึ้นมา หรือที่ดินย่านศรีนครินทร์มีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองวิ่งผ่าน เราก็อาจหยิบที่ดินนั้นมาสร้างกำไร หรือช่วงนั้นขายที่ดินแล้วได้กำไรดีกว่าหลายเท่าตัว เราก็จะทำ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาวะอุตสาหกรรม

'เอ็มดี' พูดต่อว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการสัมปทานของภาครัฐ หลังรัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางด่วน และโรงไฟฟ้า เป็นต้น ปัจจุบันเรากำลังพิจารณาว่า “โครงการใดมีความเสี่ยงน้อยที่สุด'

'งานเกี่ยวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากให้เอกชนทำคนเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นรัฐจึงต้องช่วยลงทุนด้วย สุดท้ายจะเห็นเราร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ คงต้องดูเงื่อนไขของรัฐอีกครั้ง'

ส่วนตัวมองว่า ธุรกิจสัมปทานที่ทำแล้วเกิด 'ความคุ้มทุน' คือ 'โรงไฟฟ้า' ฉะนั้นหากเห็นโอกาสเราร่วมลงทุนแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเป็นเจ้าตลาดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เห็นได้จากตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ที่มีมากกว่าครึ่ง บางปีเรามีสัดส่วนรายได้จากการสร้างโรงไฟฟ้ามากถึง 10-20% ปัจจุบันการแข่งขันก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังไม่รุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่คู่แข่งจะเป็นรายใหญ่และรายกลางหน้าเก่าๆ เช่น บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD และบมจ.ช.การช่าง หรือ CK

เขา พูดถึง 'จุดเด่น' ของ STEC ว่า แม้วันนี้เราจะเป็นรองยอดแบ็กล็อกเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าอื่น แต่เราโดดเด่นเรื่องความสามารถในการทำกำไร เห็นได้จากตัวเลขอัตรากำไรสุทธิที่อยู่สูงถึง 7% เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ ที่มีอัตรากำไรสุทธิเหวี่ยงขึ้นลงตลอดเวลาบางรายถึงขั้นติดลบ นั่นเป็นเพราะเราเน้นทำงานที่มีกำไรสุทธิ (BOTTOM LINE) มากกว่ายอดขายหรือรายได้ (TOP LINE) เราไม่ต้องการเติบโตก้าวกระโดด จากปีละ 2 หมื่น เป็น 5 หมื่น แต่เราต้องการขยายตัวอย่างช้าๆ เฉลี่ยปีละ 15-20% ได้เท่านี้ก็พอใจแล้ว ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานภาครัฐ 50% และภาคเอกชน 50%

'ไม่ทำอะไรที่มีความเสี่ยง แต่จะขอเติบโตสม่ำเสมอ และจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นทุกปี' เอ็มดีภาคภูมิ ย้ำ

เขา บอกว่า ที่ผ่านมาเอกชนที่ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทำงานบนความหวังที่ว่า จะได้รับงานขนาดใหญ่จากภาครัฐ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาแล้ว 2 ปี ไล่มาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนที่บอกว่า จะลงทุนโครงการลงทุนมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท มาถึงรัฐบาลชุดนี้ที่บอกว่า จะเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท ล่วงเลยมา 7 เดือน ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เมื่อไม่ได้ตามที่หวัง ก็ดูเหมือนสถานการณ์รับเหมาก่อสร้างจะตกอยู่ในภาวะซบเซาต่อไป

แต่ STEC มีความเชื่อลึกๆว่า ความหวังใกล้จะเป็นจริงแล้ว เพราะรัฐบาลอาจเริ่มอนุมัติโครงการ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ เป็นต้น ล่าสุดความคืบหน้าระหว่างรัฐบาลไทย-จีน และ รัฐบาล-ญี่ปุ่น ไปไกลมากแล้ว

ตามแผนรัฐบาลจะเคาะโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง มูลค่ารวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดย 3 เส้นแรก อาจผ่าน EIA ภายใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนอีก 3 เส้นทางหลัง จะอนุมัติในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 เฉลี่ยเงินลงทุนเส้นทางละ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราจะเข้าประมูลทั้งหมด จากการประเมินคู่แข่งและสถิติที่ผ่านมา บริษัทมีความเชื่อว่า จะชนะการประมูล 1-3 เส้นทาง

'งบประมาณภาครัฐปกติยังคงมีออกมาเรื่อยๆ ทั้งของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง มูลค่าเฉลี่ย 500-1,000 ล้านบาท ส่วนงานขนาดใหญ่ไม่ต้องพูดถึงไม่มีเลย ทุกวันนี้ผู้รับเหมารายใหญ่ได้งานหลักหมื่นล้านมาทำก็เป็นงานเมกะโปรเจคแทบทั้งนั้น'

ผู้บริหาร ย้ำว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะมีแบ็กล็อกเข้ามาเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานของภาคเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ,ห้างสรรพสินค้า และโรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่ารวมหมื่นล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อกประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2559-2560

สำหรับรายได้ในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้จำนวน 2.19 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะรับรู้รายได้จากงานประมูลที่เกิดขึ้นในปีก่อนทั้งหมด วันนี้ต้องยอมรับว่า ความล่าช้าของรัฐบาลได้ลามไปถึงงานของเอกชนแล้ว เพราะเอกชนเริ่มไม่มั่นใจ

แต่เราเชื่อมั่นว่า ในปี 2559 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะกลับมา“ศึกคัก”เนื่องจากถึงเวลาแล้วที่โครงการขนาดใหญ่จะต้องได้รับการอนุมัติ หลังเสียเวลามานาน ประกอบกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังจะเปิด แต่เมืองไทยยังไม่ได้เริ่มลงทุนอะไรเลย ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ถ้าภาครัฐไม่ใช้การลงทุนเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจคงขยายตัวลำบาก เพราะเมื่อประชาชนไม่มั่นใจ ก็ไม่จับจ่ายใช้สอย 'ไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน'

'รัฐอนุมัติโครงการออกมาใหม่คงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ถือว่า เป็นการฉีดยาที่ตรงจุดที่สุดแล้ว'

สุดท้าย 'ภูมิภาค' บอกว่า ปัจจุบันหุ้น STEC มีทั้งนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนวีไอ เข้ามาถือลงทุน ส่วนใหญ่เน้นถือยาว ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ เห็นด้วยกับนโยบายของเราที่ว่า 'อย่าไปทำงานที่มีความเสี่ยงสูง' ปัจจุบันเรามีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างชาติ ประมาณ 25% 


'อยากให้นักลงทุนมอง STEC เป็นหุ้นพื้นฐาน มากกว่าหุ้นหวือหวา'