ดิจิทัลอีโคโนมีบูมอุตฯซอฟต์แวร์ คาดปี 58 ตลาดรวมโต 11%

ดิจิทัลอีโคโนมีบูมอุตฯซอฟต์แวร์ คาดปี 58 ตลาดรวมโต 11%

ซิป้า-ทีดีอาร์ไอ เผยผลสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ คาดปีนี้โต 11.1%

ผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปี 2558 จะมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศประมาณ 61,096 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 11.1%

ทั้งนี้ จำแนกตามประเภทเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 15,973 ล้านบาท เติบโต 6.3% และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 45,113 ล้านบาท เติบโต13%

ขณะที่ ปี 2559 ตลาดซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2558 คือประมาณ 12.8%ตามประเภทซอฟต์แวร์สำเร็จรูปและบริการซอฟต์แวร์จะเติบโต 7.4% และ 14.7% ตามลำดับ รับอานิสงส์การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวปี 2558 จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 11% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,841 ล้านบาท ปี 2559 จะเติบโตต่อเนื่องประมาณ 13.9% และจะยิ่งเป็นบวกหากอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว ประกอบกับแรงหนุนสำคัญคือ การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และแวร์เอเบิล ดีไวซ์

เอกชนอุดช่องโหว่รัฐแผ่ว
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปีนี้แนวโน้มตลาดภาครัฐยังคงชะลอ จากปัจจัยความเข้มงวดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับงาน และการปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง

ดังนั้น ผู้ประกอบการได้เบนเข็มมาทางภาคเอกชน รวมถึงบุกหนักตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก ท่องเที่ยวและโรงแรม อีกด้านแนวโน้มลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดกลางหันมาสนใจบริการรูปแบบซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิสมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจเกิดรูปแบบธุรกิจที่มีแหล่งรายได้หลากหลาย และการใช้ซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนธุรกิจ จากนี้จะได้เห็นผู้ผลิตพัฒนางานที่เฉพาะสาขา หรือเหมาะกับการใช้งานเฉพาะรายอุตสาหกรรม

ขณะที่ต่อไปเทรนด์โมบิลิตี้ อีคอมเมิร์ซ คลาวด์คอมพิวติ้ง จะกลายเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก ที่น่าจับตามองในอนาคตคืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ โดยมีผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อนภาคธุรกิจ

ข้อมูลระบุว่า การใช้สมาร์ทโฟน และแทบเล็ตในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2557 ที่มีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนราว 32 ล้านคน คาดว่า ปี 2562 จะเพิ่มไปเป็น 55 ล้านคน ปีเดียวกันดังกล่าว แทบเล็ตจาก 3 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน พีซี 12 ล้านเป็น 20 ล้านคน ทีวีที่เชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ 5 ล้านเป็น 22 ล้านคน ส่วนแวร์เอเบิลดีไวซ์จาก 1 แสน กลายเป็น 1.2 ล้านราย

เศรษฐกิจดิจิทัลเร่งปฏิกิริยา
เขาประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจโดยรวมที่เติบโตต่ำแม้ตลาดภาครัฐชะลอ แต่การขยายตัวฝั่งเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและตลาดระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยชดเชยได้

“เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้ 2% หรืออย่างมากเป็นไปได้ถึง 3% ด้วยการเติบโตที่น้อยกว่าในอดีตทำให้มีความรู้สึกว่าไม่สดใส ทว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดซอฟต์แวร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมอยู่บนเทรนด์ใหม่คือการก้าวเข้าสู่ดิจิทัลอีโคโนมี”

ด้านผู้ประกอบการที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว ต้องสร้างทรัพย์สินทางปัญญาจากการผลิตซอฟต์แวร์คุณภาพสูงที่ตอบโจทย์เฉพาะสาขาธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว ทว่าแนวทางปฏิบัติยังหลงทาง ที่ผ่านมาพยายามขับเคลื่อนโดยรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่จะให้เหมาะต้องให้เอกชนเป็นผู้นำ อีกด้านก่อนหน้านี้ที่เลื่อนการประมูล 4 จีให้ช้าออกไป มีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ซึ่งโมบายมีอิทธิพลอย่างมาก
แนะรัฐเร่งหนุนเบื้องหลัง

ประธานทีดีอาร์ไอแนะว่า บทบาทรัฐควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเปิดตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น แนวทางเช่นสนับสนุนให้ร่วมงานแสดงสินค้า ในภาวะที่การส่งออกของไทยประสบปัญหา ควรหันมาส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบริการที่ยังเติบโตได้ดีสวนกระแส

นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญต้องเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม โดยสร้างองค์กรตัวกลางเพื่อกำหนดมาตรฐานของอาชีพและประกันคุณภาพ มากกว่านั้นประชาสัมพันธ์พร้อมรับนักเรียนเข้าโครงการ เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ขณะเดียวกันสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการด้วยการอุดหนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างแรงจูงใจนักเรียนด้วยการออกใบประกาศนียบัตรพิเศษ

เขา กล่าวต่อว่า อีกแนวทางสนับสนุนแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติให้เข้ามาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น เรื่องนี้ที่ทำได้ เช่น ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน มีระบบอนุมัติที่รวดเร็วขึ้น

จับตาคลาวด์แจ้งเกิด
อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดปี 2557 มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวม 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 9.4% หากจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 15,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 4.5% มูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 39,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 มากถึง 11.4%

ทั้งนี้ ภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่ใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด ทั้งยังพบการเติบโตอย่างมากของซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านเว็บ หรือซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิส ซึ่งเพิ่มขึ้น 34.4% ขณะเดียวกันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวพบว่า ปีที่ผ่านมาเติบโต 6% โดยมีมูลค่าการผลิตภายในประเทศเท่ากับ 6,165 ล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนมากยังรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้ เนื่องจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และแวร์เอเบิล ดีไวซ์ แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ตาม

ด้านการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 4,572 ล้านบาท เติบโต 6.1% จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 939 ล้านบาท เติบโต 7.4% และการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ 3,633 ล้านบาท เติบโต 5.8%

ส่งออกแรงไม่ตก
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดโดยรวม แต่มีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ตัวอย่างซอฟต์แวร์สำเร็จรูปของผู้ผลิตไทยที่ส่งออกคือ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการโรงแรมและรีสอร์ท ซอฟต์แวร์ด้านระบบบริหารจัดการการค้าปลีก และซอฟต์แวร์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังเห็นโอกาสของตลาดในต่างประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดอาเซียน แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจชะลอตัวลงมาก เนื่องจากความเข้มงวดในการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับงาน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ ทำให้การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ต่างๆ ต้องล่าช้าออกไปจนทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันออกไปทำตลาดอื่นแทน