หนังชวนเชื่อ:ละติจูดที่ 6 ทหารกับสื่อ ในมุมมองละติจูดที่ 13

หนังชวนเชื่อ:ละติจูดที่ 6 ทหารกับสื่อ ในมุมมองละติจูดที่ 13

สุดท้ายหนังกลับพาไปสู่จุดไคลแมกซ์ ด้วยการขมวดปมสุดท้ายว่า เพราะฉันรักและศรัทธา จึงทำให้ฉันอยู่ที่นี่ต่อไป


ในขณะที่บ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะ “พิเศษ” และกลับมาสู่จุดที่ตั้งคำถามกันอีกครั้ง (จริง ๆ ควรใช้คำว่า ครั้งแล้วครั้งเล่ามากกว่า) ว่า ควรจะเดินทางไปทางไหนดี?

“สื่อ” นั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่นอกจากจะช่วยนำเสนอเรื่องราวข่าวสารที่เกิดขึ้นในสังคมแล้ว สื่อยังเป็นเครื่องมืออันดีในการช่วยโน้มน้าวผู้คนผ่านวิธีการที่เรียกว่า โฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda)

จะมากจะน้อย จะเนียนหรือจะเล่นกันตรง ไม่ว่ามาจากฝั่งรัฐหรือฝั่งอื่นใด วิธีการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อนำเสนอคุณค่าบ้างอย่างที่ฝ่ายนั้น ๆ สนับสนุนอยู่ ย่อมที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บทบาท “ทหาร” ในฐานะผู้กุมอำนาจของรัฐกลายเป็นที่จับตา ภาพของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บริหารประเทศ ที่ออกสื่อด้วยท่าทีอารมณ์ดีบ้าง ท่าทีเกรี้ยวกราดบ้าง ท่าทีติดตลกบ้าง กลายเป็นเรื่องราวที่ “สื่อ” ค่ายต่าง ๆ คอยติดตามทุกวันแต่ทั้งบนหน้าจอโทรทัศน์และหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง มี “สื่อ” บันเทิงจำนวนมากมาย ที่ผลิตเนื้อหาที่เกี่ยวกับทหารขึ้นมา ทั้งทั้งฝั่งรัฐเอง และทางเอกชนเอง ได้ช่วยกัน “ผลิตซ้ำ” มุมมองของผู้คนที่มีต่อสถาบันทหารในรูปแบบต่าง ๆ จนน่าสนใจว่า ภายใต้ความสนุกสนานของหนังและละคร ได้ซ่อน “รหัสวัฒนธรรม” อะไรที่เกี่ยวกับ “ทหาร” ไว้บ้าง

ละครโทรทัศน์เรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ทางช่อง 3 กลายเป็นหนังในละครที่มาถูกจังหวะพอดี แม้ว่าก่อนหน้านี้ “พัน น้ำสุพรรณ” ทหารผู้น้อยชาวสุพรรณฯ คนซื่อ จะสร้างความเฮฮามาก่อนหน้านี้ในหลายเวอร์ชั่น ที่ถูกพูดถึงมากก็เป็นเวอร์ชั่นที่ วรุฒ วรธรรม (พ.ศ.2538) และเวอร์ชั่น ศรราม เทพพิทักษ์ (พ.ศ.2545) เป็นพระเอก

มาถึง ผู้กองยอดรัก เวอร์ชั่น 2558 ได้ตัว เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี มาเป็นพระเอก แต่แกนของเรื่องที่พูดถึง “ทหาร” ในละครเรื่องนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ทหารในผู้กองยอดรัก เป็นทหารที่มีอารมณ์ขัน เข้าถึงชาวบ้าน และอยากทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งท่าทีดูจะพ้องกับภาพลักษณ์ของ “ลุงตู่” ในสื่อ ที่ออกแอ็คชั่นที่มักมีเสียงแซวออกมาว่า “เป็นคนตลก” (ที่บางเรื่องดูไม่ค่อยน่าจะ “ตลก” ตามสักเท่าไหร่นัก)

“ผู้กองยอดรัก” ได้พูดถึงคุณค่าของการเป็นทหารในฐานะรั้วของชาติได้อย่างน่าสนใจ เพราะในขณะที่ครอบครัวของ พัน น้ำสุพรรณ ติดสินบนสัสดีเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นทหาร แต่ตัวพันเอง กลับมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจึงขอสมัครทหารเพื่อเข้ามาช่วยชาติ อันเป็นวาทกรรมหนึ่งของ “ชาติ” ที่ถูกสร้างผ่านสื่อว่า การเป็นทหารถือเป็นเกียรติสูงสุด

ต่างไปจากเรื่อง “พี่ชาย My Hero”(2558) หนังฟอร์มเล็กผลงานกำกับของ จอช คิม ผู้กำกับลูกครึ่ง เกาหลี-อเมริกัน กลับมีท่าทีต่อการเป็นทหารที่แตกต่างไปจากครอบครัวของพัน น้ำสุพรรณ (ครอบครัวของพันค่อนข้างมีเงิน และตัวพันเองได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี) เพราะครอบครัวของตัวเอกใน “พี่ชาย My Hero” มีฐานะยากจน หากตัวเอกได้รับการเกณฑ์ทหารนั้น เท่ากับว่า แรงงานในการช่วยครอบครัวทำมาหากินจะหายไปหนึ่งคน อีกทั้ง แม้ว่าการ

โฆษณาจากกองทัพในเรื่อง จะย้ำอยู่เสมอว่า อาชีพทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผู้คนในชุมชนจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อติดสินบนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ตนรอดจากเกณฑ์ทหาร

ในขณะที่ “ผู้กองยอดรัก” พยายามตอกย้ำ “อุดมการณ์รัฐ” ว่า การเป็นทหารนั้นเป็นเรื่องที่ดี และการติดสินบนเพื่อให้รอดพ้นจากการเกณฑ์ทหารเป็นสิ่งที่ผิด ในขณะที่ตัวละครใน “พี่ชาย My Hero” ต่างพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร อีกทั้งหนังยังตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมของรัฐ ในเรื่องความยุติธรรมในการคัดเลือกทหาร (คนรวย-รอด คนจน-แล้วแต่โชค) เพราะในขณะที่พัน น้ำสุพรรณ มีตัวเลือกว่า ตนจะเป็นหรือไม่เป็นทหารก็ได้ แต่ตัวเอกใน “พี่ชาย My Hero” ที่อยู่ในสังคมที่ผู้คนต่างแก่งแย่งจะเอาชนะกันที่ปลายสุดของโครงสร้างสังคม, เขาไม่มีทางเลือกในชีวิตที่จะสู้มากนัก

นอกจะหนังและละครทั้งสองเรื่องแล้ว ยังมีภาพยนตร์อย่าง “ละติจูดที่ 6” (พ.ศ.2558) ที่แม้ว่าเนื้อหาในหนังพยายาม “เนียน” ที่จะเอาทหารออกมานำเสนอในซีนน้อยที่สุด ที่ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ อำนวยการสร้างโดย กอ.รมน.หนังจึงถูกจับตามองในฐานะที่เป็น Propaganda อย่างหนึ่งของรัฐ และยิ่งเป็นรัฐในยุคที่ทหารบริหารประเทศ หนังเรื่องนี้ยิ่งถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น 

ถ้าแฟร์ ๆ กันหน่อย โปรเจ็กต์ของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นสร้างมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร แต่ด้วยความที่หนังพูดถึงความมั่นคงกับอุดมการณ์รัฐพอสมควร จึงน่าสนใจมากว่า ตำแหน่งแห่งที่ของ “ทหาร” ในเรื่องนี้เป็นเช่นไร?

“ละติจูดที่ 6” บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนหลากชีวิต ที่ต้องมาอาศัยอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จังหวัดปัตตานี – พื้นที่ที่ถูกนำเสนอตามสื่อว่าเกิดความรุนแรงอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่หนังกลับนำพาไปรู้จักกับแง่มุมอื่น ๆ ของพื้นที่บริเวณนี้ ว่ายังมีความงดงามของวัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตอยู่

ภาพสวย ๆ ของหนังพาให้เรารู้สึกว่า ที่นี่มีความอบอุ่น จนในที่สุด หนังค่อย ๆ พาสำรวจว่า ท่ามกลางความอบอุ่นและปกติสุข หลายชีวิตล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการลอบวางระเบิด จนเกิดคำถามที่ว่า ในภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเช่นนี้ ทำไมผู้คนถึงเลือกจะอยู่ที่นี่เพื่อยึดเป็นเรือนตาย 

แต่สุดท้ายหนังกลับพาไปสู่จุดไคลแมกซ์ ด้วยการขมวดปมสุดท้ายว่า เพราะฉันรักและศรัทธานั่นน่ะสิ จึงทำให้ฉันอยู่ที่นี่ต่อไป เราจึงมองเห็นหนังไม่ไกลไปถึงการมองเห็นว่า เพราะเหตุใด จึงมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับที่นี่ ท่าทีของ “รัฐ” ไทย ที่มีต่อพื้นที่นี่ ต่อชาวบ้าน แท้จริงเป็นอย่างไร? เพราะนอกจากเรื่องราวของชาวบ้านแล้ว ท่าทีของ “ทหาร” ในฉากมีอยู่ค่อยข้างน้อย และมักจะออกมาในฉากของ “พระเอกทำดี” อย่าง ช่วยตามหาคน กู้ระเบิด ลาดตะเวน เฝ้าโรงเรียน ทาสีมัสยิด แต่ไม่มีการตอบคำถามใด ๆ ว่า ในนโยบายความมั่นคงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารนั้น ควรจะอยู่ตรงจุดไหนดี?

“ละติจูดที่ 6” จึงอาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ทำได้เพียงแค่เรียกร้องความเห็นใจจากผู้คนจำนวนมากใน ละติจูดที่ 13- กรุงเทพ, ดินแดนที่อยู่รอดปลอดภัยจากทั้งความรุนแรง น้ำท่วม และภัยแล้ง เพียงเท่านั้น

พื้นผิวของคำว่า “ศรัทธา” อันเป็นหัวใจสำคัญที่ “ละติจูดที่ 6” พยายามสื่อสาร จึงเป็นแค่เพียงการบอกตัวเองว่า เราต้องมองโลกในแง่ดีทั้งที่ความรุนแรงนั้นไม่ได้หายไปไหนเลย

หนังจึงไม่ได้พาไปถึงการตั้งคำถามที่ว่า เราจะสามารถจะสร้างสรรค์สังคมที่ไร้ความรุนแรงร่วมกันได้อย่างไร? นี่คงเป็นคำถามที่ไม่เพียงแต่คนในละติจูดที่ 6 ต้องช่วยกันตอบ

แต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทั้งประเด็นที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจเพื่อการสังคมสันติสุขให้เกิดขึ้น.

ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซ็คชั่นจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสที่ 30 เดือนกรกฎาคม 2558