กมธ.ยกร่างรธน.ให้ปฏิรูปในกฎหมายลูก

กมธ.ยกร่างรธน.ให้ปฏิรูปในกฎหมายลูก

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาในส่วนของหมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูป มีมติให้ปรับลดมาตราลงจากเดิม 15 มาตรา ให้เหลือเพียง 4 มาตรา

ช่วงที่ผ่านมานั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาในส่วนของหมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูป หมวดว่าด้วยความปรองดอง   แต่ที่น่าสนใจคือ หมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปนั้น แต่เดิมถือว่าเป็นหมวดที่มีความยาวค่อนข้างมาก นัยว่าให้สมกับเป็น “รัฐธรรมนูญแห่งการปฏฺิรูป”

อย่างไรก็ตามมีการทักท้วงว่า การกำหนดเช่นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมีความเยิ่นเย้อ เพราะกฎหมายแม่บทควรกำหนดเฉพาะเนื้อหาสาระหลักเป็นกรอบกติกาเท่านั้น ส่วนที่เป็นรายละเอียดก็ให้ไปทำเป็นกฎหมายลูกแทน 

ทำให้ ล่าสุดคณะ กมธ.ยกร่างฯ จึงมีมติให้ปรับลดมาตราลงจากเดิม 15 มาตรา ให้เหลือเพียง 4 มาตรา  โดยมาตราทีหนึ่ง กำหนดให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารท้องถิ่นและการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ด้วยการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กำหนดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ขณะที่การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกำหนดให้ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐเพื่อลดความซ้ำซ้อน ส่วนการกระจายอำนาจนั้น กำหนดให้มีกลไก มาตรฐานการเพื่อขับเคลื่อนงานและเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ และการกำหนดให้มีกฎหมายและส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในสังคม

มาตราที่สอง ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยหลักการสำคัญคือการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบและหลักการของการปฏิบัติงานเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 

มาตราที่สาม ว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางสำคัญคือ การขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ยกระดับความมั่นคงของระบบการเงินระดับรากฐานและระบบสหกรณ์ ส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ  

มาตราที่สี่ ว่าด้วยการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง การปฏิรูปพลังงาน และการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ นโยบาย การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล

ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ  ก็กำลังเดินหน้าทำงานแบบคู่ขนาน  โดยกำหนดชัดเจนว่าเป็นความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและให้มีองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำแผนและขั้นตอนไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

ที่สำคัญคือกำหนดกรอบเวลาทำการปฏิรูปให้เสร็จภายใน5ปี นับแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ 

ส่วนรายละเอียดแบ่งออกเป็น17ด้าน ได้แก่1.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม,2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน,3.ด้านการบริหารท้องถิ่น,4.ด้านการศึกษา,5.ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง,6.ด้านพลังงาน,7.ด้านแรงงาน,8.ด้านวัฒนธรรม,9.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,10.ด้านเศรษฐกิจ,11.ด้านสาธารณสุข,12.ด้านสังคม,13.ด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ,14.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ,15.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค,16.ด้านการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือของประชาชนและ17.ด้านกีฬา  รวมทั้งกำหนดให้มีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลด้วย