กสิกรเร่งปรับโครงหนี้รายย่อย

กสิกรเร่งปรับโครงหนี้รายย่อย

"กสิกรไทย"เร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้ารายย่อย คุมเอ็นพีแอลต่ำกว่า2%ในสิ้นปี เหตุคุณภาพลูกค้าด้อยลงจากศก.ชะลอและหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารไม่เน้นเป้าหมายการขยายสินเชื่อรายย่อยมากนัก โดยตั้งเป้าการเติบโตเหลือเพียง 5-7%  จากก่อนหน้านี้ที่ 8-9% เนื่องจากต้องการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับระดับหนี้ครัวเรือนที่กระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าด้วย จึงต้องการดูแลลูกค้าเก่าเป็นหลัก โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต ขณะเดียวกันมีเป้าหมายควบคุมระดับหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อยปีนี้ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% 

เขากล่าวอีกว่า นอกจากการมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้  3 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจน้อยแล้ว ธนาคารยังเร่งกระบวนการติดตามหนี้และกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีความกระชับและรวดเร็วมากขึ้นด้วย  ซึ่งจะเป็นหัวใจในการจัดการเอ็นพีแอล เช่นหากลูกค้าเริ่มค้างชำระเพียง 1 วันก็แจ้งเตือนทันที  หากพบว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระต้องรีบเจรจา  

“ครึ่งหลังเชื่อว่าเอ็นพีแอลรายย่อยไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแล้วเพราะเราเลือกลูกค้ามากขึ้น แม้จะไม่ได้เพิ่มความเข้มงวด แต่ลูกค้าที่ผ่านเกณฑ์จะมีน้อยลงเพราะความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจากภาระหนี้ครัวเรือน”นายปกรณ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มเอ็นพีแอลจากสินเชื่อบุคคลที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ธนาคารไม่กังวลมากนัก เนื่องจากสินเชื่อบุคคลของธนาคารหรือ (K-Express Cash) ในขณะนี้มีพอร์ตสินเชื่ออยู่เพียง 1.7 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่มีอยู่ 2 แสนล้านบาท  นอกจากนี้ธนาคารยังไม่ได้ให้สินเชื่อบุคคลเป็นการทั่วไปมากนัก แต่จะเน้นการปล่อยสินเชื่อพ่วงไปกับลูกค้าสินเชื่อบ้าน หรือลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี

ในส่วนของสินเชื่อบ้านนั้นยอมรับว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 40% เป็น 50%  แต่ธนาคารจะเลือกปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการของผู้ประกอบการที่ธนาคารเป็นพันธมิตรด้วย เนื่องจากเป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะมียอดการปฏิเสธเพียง 30%เท่านั้น

แม้สินเชื่อจะเติบโตไม่มากนัก แต่ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นหลัก  โดยตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ระดับ 20-23%   โดยเฉพาะธุรกรรมจากดิจิทัลแบงกิ้งที่ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอีก 4 ล้านรายจากสิ้นปีก่อนที่มี 5.5 ล้านราย   และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาฐานลูกค้าดิจิทัลแบงกิ้งเพิ่มขึ้นมาแล้วเป็น 7 ล้านราย เพิ่มขึ้น 76% ทำให้มีส่วนแบ่งตลาด 38%  เมื่อเทียบกับตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ดิจิทัลแบงกิ้งทั้งหมดรวม 17 ล้านราย 

ในส่วนของมูลค่าการทำธุรกรรมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายหรือ 92%  ทำให้คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีมูลค่าธุรกรรมรวมทั้งสิ้น 4.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 92%  โดยกลยุทธ์ของดิจิทัลแบงกิ้งของธนาคารจะเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น 

“จากการปิดปรับปรุงระบบคอร์แบงกิ้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการรุกธุรกิจดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น  ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลง สามารถใช้ข้อมูลลูกค้ามาทำการตลาดได้มากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น  โดยเฉพาะธุรกรรมการเงินที่ผ่านโทรศัพท์มือถือจะทำธุรกรรมได้มากขึ้น  และจะนำไปสู่การสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมนอนาคตอีกด้วย”นายปกรณ์กล่าว

นายชัยพล กฤตยาวาณิชย์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  เคทีซีได้เก็บข้อมูลพฤติกรรมกลุ่มสมาชิกผู้หญิงโดยเฉพาะ และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพรวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดรถยนต์ และกีฬาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

บวกกับทัศนคติที่ผู้หญิงหันมาใส่ใจดูแลรถยนต์ ศึกษาเรื่องความคุ้มค่า เน้นการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และนิยมการขี่จักรยาน เคทีซีจึงได้จับมือกับ 7 พันธมิตรชั้นนำ เพื่อมอบสิทธิพิเศษครอบคลุมเรื่องรถยนต์ และสิทธิประโยชน์ ด้านกีฬาจากพันธมิตรชั้นนำ  

“คาดว่าสิ้นปีนี้ ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดรถยนต์กลุ่มผู้หญิงจะเติบโตขึ้น 20% และในหมวดกีฬาเติบโตขึ้น 50%” นายชัยพล กล่าว