สมาคมประกันชีวิตหั่นเป้าปีนี้เหลือโต7%

สมาคมประกันชีวิตหั่นเป้าปีนี้เหลือโต7%

สมาคมประกันชีวิตไทยปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันรับใหม่ปีนี้เหลือโต 7% จากเดิมคาดโต 13%

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวถึงภาพรวมประกันชีวิตว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม มีทั้งสิ้น 214,579.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2 แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 65,338.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.8 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 149,241.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 ซึ่งสาเหตุที่เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ลดลงเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัว อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง นอกจากนี้การปรับนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิต ให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับลดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ผลงานเบี้ยประกันภัยรับใหม่ มีอัตราชะลอตัว ขณะเดียวกันในส่วนของเบี้ยประกันภัยต่ออายุ ก็ค่อนข้างคงที่ถึงชะลอตัวเล็กน้อย จากการที่มีกรมธรรม์ฯที่ครบกำหนดชำระแต่ยังคงมีความคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับครึ่งปีหลัง คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวกว่าทุกปี สมาคมฯคาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2558 จะเติบโตเพียงร้อยละ 7 จำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 539,000 ล้านบาท จากต้นปี คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 13 เบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 571,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังเติบโตได้ในอัตราดังกล่าว ได้แก่ นโยบายภาครัฐจากการปรับปรุงหรือการออกกฎระเบียบต่างๆให้รองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้กฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกระดับ ส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ถือว่ายังคงเป็นแรงดึงดูดใจที่สำคัญในการทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการทำประกันชีวิตมากขึ้น

ส่วนปัจจัยส่งเสริมจากภาคธุรกิจคือ การแข่งขันกันประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และประโยชน์ของการประกันชีวิต การออกแบบ/พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของประชาชนในทุกระดับชั้น โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันนี้ คือแบบประกันที่มีความคุ้มครองระยะกลางและระยะยาว ควบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ รวมทั้งแบบประกันควบการลงทุนก็มีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายช่องทาง นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ เช่น การขายผ่านธนาคาร การขาย Direct Marketing (Tele + Post office) การขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ พร้อมกับพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ทันสมัยทำให้มีความสะดวก การพัฒนาคุณภาพตัวแทนประกันชีวิต ให้มีความรู้ด้านประกันชีวิตเป็นอย่างดี และสามารถเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้ด้วย