'ไร่รื่นรมย์'ธุรกิจสีเขียวของทายาท 'SAT'

'ไร่รื่นรมย์'ธุรกิจสีเขียวของทายาท 'SAT'

พวกเขาคือทายาทรุ่น3 ของ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี(SAT)แต่วันนี้กลับหนีมาทำธุรกิจเกษตรเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย และสร้าง ‘กำลังใจ’ให้ผู้คน

“กำลังใจสร้างได้ทุกที่” สโลแกนของ “ข้าวปันรัก” ข้าวออร์แกนิคในขวด จาก “ไร่รื่นรมย์” อ.เทิง จ.เชียงราย ที่อยู่ในบูธเล็กๆ ของงาน Organic & Natural Expo 2015 ที่ผ่านมา

นี่คือไอเดียคนรุ่นใหม่ ที่นำข้าวอินทรีย์คุณภาพ มาบรรจุลงขวด เพื่อเก็บความสด คงกลิ่นหอม และรสชาติ ทั้งยังป้องกันมดและแมลง ปัญหาสำคัญของข้าวได้ด้วย

ขณะตัวขวด ยังเขียนข้อความส่งความสุขและกำลังใจ เพื่อให้คนซื้อพร้อมส่งต่อถึงคนที่รัก

เราได้รู้จักคอนเซ็ปต์ดีๆ ของข้าวในขวด และผักออร์แกนิคหน้าตาน่าทาน ผ่านคำบอกเล่าของ “เชอรี่- วิลาสินี กิตะพาณิชย์” แม่ค้าหน้าหวานวัย 30 ปี แห่ง “ไร่รื่นรมย์” ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มต้น

โดย “แอปเปิ้ล-ศิริวิมล” น้องสาววัย 27 ปี ของเธอ ทั้งสองคือ ทายาทสาวของ “วีรศักดิ์ และ ฉวี กิตะพาณิชย์” เป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ของ บมจ. สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ไม่แค่เติบโตมาในตระกูลใหญ่ ลองย้อนดูแบคกราวน์ของทั้งสองคน เชอรี่ จบการตลาดจากแอแบค มีโอกาสไปทำงานไปเรียนรู้ชีวิตในต่างประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง ส่วนน้องสาวแอปเปิ้ล เป็นเด็กอินเตอร์ เรียนนานาชาติมาโดยตลอด ก่อนไปเรียนนิเทศศาสตร์ที่ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทว่าวันนี้ คนพี่เป็นแม่ค้า ส่วนคนน้องยังตากแดดดำนาอยู่เชียงราย

“คุณพ่อคุณแม่ท่านจะสอนมาตั้งแต่เด็กว่า เรามีเงิน ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง มีเงินแค่พอใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามีพิเศษขึ้นมาเมื่อไร ก็ต้องให้คนอื่น สิ่งที่เห็นมาตลอดคือ คุณพ่อคุณแม่ท่านจะช่วยทุกคนที่ช่วยได้ และช่วยคนอื่นอยู่เสมอ คิดว่าคงเป็นเพราะท่านที่หล่อหลอมให้เชอรี่กับแอปเปิ้ลเป็นแบบนี้”

กิจกรรมของสองพี่น้องจึงเป็นการแบ่งเวลาไปทำอะไรเพื่อสังคมอยู่เนืองๆ อย่าง คนน้องลงไปช่วยผู้ประสบภัยที่ภาคใต้ตอนช่วงสึนามิ ส่วนคนพี่ก็ไปเป็นอาสาในหมู่บ้านอพยพ มีเลือดจิตอาสาเข้มข้นทั้งคู่

จุดเปลี่ยนสำคัญก็ตอนแอปเปิ้ลได้ไปรู้จักกับโครงการ “1 ไร่ 1 แสน” ของหอการค้าไทย เริ่มต้นแค่อาสาไปแปลภาษาอังกฤษให้ชาวสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนคุณพ่อ แต่กลับถูกท้าทายให้มาลองเป็นเกษตรกรดู เด็กจบนอก ไม่เคยทำงานหนัก แถมยังเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ใครจะคิดว่า จะสู้งานแบบนี้ได้ ทว่าแอปเปิ้ลกลับรับคำท้า และพิสูจน์ความอึดของตัวเธอด้วยการอยู่กับโครงการฯ มาจนครบปี

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการฯ คือ วิถีเกษตรพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การใช้พื้นที่ 1 แปลง แบ่งไปปลูกข้าว เลี้ยงปลา ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ที่มีผลผลิตเอาไว้ขายได้ แปลงนาเล็กๆ ก็จะกลายเป็นเงินแสน ทั้งยังได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และได้เจอเกษตรกรรุ่นพี่ ที่พร้อมให้คำแนะนำและกำลังใจดีๆ กับมือใหม่ อย่างเธอ

“เชอรี่ชื่นชมน้องนะ เขาทำงานนี้มีท้อเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ที่นั่นจะมีคุณยายท่านหนึ่งอายุเกือบ 70 แล้ว แต่ยังแข็งแรงมาก น้องบอกว่า ท่านอายุมากกว่า แรงก็น้อยกว่าด้วยซ้ำ แต่ยังไม่ยอมหยุด ท่านสู้มาก เมื่อท่านยังทำได้ ทำไมเขาจะทำไม่ได้ น้องมองคนอื่นว่า มีความอดทนแค่ไหน เพื่อที่จะเป็นกำลังใจให้ตัวเอง”

เชอรี่ บอกเล่า ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้นกับน้องสาว ทั้งโตขึ้น และเข้าใจเกษตรกรมากขึ้น คนอื่นอาจคิดว่า เรื่องสนุกคงจบลงแค่นี้ ก็เป็นถึงลูกหลานกงสีใครจะมาทนเหนื่อยกับอาชีพเกษตรกร เมื่อมีธุรกิจครอบครัวให้สานต่อ

ทว่าฝันของเด็กคนหนึ่งกลับลุกโชนขึ้นและไม่มีทีท่าจะมอดลงง่ายๆ ด้วย

ต้นทุนสำคัญของครอบครัว คือ มีที่ดินที่สะสมมาตลอดกว่า 30 ปี อยู่ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ส่วนหนึ่งรกร้าง ส่วนหนึ่งแบ่งให้เกษตรกรในพื้นที่เช่าทำการเกษตร

ที่ผ่านมาด้วยความไม่รู้เรื่องเกษตรกรรม เลยจ้างคนอื่นมาดูแลแทน ทว่าวันนี้ แอปเปิ้ล ขอคนเป็นพ่อ ลงไปดูแลพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่ไม่ใช่เข้าไปในฐานะ “นายทุน” หากทว่าเข้าไป “กลมกลืน” กับชาวบ้าน

ความตั้งใจของแอปเปิ้ลคือการไปเปลี่ยนความคิดเกษตรกร จากที่เคยทำเกษตรแบบดั้งเดิม พึ่งพิงแต่เคมี ได้ผลผลิตต่ำ ทำเท่าไรก็ขาดทุน มาเป็นเกษตรวิถีใหม่ “เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง”

เมื่อชาวบ้านไม่รู้ ก็ไปให้ความรู้เขา เมื่อยังไม่เชื่อ ก็ไปลองทำให้ดู โดยใช้พื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ทำ “ไร่รื่นรมย์” ลงแปลงปลูกข้าว ปลูกผักอินทรีย์ และเลี้ยงสัตว์ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี กำจัดศัตรูข้าวด้วยวิธีธรรมชาติ บำรุงพืชผลเกษตรด้วยสมุนไพร และปุ๋ยหมัก ที่ทำเอง ไม่พึ่งเคมี ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง

พอเริ่มมีผลผลิต ชาวบ้านก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างอินทรีย์ กับ เคมี เมื่อเคมีได้ผลผลิตน้อยกว่า แถมตัวเขาเองก็ยังได้รับสารเคมีเป็นของแถมด้วย

“มีอยู่เคสหนึ่ง เขามีอาการปวดหัวเรื้อรังมานาน โดยไม่รู้สาเหตุ น้องเลยจับไปพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมอวินิจฉัยว่า เกิดจากได้รับสารเคมีมากเกินไป ซึ่งเขาไม่รู้ตัวมาก่อน พอได้คำยืนยันจากหมอ ก็เลยเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า ของพวกนี้มันสะสมในร่างกายเขา และเคมีไม่ดีกับตัวเขา”

เมื่อทัศนคติของเกษตรกรเริ่มเปลี่ยน จากการทำให้ดู พิสูจน์ให้เห็น ไร่รื่นรมย์ ที่เคยอยู่ในความฝันก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และเริ่มมี “ผลผลิต” ออกมาให้คนทำได้ชื่นใจ แม้จะผ่านความทุกข์ยากมาหลายครั้ง อย่าง น้ำท่วมที่เล่นงานผลผลิตเสียหายหมด แต่สุดท้าย ความไม่ย่อท้อ ก็เริ่มออกดอกออกผลให้เห็น

น้องเป็นคนลงมือทำ ด้วยหัวใจนักพัฒนาชุมชนแบบเต็มขั้น พี่ซึ่งมีความรู้ด้านการตลาด และชอบค้าขาย ก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่เติมเต็มกันได้ลงตัว เชอรี่ บอกว่า นอกจากธุรกิจกงสี ครอบครัวของเธอยังมีธุรกิจเล็กๆ เป็นบริษัทเทรดดิ้งเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพ (บริษัท เซฟไลฟ์โปรดักส์ จำกัด) ที่ผ่านมาจะนำเข้าสินค้าสุขภาพจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย แต่วันนี้พวกเขามีผลิตภัณฑ์สุขภาพของตัวเองให้ขายแล้ว

“เรามีช่องทางอยู่แล้ว ก็แค่เชื่อมต่อกับตัวไร่ของเรา ซึ่งลงตัวกันพอดี”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากไร่รื่นรมย์ มีทั้งข้าวออร์แกนิคในขวด ใช้ชื่อ “ข้าวปันรัก” และผักต่างๆ ในชื่อ “ไร่รื่นรมย์” โดยจะเน้นพืชผักที่หายาก และมีความต้องการของตลาดรองรับอยู่แล้ว เช่น “จิงจูฉ่าย” ผักใบเขียวคล้ายต้นขึ้นฉ่าย เมนูฮิตของคนชอบกินเกาเหลาเลือดหมู ช่องทางขายก็อินเทรนด์ประสาคนรุ่นใหม่ โดยขายผ่านไอจี เฟซบุ๊ก และไลน์ ในชื่อ “rairuenrom” เว็บไซต์ rairuenrom.com มีส่งเข้าร้านน้ำปั่นในกรุงเทพ และออกงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง

เป็นทายาทธุรกิจ ชีวิตมีทางเลือก แต่เส้นทางที่ทั้งสองคนเลือก กลับเป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ที่ทั้งเหนื่อย และยาก เหตุผลที่เลือกทางนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า สินค้าเกษตร คือ อนาคตของมนุษยชาติ เพราะในอนาคตความต้องการจะมากขึ้น ขณะผลผลิตจะน้อยลง แม้โลกเผชิญเรื่องเลวร้าย มีภัยธรรมชาติ แต่เราจะยังอยู่รอดได้ ถ้ามีอาหารให้บริโภค

“ในยามที่ลำบาก แม้เรามีเงิน แต่เงินไม่สามารถช่วยชีวิตเราได้ เพราะเรากินเงินไม่ได้ แต่การผลิตของพวกนี้ ก็เหมือนมีเงินอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว นี่คือเงินของเรา เป็น Currency หนึ่ง ที่ไม่ใช่เงินบาท หรือ เงินดอลลาร์ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้แม้ในวิกฤติ” ทายาท SAT สะท้อนความคิดของพวกเขา

ถามถึงเป้าหมายต่อไป ดูจะไม่เจอคำตอบในเชิงธุรกิจ พวกเขาบอกแค่ ขอแค่ธุรกิจอยู่ได้ พอมีกินมีใช้ แต่เป้าหมายที่สำคัญกว่านั้น คือ อยากยกระดับอาชีพเกษตรกรไทย ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นอาชีพที่มีเกียรติเหมือนกับในต่างประเทศ เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และใครๆ ก็อยากมาทำอาชีพนี้

ในปีนี้คุณพ่อ “วีรศักดิ์” กำลังจะเกษียณ ทั้ง 4 คน เลยวางแผนว่า จะมาช่วยธุรกิจไร่รื่นรมย์อย่างเต็มตัว เชื่อมต่อประสบการณ์คนสองรุ่น มาสร้างการเติบใหญ่ให้ไร่เล็กๆ ของพวกเขา

“ที่ใช่ชื่อไร่รื่นรมย์ ก็เพื่อสะท้อนถึง การผสมผสานตัวเราเข้าไปกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติอยู่รอด และเราก็อยู่ได้ โดยที่ไม่ได้ไปทำร้าย ไม่ไปเบียดเบียนเขา และเรียนรู้จากธรรมชาติให้มากที่สุด คนที่อยู่ที่ไร่ก็จะรู้สึกร่มรื่น รื่นรมย์ เป็นความสุขลึกๆ ข้างใน ที่บางครั้งเราอาจหาไม่ได้จากชีวิตในเมือง และแสง สี เสียง ก็ให้คำตอบเราไม่ได้”

เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจสีเขียว แต่เป็นนิยาม “ความสุข” ของพวกเขา