หลายฝ่ายกังขารายงานค้ามนุษย์สหรัฐ

หลายฝ่ายกังขารายงานค้ามนุษย์สหรัฐ

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ามีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีมาเลเซีย

ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศเมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) มาเลเซียและคิวบาถูกปรับขึ้นจาก “เทียร์ 3” กลุ่มที่ล้มเหลวเรื่องแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ มาอยู่ที่ “เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์” ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ เพราะยังปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐไม่ครบถ้วน ทำให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองสหรัฐออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการจัดอันดับครั้งนี้

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “ทีพีพี” ซึ่งมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐในปี 2557 รวม 44,000 ล้านดอลลาร์ และจะมีการลงนามความตกลงในสัปดาห์นี้ แต่สภาคองเกรสอนุมัติข้อกฏหมายห้ามรัฐบาลเข้าไปทำข้อตกลงเกี่ยวกับประเทศในกลุ่มเทียร์ 3 ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการจัดอันดับล่าสุดเป็นการเปิดทางสู่ข้อตกลงดังกล่าว ขณะเดียวกันคิวบาที่เคยอยู่ในบัญชีเทียร์ 3 นาน 12 ปีได้รับการปรับขึ้นหลังสหรัฐและคิวบาเพิ่งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังระงับไปนาน 54 ปี

ผู้อำนวยการกลุ่มฮิวแมน ไรท์ วอทช์ในสหรัฐ นางซาราห์ มาร์กอน บอกว่าดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เลวร้าย และทำลายความน่าเชื่อถือของรายงานชิ้นนี้

ส่วนนายเดวิด อับราโมวิตซ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์กับภาครัฐขององค์กรฮิวแมนิตี้ ยูไนเต็ดซึ่งสนับสนุนองค์กรพันธมิตรเพื่อการยุติแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ระบุว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มาเลเซียแทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ และการปรับขึ้นให้มาเลเซียเป็นเรื่องไม่สมเหตุผล

ด้านวุฒิสมาชิกคนสำคัญจากพรรคเดโมแครต นายโรเบิร์ต เมเนนเดซ ซึ่งอยู่ในกลุ่มวุฒิสมาชิก 19 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 160 คนที่ทำหนังสือถึงนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้คงมาเลเซียไว้ที่ระดับเทียร์ 3 กล่าวว่า จะคัดค้านการปรับขึ้นมาเลเซียและคิวบาผ่านการซักถามในรัฐสภา

ขณะเดียวกัน การเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับล่าสุดยังมีขึ้นก่อนที่นายแคร์รีจะเดินทางเยือนสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคมนี้ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศต่างเป็นประเทศคู่เจรจาข้อตกลงทีพีพีกับสหรัฐด้วย