'ทีเอ็มบี'ชี้ภัยแล้งฉุดความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี

'ทีเอ็มบี'ชี้ภัยแล้งฉุดความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหวั่นภัยแล้งกระทบรายได้ธุรกิจ คาดกนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบี เปิดเผยผลการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1,240 กิจการทั่วประเทศในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผุ้ประกอบการในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 38.7 จากเดิมอยู่ที่ระดับ 43.7 และดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าอยุ่ที่53.8 จากเดิมอยู่ที่ระดับ 59.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางทำให้รายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลง ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกังวลมากสุดคือเศรษฐกิจในประเทศถือว่ามากสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเป็นผลมาจากกำลังซื้อในพื้นที่ลดลงสอดคล้องกับดัชนีด้านรายได้ที่ปรับตัวลดลง

“ปัจจัยเสี่ยงในประเทศและต่างประเทศทำให้เอสเอ็มอีขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงเมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์การเกษตรขณะที่ค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโคมีสัดส่วนที่ลดลง”

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง 0.25% ในการประชุมวันที่ 16 ก.ย.นี้ ทำให้สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25%และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนของธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ขึ้นกับปัจจัยอื่นด้วย เช่น กำลังซื้อและยอดขายเป็นต้น ส่วนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนตามกระแสข่าวของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยประเมินว่าค่าเงินปีนี้ยังอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการอ่อนของเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคอยู่ที่6% อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าการส่งออกเพราะตัวเลขการส่งออกในเดือนมิ.ย.ที่ติดลบ 7.8% นั้นสะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีจึงประเมินว่าส่งออกไทยปีนี้อาจติดลบ3% จากเดิมติดลบ 1.7% ขณะที่จีดีพีจะปรับลดลงอีกครั้ง คาดว่าต่ำกว่า 3% จากที่ก่อนหน้านี้ประเมินไว้ว่าเติบโต 3%