เมืองเย็น ด้วยมือเรา

เมืองเย็น ด้วยมือเรา

ขอท้าทุกคนให้ปลูกต้นไม้แค่คนละหนึ่งต้น แล้วผืนดินของเราก็จะเย็นสบาย

“ตอนที่ผมยังเด็ก รู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ลึกลับมาก มีแม่น้ำลำคลองกว้างใหญ่สุดขอบโลก หรืออาจเป็นเพราะเราตัวเล็กก็ไม่รู้นะ แต่จำได้ว่าอากาศดีมาก หายใจสะดวกสดชื่น ผมจำได้แถวบ้านมีทางเล็กๆ ต้มไม้ใหญ่ปกคลุมถนนสองข้างทาง ตอนนี้ต้นไม้มันหายไปไหน? ผมเห็นแต่ซีเมนต์เข้ามาแทน และมีอะไรอยู่ในซีเมนต์เหล่านั้น เหล็ก หิน ทราย ปูน ที่ผูกรัดกัน ทำให้รู้สึกเคร่งเครียด พอผมเข้าไปในเมือง ก็รู้สึกเครียดเลย แทบไม่เห็นต้นไม้ เหมือน 30 ปีก่อน” ปอ-ภราดล พรอำนวย นักเป่าแซกโซโฟน ชาวเชียงใหม่ที่รักษ์ผืนป่า เล่าด้วยความรู้สึกอึดอัดใจ เมื่ออุณหภูมิของโลกมีดีกรีร้อนแรงขึ้นทุกปี เนื่องจากต้นไม้หายไปทุกวัน จนไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ตรงไหน

ท้าทายให้ปลูกต้นไม้

“ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เมืองเชียงใหม่ เพราะเราอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน มันสัมพันธ์กันหมดทั้งประเทศ ผมได้แรงบันดาลใจจาก “ปกาเกอะญอ” ที่พอเกิดมา ก็เอาสายสะดือผูกไว้กับต้นไม้ พ่อแม่เป็นคนปลูกแล้วสอนว่า นี่คือต้นไม้ของลูก ต้องดูแลต้นไม้นะ พอเด็กคนนี้โตขึ้น อายุ 50-60 ปี ต้นไม้ของเขาก็จะสูงราว 40 เมตร ทำให้ผมถามตัวเองว่า คนในเมืองมีต้นไม้ของตัวเองสัก 1 ต้นหรือเปล่า ? เราอาจไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นหรือ1ล้านไร่ เอาเป็นว่า เราอยู่ที่ไหน ก็ปลูกต้นไม้ที่นั่นก็แล้วกัน"

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ “มือเย็น เมืองเย็น” โดยมีแนวคิดว่า อยากปลูกต้นไม้ก็ปลูก แล้วโพสต์รูปในเฟซบุ๊ค“มือเย็น เมืองเย็น” แล้วท้าอีก 3 คนให้ปลูกต้นไม้ต่อ...

“คนในเมืองได้แต่บอกว่าคนข้างนอกอย่าทำลายป่า พอเราเอาแผนที่ทางอากาศมาดู กลายเป็นในเมืองนั่นแหละที่ไม่มีป่า พวกเขาบอกชาวเขา ชาวบ้าน ให้รักษาป่า ในขณะที่คุณเอง ยังไม่มีป่า เป็นของตัวเอง” ภราดลเล่า

โดยตัวเขาเองเริ่มขุดดิน ปลูกต้นยางนา แถวคูเมืองตรงข้ามกับร้าน North Gate ของเขา แล้วท้าเจ้าของร้าน Warm Up ให้ปลูกต้นไม้ จากนั้นก็ท้าต่อไปเรื่อยๆ โดยมีกฏว่า สิ้นปีนี้ ต้นไม้ใครตาย ให้ไปโดดคูเมือง เป็นกิมมิกสนุกๆ ใครมาร่วมกิจกรรมท้าปลูกต้นไม้ แล้วนึกไม่ออกว่าจะปลูกต้นอะไร ให้ไปดูที่เพจ “มือเย็น เมืองเย็น” มีต้นไม้พื้นถิ่นพันธุ์หายาก 83 ชนิด เช่น ไคร้น้ำ กระพี้จันทร์ สมอ พิเภก ตองเหลือง กว้าว กระทุ่มดง ฯลฯ เป็นพันธุ์ไม้ที่เพาะจากเมล็ดมาแล้ว 2 ปี ฉะนั้นต้นไม้จะแข็งแรง มีทั้งพันธุ์ไม้ใหญ่ และพันธุ์ไม้เล็กให้เลือกปลูกตามความเหมาะสมที่เขาเลือกพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ก็เพราะจะช่วยในเรื่องของระบบนิเวศมากกว่าปลูกไม้ต่างถิ่น

ภราดล บอกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของโลก ไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่ สิ่งที่เขาทำนั้นถือว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆเท่านั้น ยกตัวอย่างน้ำตกทีลอซู สมัยก่อนห่างกัน 3 กิโลเมตรยังได้ยินเสียงน้ำ ตอนนี้ 1 กิโลเมตรยังไม่ค่อยได้ยิน เพราะป่าไม้หายไป แม้แต่ในเขตพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ก็กลายเป็นไร่ปลูกข้าวโพด นำมาสู่ปัญหาหมอกควันที่หนักขึ้นทุกปีอีกด้วย

“เป้าหมายของผมก็คือปลูกต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่ให้ได้ 5,000 ต้น ตอนนี้ปลูกไปแล้ว 1,000 ต้น ถ้าทำสำเร็จ ผมจะท้าคนอีก 3 จังหวัด ก่อนอื่นเราต้องการให้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือ ตอนนี้กำลังรณรงค์ให้คนเอาพันธุ์ไม้ผมไปปลูกแล้วโพสต์ในเฟสบุ๊ค แล้วท้าอีก 3 คน เสร็จแล้วเอารูปไปโพสต์ในเพจมือเย็นเมืองเย็น แล้วแชร์โลเคชั่น โดยเขียนด้วยว่า ปลูกต้นอะไรไปบ้าง จำนวนกี่ต้น เพจนี้จะลิงค์กับเว็บไซต์ โดยนับจำนวนใส่โลเคชั่นกับรูปที่ถ่ายปักหมุดดิจิทัล เราก็จะเห็นภาพเลยว่า ในเมืองต้นไม้ 5,000 ต้นนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง อีก 5 ปีต้นไม้เติบโต เราสามารถไปเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ ถ้าผมคิดคนเดียว ปลูกคนเดียว 10 ต้นที่บ้าน ก็คงโดดเดี่ยวเกินไป ถ้ามีคนมาปลูกเป็นเพื่อน เจอหน้ากัน ก็ถามถึงต้นไม้ ก็คงมีความสุขมากกว่า ”

เขาเล่าต่อว่า การปลูกต้นไม้ จะช่วยให้พื้นที่ที่เก็บความร้อนทั้งหลายได้หายใจสะดวกมากขึ้น ดังนั้นน่าจะมีการร่วมมือกันในระดับประเทศ ยกตัวอย่าง ประเทศฝรั่งเศสที่เพิ่งออกกฏหมายให้บ้านทุกหลัง ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์

“หากเราแก้ปัญหาทีละส่วน โดยเริ่มตระหนักถึงเรื่องต้นไม้ แผ่นดินนี้ก็เริ่มจะมีความหวัง หากจัดโซนนิ่งใหม่ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ เราต้องทำให้คนรุ่นนี้ปกป้องต้นไม้ แล้วทำให้คนรุ่นต่อไปหลงรักมันให้ได้ เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ต้องเริ่มลงมือวันนี้เลย ก่อนจะสายเกินไป” นักเป่าแซกโซโฟน ผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าว

 

ดีเอ็นเอรักต้นไม้

มนุษย์ทุกคนรักต้นไม้อยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้การคิดและลงมือปลูกต้นไม้ ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร พอคนรุ่นใหม่มาจุดประกายเป็นเรื่องที่ทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ และพร้อมจะดูแลต้นไม้ให้มีอายุยืนนาน

บรรณาธิการ นิตยสารคอมพาส เมืองเชียงใหม่ เจ้าของนามปากกา “แสนเมือง” บอกว่า โครงการนี้ทำให้คนรู้สึกอยากปลูกต้นไม้ ขึ้นมาทันที

“ผมคิดว่าในดีเอ็นเอของคนไทย ไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น อยากปลูกต้นไม้อยู่แล้ว บางคนไม่รู้จะเริ่มยังไง พอมีคนขึ้นมาจุดประกาย ก็มีแรงจูงใจให้การปลูกต้นไม้ สนุกขึ้น โครงการนี้จึงจุดติดได้ง่าย ทำได้โดยไม่เขินอาย เหมือนท้ากันเอาน้ำแข็งราดหัว ต้นไม้ปลูกได้ทุกวัย วัยรุ่นท้าวัยรุ่น เด็กท้าเด็ก ผู้ใหญ่ก็ทำได้ โดยไม่เคอะเขิน ทุกอย่างมีอายุของมัน ถ้าไม่ถูกกระตุ้นก็จะแผ่วๆ ไป เราเองก็อยู่ในทีม เชียงใหม่ก็มีกลุ่มอนุรักษ์อยู่หลายกลุ่ม กลุ่มเรารักษ์ต้นไม้ กลุ่มเขียวสวยหอม ต้นไม้ใครๆ ก็ปลูกได้ ”

“แสนเมือง” เห็นว่า เมื่อปลูกต้นไม้แล้ว ต้องดูแลให้เติบโตแบบยั่งยืน เพราะต้นไม้ป่วยได้ มีโรคเบียดเบียนได้ เช่น เชื้อราต่างๆ ดังนั้นเชียงใหม่จึงมีหมอต้นไม้ ผู้มีความรู้เรื่องต้นไม้คอยดูแลรักษา ไม่ให้ป่วยเรื่องนี้กลุ่มเขียวสวยหอมที่ตนร่วมงานอยู่ ก็ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดูแลต้นไม้ 400-500 ต้นทั่วเมืองเชียงใหม่ เช่น ถนนสายเชียงใหม่ ลำพูน ที่มีต้นยางนาอายุนับร้อยปีอยู่สองข้างทาง เชียงใหม่ยังมีปัญหาเรื่องหมอกควันจากไร่ข้าวโพด อย่าคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ไปถึงคนในกรุงเทพฯ เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลาย ก็จะส่งปัญหาไปทั่วได้เหมือนกัน

“ ปีนี้ทุกคนเริ่มรู้สึกแล้วว่าโดนผลกระทบ หน่วยงานรัฐและประชาชนทุกคนก็ต้องมารับผิดชอบร่วมกัน ผมว่าต้องโทษคนทั้งประเทศที่นิ่งดูดาย ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เท่าที่จำได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฯ เคยพูดเมื่อ 13 ปีที่แล้วว่า เราต้องช่วยกันดูแลเรื่องหมอกควันนะ เพราะมันจะเป็นปัญหา ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หมอกควันจะเริ่มมาเยือน ควันเหล่านี้จะเป็นอนูเล็กๆ สอดแทรกเข้าไปอยู่ในปอดเรา คนไข้ ผู้สูงอายุกับเด็ก ต้องป่วยเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี”

แสนเมือง แนะว่า หากชาวบ้านเผาป่า ก็เพื่อให้เห็ดขึ้น ทั้งๆ ที่เห็ดเกิดขึ้นเพราะไฟป่าธรรมชาติ แต่คนก็อยากได้มากขึ้น จึงเผามากขึ้น คนในเมืองช่วยได้โดยเลิกกินเห็ดนี้ เหมือนเรื่องการรณรงค์อื่นๆ เช่น ไม่ใส่เสื้อขนสัตว์ ไม่ใช้เครื่องประดับงาช้าง ไม่กินหูฉลาม ไม่กินรังนก คนในเมืองช่วยได้ ก็แค่ไม่กิน ไม่ใช้ ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา

 

มือเย็น ใจเย็น

ในสายตาคนต่างถิ่น ทัศนคติเดิม ก็คือ เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีธรรมชาติงดงาม อากาศดี ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนับวันต้นไม้จะน้อยลง โครงการท้าปลูกต้นไม้เริ่มจากศิลปิน ท้าศิลปิน คนทำผับท้าคนทำผับ คนทำโรงแรมท้าคนทำโรงแรม มีการท้าปลูกต้นไม้ทุกวงการ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ศรัณย์ ภัทโรพงศ์ เจ้าของกิจการ วิลล่า มารดาดี รีสอร์ท นักธุรกิจที่หลงรักเชียงใหม่ เห็นด้วยกับโครงการของกลุ่มมือเย็น เมืองเย็น เขาคิดว่า น่าจะมีการท้าปลูกต้นไม้ระหว่างโรงแรมกับโรงแรม ใครอยู่วงการไหน ก็ท้าคนในวงการเดียวกัน

“ออฟฟิศผมอยู่แถวต้นยางใหญ่ ถนนเชียงใหม่ ลำพูน จะมีต้นยางนาใหญ่ทั้งเส้น เห็นแล้วสะเทือนใจมาก เพราะต้นไม้บางต้นไปบังหน้าร้านเขา วิธีแก้ ก็คือ เอายาไปฆ่ารากให้ต้นไม้ตาย จริงๆ แล้วต้นไม้เขามาอยู่ตรงนั้นก่อนคุณเกิดด้วยซ้ำ คุณมาทีหลังมารุกที่เขา ต้นไม้อายุไม่กี่ร้อยปีก็จริง แต่ต้นไม้มีค่ามากกว่ารถเฟอรารี่อีกนะ กว่าจะได้ต้นเท่านี้ ต้องใช้เวลา 3 ช่วงชีวิตคน ถึงจะได้ต้นไม้ต้นนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น เข้ามาเพื่อทำธุรกิจ กอบโกยผลประโยชน์จากเมืองนี้ จากเมืองที่มีจุดเด่นทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หลายคนเข้ามาแล้วทำลาย เช่น คนหนึ่งตัดต้นไม้หน้าบ้าน 1 ต้น ดูเหมือนไม่เยอะแค่ต้นเดียวเองนะ แต่ถ้าหลายๆ คนทำล่ะ"

"ผมว่า ถ้าไม่มีเด็กรุ่นใหม่ที่มาคิดทำเรื่องนี้ คงไม่มีใครคิด ผู้ประกอบการในเมือง วางของขายยึดฟุตบาทเป็นของตัวเอง ไม่มีทางเดิน ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เชียงใหม่เป็นเมืองศิลปะ ถ้าเราไม่ช่วยกัน เสน่ห์ของมันจะค่อยๆหายไป ในยุคหนึ่งคนยุโรปมาเที่ยวเชียงใหม่ ก็เพราะธรรมชาติ ถ้าเราปรุงแต่งและทำลายทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติมากเกินไป เราก็จะไม่เหลืออะไรเลย คนกลุ่มนี้ก็จะไม่มาเที่ยว แล้วเราก็จะได้นักท่องเที่ยวที่เราไม่อยากได้มาแทน ผมว่าดีนะที่ทุกคนพยายามช่วยกันรักษา ”

ศรัณย์ เล่าว่า เขาอยู่เชียงใหม่มา 10 ปี ด้วยความรู้สึกว่า เป็นเมืองที่อยู่สบาย แต่วันนี้กลายเป็นเมืองที่มีการจราจรติดขัด จากเมืองที่เคยคิดว่าสโลว์ไลฟ วันนี้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นเมืองที่แก่งแย่งกันค้าขาย

“เชียงใหม่ เป็นเมืองที่ศิลปินอยู่เยอะ พวกเขามีจิตใต้สำนึกในการดูแลรักษา เพื่อให้เมืองน่าอยู่ว พอมีคนจุดประกายโครงการดีๆ ทุกคนก็อยากจะออกมาช่วยกันทำ ผมทำโรงแรม สิ่งที่เน้น ก็คือ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชน ไม่ทำสิ่งผิดกฏหมาย ไม่สร้างอะไรล้ำลงไปในแม่น้ำ อะไรก็ตามที่เอาเปรียบชุมชนและชาวบ้าน ผมจะไม่ทำ ถ้าต้นทุนแพง ก็ทำให้เล็กลงได้ ทำอะไรก็ได้ที่ไม่สร้างปัญหาภายหลัง ดีใจนะที่เห็นคนรุ่นใหม่ริเริ่มสิ่งดีๆ ท้ายที่สุดในหลวงทรงดำริเรื่องพอเพียงไว้ ตราบใดที่คุณมีความสุขในการกินข้าวมันไก่ กินข้าวขาหมู นานๆ กินของแพงสักมื้อ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย ไม่จำเป็นต้องกินอาหารมื้อละหมื่นทุกวัน อยู่แล้วไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันยึดตามกติกาของสังคม ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เส้นใหญ่แล้วจะทำอะไรผิดๆ ได้”

นักธุรกิจรายนี้หวังว่า เชียงใหม่จะกลับมาเป็นเมืองน่ารัก น่าเที่ยว เพราะเชียงใหม่ยังไง ก็เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ วันยังค่ำ

  สำหรับโครงการนี้หากปลูกต้นไม้ครบ 5000 ต้นในเชียงใหม่ แล้วน่าจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ท้าปลูกต้นไม้ นับเป็นการจุดประกายที่สร้างสรรค์ให้โลกใบนี้มีธรรมชาติกลับคืนมา