บอร์ดดีอีเข็นลูกค้ารัฐเช่าใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ 2 ปี

บอร์ดดีอีเข็นลูกค้ารัฐเช่าใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ 2 ปี

บอร์ดดีอีป้อนลูกค้าดาต้าเซ็นเตอร์ภาครัฐให้ 2 รัฐวิสาหกิจ ทีโอที-กสทฯ พิสูจน์ศักยภาพ ระหว่างรอดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติแล้วเสร็จ

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดที่จะต้องจัดเก็บข้อมูลเลือกเช่าใช้ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที ระหว่างรอโครงการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนเสร็จ 

โครงการดังกล่าวจะให้บริการได้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ดังนั้น การให้หน่วยงานรัฐเข้าใช้บริการของทั้ง กสท และทีโอทีก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทั้ง 2 บริษัท ได้โชว์ศักยภาพที่มีอยู่ และเป็นการพิสูจน์ถึงความสามารถในการแข่งขันกับเอกชนด้วย

ปัจจุบัน กสท มีพื้นที่ให้บริการจัดเก็บข้อมูลจำนวน 1,100 แรค หรือคิดเป็น 4,400 ตารางเมตร ส่วนทีโอที มีจำนวน 300 แรค คิดเป็น 1,200 ตารางเมตร ซึ่งตอนนี้ความต้องการใช้งานศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ของภาครัฐมีทั้งหมดอยู่ประมาณ 30,000 ตารางเมตร ซึ่ง 10,000 ตารางเมตร จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการจัดเก็บข้อมูลแล้ว เพราะใช้มานาน ครบ 7 ปี ปกติรัฐต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาในการจัดเก็บข้อมูลประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การจัดตั้งดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ เป็นไปตามแผนของบอร์ดดีอี ที่มีรัฐมนตรีไอซีที เป็นประธาน และมีกรรมการจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม มหาดไทย สาธารณสุข คมนาคม แรงงาน อุตสาหกรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ กลาโหม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อกำหนดสเปคของศูนย์ให้ได้มาตรฐาน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมถึงกำหนดราคาเช่าใช้ต้องสมเหตุสมผลด้วย โดยกระตุ้นให้เอกชนเข้าลงทุนด้วยการให้สิทธิพิเศษจากบีโอไอ

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ ทีโอที กับ กสท ควรมีหน้าที่ให้บริการเป็นไอดีซี และศูนย์ข้อมูลสำรอง (ดีอาร์ ไซต์) ให้แก่กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลัง มากกว่าการให้เอกชนมาดูแล เพราะข้อมูลทั้ง 2 หน่วยงานเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ซึ่งเห็นว่าศูนย์ไอดีซีแห่งใหม่เพิ่มเติมอีก 2,000 ตารางเมตร คาดว่าจะวางแรคเก็บข้อมูลได้ 500 แรค เบื้องต้น น่าจะใช้เงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะมีหน้าที่เสนอความต้องการใช้ไอดีซีให้แก่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เบื้องต้นอาจการันตีว่าจะเช่าแรคดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 50%

นายชัยยุทธ สันทนานุการ ที่ปรึกษาอาวุโส รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย กสท กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทเปิดตัวศูนย์แคท ดาต้า เซ็นเตอร์ นนทบุรี 2 เพิ่มพื้นที่บริการอีก 300 แรค ใช้เงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท จากเดิมมี 800 แรค ทำให้บริษัทมีพื้นที่บริการ 1,100 แรค ให้ผู้ใช้บริการเลือกผู้ให้บริการโครงข่ายได้อย่างอิสระ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ

กสท มีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์มากที่สุดในไทย บนพื้นที่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ใหม่เป็นแห่งแรกในอาเซียนที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากลทีเอสไอระดับ 3

บริการของบริษัทมีหลายรูปแบบ ได้แก่บริการให้เช่าพื้นที่ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ (เซิร์ฟเวอร์ โค-โลเคชั่น เซอร์วิส)บริการบริหารจัดการระบบของลูกค้าบริการให้เช่าพื้นที่สำนักงานชั่วคราว พร้อมอุปกรณ์สำนักงาน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4.ศูนย์บริการข้อมูลสำรอง ครอบคลุมทั่วไทย จึงทำให้ลูกค้าสามารถใช้บริการเป็นได้ทั้ง สถานีหลัก และสถานีสำรอง และทำการสำรองข้อมูลระหว่างสถานี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้