แฉ!ธุรกิจยาสูบ แทรกแซงสนช. ล้มร่างพรบ.ยาสูบใหม่

แฉ!ธุรกิจยาสูบ แทรกแซงสนช. ล้มร่างพรบ.ยาสูบใหม่

"หมอประกิต" แฉธุรกิจยาสูบ พยายามแทรกแซงสนช. หวังล้มร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ไม่ให้ประกาศใช้ได้จริง

เมื่อวันที่27กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวในการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 เรื่อง “หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ว่า นางมาร์กาเรต ชาน ผอ.องค์การอนามัยโลก ส่งสารเป็นห่วงอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย โดยเฉพาะผู้ชายที่สูบมากถึง 11.4 ล้านคน โดยชายถึงร้อยละ 40 หรือ 4 ใน 10 คนยังสูบบุหรี่ ขณะที่มีเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ เข้ามาติดบุหรี่เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคน เด็กเหล่านี้เมื่อสูบแล้วจะไม่สามารถเลิกได้ถึงร้อยละ 70 และจะสูบไปจนกว่าจะป่วยหรือเสียชีวิต รัฐบาลจึงต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ทันกับสถานการณ์เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจยาสูบมีความพยายามในการคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... ไม่ให้ประกาศใช้ได้จริงโดยมีกระบวนการขอเข้าพบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)หลายคน แต่ไม่ได้รับการอนุญาต ขณะที่พยายามใส่ข้อมูลว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะกีดกันทางการค้า จะกระทบต่อผู้ค้าปลีก แต่กลับไม่พูดว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบุหรี่ได้กำไรจากการขายบุหรี่ในประเทศไทยถึงปีละ 10,000ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขอยืนยันว่า ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไปกีดกันทางการค้า หรือสร้างความเหลื่อมล้ำให้ประเทศชาติ แต่นี่คือการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำมากกว่า เพราะคนที่สูบบุหรี่มากๆ สุดท้ายก็เจ็บป่วย และยากจนจากการหมดเงินไปในที่สุด ที่สำคัญร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นคือ ไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยต้องการจำกัดไม่ให้เกินจำนวน 11 ล้านคน


“จากการวิเคราะห์แนวโน้มการลดลงของผู้สูบบุหรี่ไทยที่ผ่านมาและคาดการณ์ต่อไปในอนาคต พบว่า ในปี 2568 จำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดลงเล็กน้อยจาก 11.4 ล้านคน เหลือประมาณ 10.5 ล้านคน เพราะจำนวนประชากรวัย 15 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจาก55ล้านคนเป็น 60 ล้านคนดังนั้น สิ่งสำคัญต้องลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนลง โดยต้องไม่ให้เกินปีละ 11 ล้านคน”ศ.นพ.ประกิตกล่าว


ผศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทีมในการยกร่างกฎหมายดังกล่าว กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจัดทำขึ้นตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ(FCTC) ซึ่งไทยเป็นภาคี โดยในสนธิสัญญามีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม ส่วนการออกมาตรการต่างๆนั้น รัฐสามารถเลือกกำหนดได้ตามแนวทาง ที่กรอบอนุสัญญากำหนด แต่มาตรการนั้นๆต้องจำเป็นจริงๆ ซึ่งกรณีร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯมีความจำเป็น ดังนั้น ไทยปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาทุกอย่าง

ภาพจาก-hfocus.org