บริหารเคซีอีผู้ผลิตพีซีบีระดับโลก สไตล์ 'พิธาน องค์โฆษิต'

บริหารเคซีอีผู้ผลิตพีซีบีระดับโลก สไตล์ 'พิธาน องค์โฆษิต'

"การลงทุนไอทีนั้นใช้เงินมาก แต่หากทำแล้วเห็นผลก็จะคุ้มค่า มีผลตอบแทนกลับมาเร็ว"

อิเล็กทรอนิกส์ คือ อุตสาหกรรมส่งออกอันดับต้นๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศ และแน่นอนว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรมไม่ได้ขีดวงอยู่เฉพาะคู่แข่งภายในประเทศ แต่มีอยู่ทั่วโลก ฉะนั้น หากควบคุมต้นทุน หรือลดต้นทุนลงได้เพียงเล็กน้อยย่อมสร้างโอกาสแข่งขันได้อย่างเห็นผล 

“พิธาน องค์โฆษิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (พีซีบี) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพไอที” เล่าว่า 5 ปีที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนระบบไอทีไปประมาณ 500 ล้านบาท ถือเป็นช่วงเวลาสร้างระบบ แต่จะให้แข็งแรงขึ้น คาดว่า จะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี


พร้อมทั้งมองว่า การลงทุนไอทีนั้นใช้เงินมาก แต่หากทำแล้วเห็นผลก็จะคุ้มค่า มีผลตอบแทนกลับมาเร็ว

ปัจจุบันโรงงานผลิตพีซีบีแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ที่ใช้เงินลงทุนรวม 3 เฟส 4,700 ล้านบาท เปิดดำเนินงานเฟสแรกเดือน ม.ค.2558 จะเริ่มเปิดเฟส 2 ไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นการย้ายการผลิตจากโรงงานเดิมที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังเช่นกันมาโรงงานใหม่ ควบคุมระบบทั้งโรงงานด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบน้ำ ไฟฟ้า สารเคมี และกระบวนการผลิต

พิธาน บอกว่า การจะตัดสินใจนำอะไรมาใช้กับโรงงานผ่านการคิดค้น มาอย่างดี ไม่ใช่นอนหลับแล้วตื่นมานำสิ่งที่ฝันไว้เมื่อคืนมาทำ ในฐานะที่เคยเป็นเด็กดื้อมาก่อน จะไม่ทำอะไรถ้าไม่มีเหตุผลประกอบเพียงพอว่าทำอย่างนั้น อย่างนี้แล้วจะดีอย่างไรก็ไม่ทำ และทุกวันนี้ที่นั่งแท่นบริหารกิจการระดับหมื่นล้านก็ยังดื้อ ฉะนั้นจึงมีเหตุผลทุกการกระทำ และใช้เหตุผลกับคำสั่งต่างๆ ที่นำมาใช้ในโรงงานเช่นกัน

ยกตัวอย่าง การห้ามนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปกินในโรงงาน ห้ามใส่แหวน กำไร นาฬิกาในไลน์ผลิต เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลเสียต่อแผ่นวงจร เช่น เกิดริ้วรอย ทำให้เสียหายต่อสินค้า ซึ่งถ้า 1 เดือนเสียหาย .25% จะเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท หรือ 12 ล้านบาทต่อปี ถ้าลดความเสียหายได้นำเงินนั้นมาเป็นโบนัสตอบแทนพนักงานจะดีกว่า

หรือการนำคนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้พนักงานเรียกดูผลตอบแทนแต่ละเดือนของตัวเองได้ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของคนเพิ่มขึ้น คล้ายๆ สมุดพกประจำตัวของเด็กนักเรียนที่ได้รับทุกครึ่งปีจะกระตุ้นเด็กทุกครึ่งปี เมื่อทราบผลทุกเดือนย่อมสร้างโอกาสปรับปรุงมากกว่า


เพิ่มประสิทธิภาพงาน

ล่าสุด ได้นำโซลูชั่นไอล็อก ออพติไมเซชั่น (ILOG Optimization) ที่เป็นระบบอนาไลติกส์เชิงคาดการณ์ (predictive analytics) ของไอบีเอ็มมาใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กำลังการผลิต บริหารต้นทุน รวมถึงลดวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตพีซีบี โดยใช้กับทุกโรงงาน

“ก่อนเลือกไอล็อก เคยดูของรายอื่น แต่ทำงานตามที่ต้องการไม่ได้ จึงยกเลิกไป ส่วนไอล็อกเป็นระบบที่ให้เฟลกซิบิลิตี้กับงาน เป็นระบบที่เปิดเยอะ ซึ่งก็ถือเป็นดาบสองคม เพราะเปิดมากก็มีโอกาสคำนวณผิดได้มาก หากถือเป็นโปรแกรมที่ดี เพียงอินโวลฟกับคนเยอะ ผมต้องเข้าไปคำนวณสูตร อนุมัติสูตรทุกสูตรเอง แต่ผลออกมาดีก็ถือว่าดี ใช้คำนวณวัตถุดิบ โปรเซสการทำงาน กังวลเรื่องแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นมากต้องดูแลมาก แต่พอทำออกมาได้ก็จะดีกว่า”

โปรแกรมที่ใช้ เช่น การดีไซน์การตัดแผ่นวงจรให้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พัฒนา บางโปรแกรมเป็นฝรั่งเศส ซึ่งทำแล้วเพิ่มประสิทธิภาพ 2% ก็คุ้มแล้ว ยกตัวอย่าง ลามิเนตลงทุนประมาณ 4 พันล้านบาทลดค่าใช้จ่ายได้ 2-3% ทองแดง 1 พันล้านบาท ประหยัดได้ 3-4%

จากเดิมก่อนนำระบบไอทีเข้ามาใช้ โรงงานใช้คนออกแบบ คำนวณ นับร้อยคน แต่ไม่มีใครตรวจสอบได้ว่าผลออกมาดีหรือไม่ ทำให้ควบคุมไม่ได้ แม้จะสั่งงานไป ก็ตรวจสอบทั้งหมดไม่ได้ว่าจะทำตามที่สั่งทั้งหมดหรือไม่ แต่ละเดือนผลิตชิ้นส่วนต่างๆ 1,500 - 2,000 แบบ เดือนหนึ่งๆ ผลิตแตกต่างกัน จึงตรวจสอบทั้งหมดไม่ได้

“แต่เมื่อนำไอล็อกมาใช้ จะรันงานทุกเที่ยงคืน พอ 6 โมงเช้าจะได้เพลทใหม่ ทำให้แพลนนิ่งได้ ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมด 60 ตัว ซึ่งขนาดนี้ถ้าเทียบกับการใช้คน 200 คนก็ยังไม่น่าจะทำได้ โดยใช้เงินลงทุนสำหรับระบบแพลนนิ่งประมาณ 30 ล้านบาท และการอิมพลีเมนต์อีก 20-30 ล้านบาท”

รายได้โต 10% 

ส่วนรายได้ของบริษัทปีนี้ คาดว่าจะทำได้ 1.6 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% ซึ่งแม้จะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาทองแดง แต่หากควบคุมปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ให้ดีก็จะลดความสำคัญหรือผลกระทบของปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ลง 

อัตราการเติบโตของธุรกิจผลิตพีซีบียังมีต่อเนื่อง เศรษฐกิจดี หรือไม่ดีก็ยังมีคำสั่งซื้อ เพราะเป็นของต้องใช้ แต่เปรียบเทียบกับการแข่งขันใครที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแก่ลูกค้าได้ดีกว่าก็จะทำให้มีคำสั่งซื้อมากกว่า เพราะเมื่อบริษัทควบคุมต้นทุนดีขึ้น 2-3% จะนำไปลดราคาผลิตภัณฑ์ลง 2-3% ก็ทำให้ขายดีขึ้น
“ทุกปีจะพัฒนาของใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อหา 2% นี้ และอนาคตถ้าเราถูกกว่าคู่แข่ง ออเดอร์ก็จะไหลมาเรื่อยๆ มีนิว ออเดอร์เข้ามาหาเราเรื่อยๆ”
ในฐานะผู้ผลิตพีซีบีอันดับ 5 ของโลก ซึ่งมูลค่าตลาดโลกมี 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี บริษัทครองยอดขายเป็นสัดส่วน 6-7% ของมูลค่าดังกล่าว เท่ากับรถยนต์ทุกคันในโลกนี้ใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัท 6%


ช่วงเวลาที่ดีของไทย
บริษัทผลิตเพื่อการส่งออก 95% ผลิตภัณฑ์ของบริษัท 70% ใช้ในรถยนต์ ครึ่งหนึ่งส่งไปยุโรป 20-21% ส่งสหรัฐอเมริกา ที่เหลือเป็นตลาดเอเชีย ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น โดยเกาหลีมีประมาณ 5% จีน 15-16%

บริษัทนำเข้าวัตถุดิบประมาณ 50% ของการผลิต ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าลงทำให้ได้รับอานิสงส์รายได้เพิ่มจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 50%

“แต่ผลไม่ชอบการพนัน ไม่สนใจบาทแข็งหรืออ่อน เพราะฉะนั้นจะทำประกันความเสี่ยงไว้ ซื้อเครื่องจักรเข้ามาก็กู้เป็นดอลลาร์ ซึ่งการทำงานมีริสก์หลายอย่าง ค่าเงินก็เป็นหนึ่ง จากปี 1997 ที่เคย 25 บาทมาตลอดก็เพิ่มขึ้นๆ จน 50 กว่า และจากนั้นก็ไม่เคยนิ่ง ทำธุรกิจยากขึ้น แต่ผมชอบที่ทำยากขึ้น เช่นการทำพีซีบียากกว่าโรงงานประกอบ ในไทยมีโรงงานประกอบนับพันๆ โรง แต่พีซีบีมี 6 โรง ก็มีรูมที่จะทำ ทำงานยากดีกว่าทำงานง่ายเยอะเลย”

นอกจากนี้ พิธาน ยังเห็นว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในรอบ 20 ปี เป็นช่วงที่เติบโตได้มาก แม้แต่ต่างชาติ โดยเฉพาะไต้หวันก็ย้ายโรงงานมาไทยเพราะโรงงานอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งๆ จะใช้เวลา 6-7 ปีถึงจะคืนทุนการเคยย้ายฐานการผลิตเข้าไปอยู่ประเทศจีนเริ่มไม่ตอบโจทย์

“จีนเคยโตกว่าการเติบโตของตลาด 2-3 เท่า เพราะเอามาร์เก็ตแชร์ของยุโรป อเมริกา ไปหมด ญี่ปุ่นก็ติดลบ แต่ 10 ปีที่ผ่านมาค่าแรงจีนขึ้น 14-20% ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นทุกปี จีนจึงอยู่ในจุดที่นิ่งครองส่วนแบ่งตลาดโลก 60-70% คอสต์ขึ้นเรื่อยๆ ไต้หวันจึงย้ายหนีมาไทย ที่ตลาดยังมีโอกาสอีกมาก”


ทั้งนี้ โอกาสอย่างหนึ่งคือการต้องสั่งวัตถุดิบจากนอกประเทศเข้ามาผลิต ต่างจากจีนที่วัตถุดิบส่วนใหญ่ 70-80% ผลิตในประเทศเมื่อค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มก็เพิ่มกันครบวงจร เช่น ค่าแรงขึ้นก็กระเทือนทั้งหมด