กระจายพอร์ต 'ฝ่ามรสุมภัยแล้ง'

กระจายพอร์ต 'ฝ่ามรสุมภัยแล้ง'

'BRR-GL-KASET' บริษัทที่มีรากหญ้าเป็นลูกค้าหลัก รับภัยแล้งที่ยาวนานบวกราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบการหาเงิน

ปัญหาใหญ่อย่าง 'ภาวะภัยแล้ง' ที่กินเวลายาวนานกว่าคาดการณ์ ขณะที่สถานการณ์ยังตกอยู่ในภาวะหนักสุดในรอบ 15 ปี (วัดจากปริมาณน้ำในเขื่อน) นอกจากจะกดดันตัวเลข GDP ปี 2558 ให้ขยายตัวต่ำกว่า 3% ยังส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของไทยที่คิดเป็น 12% ของ GDP ประเทศ ซึ่งตัวเลขเกษตรกรรมทั้งปีอาจติบลบ 6% หลัง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ติดลบไปแล้ว 4.2-4.3%

จากสถานการณ์ภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรของไทยที่มีแนวโน้มตกต่ำ ทำให้หลาย ฝ่ายคาดการณ์ว่า อาจซ้ำเติมภาวะยากลำบากให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะในแง่ของกำลังซื้อ ภาคครัวเรือนในชนบทที่อาจลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แม้ปัจจุบันสถานการณ์แล้งในภาคเหนือจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว หลังฝนตกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของภาคเอกชนที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรากหญ้า อย่าง 'วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART ที่ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ทำให้ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาของ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM (SAMART ถือหุ้นอยู่ 70.94%) ลดลงเหลือ 9 แสนเครื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 1.2 ล้านเครื่อง

'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' สอบถามผลกระทบภาวะภัยแล้ง จากเหล่าผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มรากหญ้าอย่าง 'อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR ได้ความว่า เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่ฝนไม่ตกยาวนานที่สุด ส่งผลให้บริษัทได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีปริมาณอ้อยลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกที่อยู่ในที่สูง แต่ในส่วนของกำลังการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันบริษัทไม่กังวลกับปัญหาภัยแล้งแล้ว เพราะว่าในเดือนก.ค. เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว แม้จะยังไม่มาก เนื่องจากการปลูกอ้อยจะใช้น้ำในอัตราไม่มาก แต่เรายังคงเฝ้าติดตามข้อมูลและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาว่า ฤดูฝนที่มาล่าช้าจะอยู่นานหรือไม่ ฉะนั้นในแง่ของเป้าหมายรายได้และกำไร BRR มั่นใจว่า 'จะยังคงเติบโตโดดเด่น' เนื่องจากเราวางโมเดลกระจายความเสี่ยงรับมือไว้เรียบร้อยแล้ว

ยกตัวอย่าง เช่น ในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 หรือ โรงไฟฟ้าบุรีรัมย์เพาเวอร์ ที่มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่ง BRR ได้ทำสัญญาพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 เมกะวัตต์ ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ FiT ซึ่งมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น จากเดิม 3.60 บาท เป็น 4.53 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย

ขณะเดียวกันเรายังได้เพิ่มกำลังการผลิตที่จะรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเป็น 2.2 ล้านตันอ้อย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 2.5 แสนตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 2.08 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนตัน หลังบริษัทมีการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และมีกำไรมากขึ้น

ทั้งนี้ในฤดูการผลิตปัจจุบัน ผลผลิตน้ำตาลต่อตันต่ออ้อยของบริษัทอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศ หรือ 115 กก.ต่อตันอ้อย อีกทั้งยังมีผลพลอยได้ที่เป็นกากน้ำตาล เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพิ่มเป็น 8 หมื่นตัน จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 7 หมื่นตัน

'ช่วงที่ผ่านมาเรามีแผนรับมือปัญหาภัยแล้งมาเป็นอย่างดี เรียกว่า เตรียมตัวมาตั้งแต่วิกฤติการเมืองอย่างเรื่องภัยแล้งเราได้สั่งทีมงานลงพื้นที่ให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในจังหวัดบุรีรัมย์ ในด้านการเพาะปลูก หวังบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทไม่กระทบต่อแผนงานเพิ่มผลผลิตอ้อย เพื่อรองรับฤดูหีบปี 5859' 

ด้าน 'ดีพงศ์ สหะชาติศิริ' ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.กรุ๊ปลีส หรือ GL หนึ่งในผู้นำผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ยอมรับว่า ปัญหาภัยแล้งทำให้กลุ่มลูกค้าภาคเกษตรกรลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าเกษตรกรโดยตรง ปัจจุบันบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้ากลุ่มนี้จัดอยู่ใน 'ภาวะซึม' หลังประชาชนไม่มั่นใจในการใช้จ่าย

'บริษัทโชคดีที่ตัดสินใจปรับแผนลงทุนของปีนี้ ด้วยการไม่ขยายพอร์ตสินเชื่อลูกค้า และไม่เน้นปล่อยสินค้าในกลุ่มลูกค้าภาคเกษตร เนื่องจากเราต้องการรักษาคุณภาพหนี้ ปัจจุบัน NPL ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง' 

เมื่อถามว่า มีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร เขา ตอบว่า เราได้กระจายสัดส่วนลูกค้าไปในหลากหลายอาชีพ โดยไม่ยึดติดอยู่ในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หากยึดลูกค้าเพียงกลุ่มเดียว ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เราคงโดนเต็มๆ แต่เมื่อเราตั้งรับมาดีตั้งแต่ต้นปี ทำให้เชื่อมั่นว่า สิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะเติบโต 5-10% เราหวังลึกๆว่า ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่แย่ไปกว่านี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ขยายตลาดไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมีช่องว่างการเติบโตได้อีกมาก รวมถึงยังมีอัตรากำไรสุทธิที่ดี ขณะที่มีหนี้สูญในอัตราที่ต่ำมาก จาก ศักยภาพการขยายตัวที่ดี เราเชื่อมั่นว่า จะมีกำไรจากการทำธุรกิจในประเทศดังกล่าวในลักษณะ 'ก้าวกระโดด' 

ปัจจุบันบริษัทมีแผนเปิดตลาดใหม่ในประเทศสปป.ลาว ล่าสุดได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสำนักงาน และระบบไอทีในการรองรับการดำเนินธุรกิจ ขณะนี้รอเพียงใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งชาติของ สปป.ลาว เท่านั้น

ขณะเดียวกันยังศึกษาตลาดในประเทศพม่า หลังเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่ดี ซึ่งเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาล ฉะนั้นหากไม่มีอะไรผิดพลาดคงเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2559 ส่วนตลาดประเทศเวียดนาม บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและเช่าซื้อ เป้าหมายของเรา คือ 'เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ' 

ด้าน 'สมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยฮา หรือ KASET บอกว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาเพลี้ยลงในนาข้าว ซึ่งอาจมีผลต่อราคาข้าว อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณข้าวน้อยลง แต่การปรับขึ้นราคาข้าวอาจสวนทางกับปริมาณข้าว เพราะผู้ซื้อในตลาดมองว่า ปริมาณข้าวของไทยยังมีอยู่สูง ทั้งจากการโครงการจำนำข้าวของภาครัฐ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบที่กดดันไม่ให้ราคาข้าวขยับขึ้น

'เรามั่นใจว่า ปีนี้จะมีรายได้เติบโต 15-25% จากปีก่อนที่ทำได้ 1.82 พันล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากการจำหน่ายข้าว, โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้น ส่วนงบลงทุนยังคงอยู่ในจำนวน 30-40 ล้านบาท โดยจะนำมาพัฒนาและปรับปรุงผลิตเดิมและผลิตภัณฑ์ที่จะออกใหม่'

'ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ' ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง บอกว่า เราได้ปรับลดประมาณการณ์ GDP ปีนี้เหลือเติบโต 2.8% จากเดิม 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว จากภาคการส่งออกติดลบ การบริโภคที่ชะลอตัวลงและภาวะภัยแล้ง รวมถึงการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล่าช้ากว่าแผน ทำให้ภาคเอกชนยังไม่มั่นใจที่จะลงทุน

สำหรับปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบัน บล.บัวหลวง ยังไม่ได้นำมาเป็นปัจจัยลบ แต่หลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาส 22558 ก็จะนำตัวเลขดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มมี 'ความกังวล' เกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งบางแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นตื่นตกใจ เห็นได้จากลูกค้าของ บล.บัวหลวง ที่มีการสอบถามถึงผลกระทบ ซึ่งเราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ

'อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จะเป็นในกลุ่มของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรบางชนิด เดิมกลุ่มสินค้าเกษตรก็แย่อยู่แล้ว เนื่องจากราคาสินค้ายังไม่ฟื้นตัว ยิ่งมาเจอปัญหาภัยแล้งเข้ามาอีกก็ยิ่งแย่กว่าเดิม ทำให้กำลังซื้อของ 'กลุ่มระดับล่างหดตัว' 

'ชัยพร' บอกว่า หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเด่นชัด คือ หุ้น สยามโกลบอลเฮ้าส์ หรือ GLOBAL เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด และกลุ่มที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปุ๋ย,กลุ่มออโต้ โดยเฉพาะที่เน้นขายรถแทรกเตอร์ รวมไปถึงกลุ่มลิสซิ่ง ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร

'ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ ลองไปเดินตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ เช่น สยามพารากอน ,ดิ เอ็มควอเทียร์ คนเดินเต็มห้าง ในขณะที่ตามคอมมูนิตี้มอลล์คนเดินบางตามาก บ่งบอกว่า ตลาดมิดทูโลว์แย่ แต่ตลาดมิดทูไฮดี' 

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ยังคงตกอยู่ในอาการผันผวนต่อเนื่อง ฉะนั้นต้องติดตามผลประกอบการไตรมาส 22558 ว่าจะออกมาในทิศทางใด รวมถึงเรื่องภัยแล้ง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดด้วย

อย่างเรื่องภัยแล้ง น่าจะกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนบาง เพราะหากฝนยังไม่ตกจะทำให้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการใช้น้ำมากสุด คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะในภาคตะวันออก

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 มาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยสถิติในอดีตพบว่า จะเกิดขึ้นทุกๆ 4-5 ปี ในรอบ 115 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2443-2558) ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ ตรงกันข้ามปริมาณน้ำฝนในออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ที่ กลับมีแนวโน้มลดลง สำหรับผลกระทบที่ตามมา คือ ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดลดลง ฉะนั้นราคาอาหารสดจะปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากสุด CPF, GFPT, TUF เพราะผลผลิตเกษตรที่ลดลงจะกดดันราคาพืชผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจากผู้ประกอบขั้นกลาง และขั้นปลาย เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งใช้ราคาข้าวโพด และกากถั่วเหลือง สัดส่วนสูงถึง 50% และ 30% ของต้นทุนอาหารสัตว์ และจะเป็นผลให้ต้นทุนการผู้เลี้ยงสัตว์บก เช่น หมู และ ไก่ เป็นต้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นกระทบต่อประสิทธิภาพการทำกำไร (gross margin) ผู้ประกอบการ

ส่วนผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ได้แก่ อ้อยและยางพารา คาดว่ากระทบต่อบริษัทจดทะเบียนแตกต่างกัน กล่าวคือ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบสูงสุด เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่กระจายอยู่ในภาคเหนือและอีสานในสัดส่วน 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด

แต่เนื่องจากมีการสต๊อกยางไว้จำนวนมาก อาจได้รับผลดีในช่วงราคายางปรับตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบได้บ้าง ตามมาด้วย บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL มีพื้นที่เพาะปลูกในภาคตะวันตกในสัดส่วน 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด อาจจะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกับ STA

สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำดิบหรือน้ำประปา เรามองว่า บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW อาจมีเกราะป้องกันมากสุด ในฐานะที่เป็นผลิตและขายน้ำดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของรายได้ ที่เหลืออีก 30% เป็นการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในชลบุรี

ปัจจุบัน EASTW มีแหล่งน้ำดิบที่ให้บริการอยู่ 5 แห่ง คือ ดอกกราย หนองปลาไหล หนองค้อ บางพระ (สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง) และ ประแสร์ โดยมีปริมาณน้ำที่ได้รับโควต้าในการจำหน่ายปีละ 418 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับความต้องการได้เต็มที่

ส่วน บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW ในฐานะผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเขตนครปฐม และสมุทรสาคร จะใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และอีกบริษัทหนึ่ง ปทุมธานี ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยของ TTW ผลิตน้ำประปา โดยใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำท่าจีน สถานการณ์น้ำในปัจจุบันถือว่าที่แม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในช่วงที่เริ่มสร้างความกังวลว่า การให้บริการจำหน่ายน้ำประปาในระยะเวลาอีก 1-2 เดือนหลังจากนี้ จะสามารถรักษาคุณภาพน้ำได้ในระดับปกติหรือไม่ ส่วนทางแม่น้ำท่าจีนยังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยกว่า