ด้วยรักและแท่งไฟ

ด้วยรักและแท่งไฟ

เสียงดังและท่าทางประหลาด ไม่ใช่แค่การแสดงออกตามกระแส แต่นี่คือการส่งพลังแห่งความคลั่งไคล้ไปยังเหล่าไอดอลของพวกเขา

เป็นธรรมดาที่คนดูคอนเสิร์ตจะกรี้ดกร้าด ร้องเพลงตาม หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับศิลปินบนเวที แต่เสียงโหวกเหวกโวยวายของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในงานประกวดเต้น cover ดูเหมือนว่าจะ ‘เยอะ’ และ ‘ใหญ่’ กว่าการดูคอนเสิร์ตอื่นเป็นไหนๆ ทั้งที่บนเวทีนั้นไม่ใช่ศิลปินตัวจริงก็ตาม

ทั้งเสียงร้องด้วยคำไม่คุ้นหู ทั้งท่วงท่าการเต้นเชียร์ที่แปลกตา เรียกความสนใจจากคนที่มาดูการเต้น cover และคนที่ผ่านไปผ่านมาได้มากทีเดียว แต่จุดประสงค์หลักของพวกเขาหาได้เป็นความสนใจจากคนรอบข้างไม่ ทว่าเป็นกำลังใจที่พวกเขาส่งต่อไปยังศิลปินบนเวทีต่างหาก

โอไฮโย โอตาเกะ

คนที่คลั่งไคล้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ เรียกว่า โอตาคุ (Otaku) ส่วนคนที่คลั่งไคล้ศิลปินญี่ปุ่นทั้งวงจริงและวง cover เรียกว่า โอตาเกะ (Wotagei) แปลตามคำศัพท์เลยจะหมายถึง ‘ศิลปะของแฟนไอดอล’ นี่เป็นคำอธิบายสั้นๆ เพื่อเริ่มทำความรู้จักกับพวกเขาเหล่านี้

ตั้งแต่กระแสเพลงและศิลปินญี่ปุ่นเข้ามาในไทย มีบางช่วงที่แผ่วไปบ้าง แต่ในพ.ศ.นี้ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นกำลังมา!

สิ่งที่ไหลตามมานอกจากวัฒนธรรมทางดนตรีคือกระแสความคลั่งไคล้ศิลปินญี่ปุ่นที่มีจุดเด่นตรงความน่ารัก คาวาอี้!! จนกระทั่งเกิดเป็นวงเต้น cover เลียนแบบศิลปินที่ชื่นชอบมากมาย และที่เกิดมาพร้อมๆ กันก็คือกลุ่มโอตาเกะที่ไม่ว่าจะมีงานประกวดเต้น cover วงญี่ปุ่นที่ไหน พวกเขาก็ตามไปส่งเสียงเชียร์ลั่นสนั่นงานทุกครั้ง

กลุ่มซากุระโซล น่าจะเป็นกลุ่มโอตาเกะเพียงหนึ่งเดียวในไทยที่มีตัวตนเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหนียวแน่น แม้จะเริ่มต้นด้วยสมาชิกเพียงสองคนเมื่อประมาณสามปีก่อน แต่ปัจจุบันกลับมีสมาชิกที่เป็นกำลังหลักในการไปส่งแรงเชียร์ไอดอลนับสิบคน

ราชันย์ วัดตินา หรือที่คนวงในเรียกกันว่า อากิ หนึ่งในผู้ก่อตั้งซากุระโซลบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำคือโอตาเกะ เป็นการเชียร์ไอดอลรูปแบบหนึ่ง ทั้งการโบกแท่งไฟ การเต้น หรือการยิงมิกซ์ (Mix) ต่างๆ มากมาย ซึ่งแต่ละวงจะไม่เหมือนกัน

สำหรับการยิงมิกซ์ที่อากิพูดถึงคือการส่งเสียงให้กำลังใจศิลปินบนเวที มีทั้งที่เป็นคำศัพท์ญี่ปุ่น และเสียงตะโกนตามจังหวะเพลง

กิว - ณัฐพงษ์ ศุภสกุลจันทร์ หนึ่งในสมาชิกผู้เชี่ยวชาญสายไอดอลอธิบายว่า

“มิกซ์เป็นเหมือนคำส่งกำลังใจ บางวงจะมีมิกซ์เฉพาะ เป็นชื่อบ้าง ไม่ก็เป็นมิกซ์ใหม่ที่เขาคิดกันเอง ส่วนมากเป็นคนญี่ปุ่นคิดแล้วเราทำตาม เราก็หาดูตามยูทูบ อาจจะซื้อแผ่นคอนเสิร์ตมาดูบ้าง”

กิวจับพลัดจับผลูเข้ามาในกลุ่มนี้ได้เพราะไปเดินเล่นในงานประกวดเต้น cover แล้วเจอกับอากิและพวกพ้องกำลังโอตาเกะกันอยู่ ด้วยหน้าตาของอากิที่กิวบอกว่าดูไม่มีพิษภัยทำให้เขากล้าเข้าไปถามว่าที่ตะโกนและเต้นแร้งเต้นกากันนั้นคืออะไร

“เจอตอนแรกก็ไม่รู้ว่าพี่เขาทำอะไร แต่เห็นแล้วรู้สึกสนุกดี ทำแล้วมีคนมองด้วย และเป็นกำลังใจให้ไอดอลด้วย ถ้าเรามายืนเฉยๆ มันก็เหมือนไม่สื่อถึงเขา เห็นพี่เขาก็เลยเดินไปถามว่าพวกพี่ทำอะไรกัน ขอแจมด้วยได้ไหม”

ความน่าสนใจของกิจกรรมนี้อาจดึงดูดสมาชิกหน้าใหม่เข้ามา แต่สำหรับ เต้ย ณัฐวัฒน์ แซ่ลี้ กลับมีความรู้สึกแรกที่ไม่ประทับใจเอาเสียเลย...

“จริงๆ เลยตอนแรกผมคิดว่าเต้นอะไร ปัญญาอ่อน”

แต่เพียงชั่วข้ามคืนความคิดของเขาก็เปลี่ยน เพราะคืนนั้นทั้งคืนเต้ยได้รับสารพัดสิ่ง เกี่ยวกับโอตาเกะจากเพื่อนของเขา ตั้งแต่ข้อมูลไปจนถึงคลิปสอนเต้น

“ความคิดผมเปลี่ยนในวันถัดไปครับ เพราะเพื่อนผมใส่ข้อมูลรัวๆ เข้ามาในแชทผม ผมก็นั่งดู เฮ้ย! สนุกว่ะ เชียร์กันอย่างนี้ ความคิดผมก็เปลี่ยนเลย หลังจากนั้นวันสองวันเพื่อนก็ส่งกลุ่มนี้ (ซากุระโซล) มาให้ผมเลย”

แน่นอนว่าเต้ยก็ได้กลายมาเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเป็นที่เรียบร้อย

เชียร์ให้ดัง เรียนให้ดี

สำหรับคนภายนอก สายตาที่มองไปยังกลุ่มคนที่ทำอะไรแบบนี้อาจมีความคิดเชิงลบอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับคนที่เต้น cover ซึ่งไม่ได้มีแฟนคลับเป็นตัวเป็นตนอย่างศิลปินตัวจริง เสียงเชียร์และท่าทางที่ทำมาจากหัวใจกลับมีคุณค่ามากมายนัก

กิวเล่าว่าตอนที่พวกเขาตะโกนหรือแม้แต่เต้น ทำให้รู้สึกฮึกเหิม หนึ่ง เหมือนพวกเขาได้ปลดปล่อย สอง คนบนเวทีก็ยิ่งสนุกไปด้วย เขาแอบกระซิบว่าบางวงถึงขั้นมาเขียนขอบคุณพวกเขาทั้งในเฟซบุ๊คส่วนตัว และในแฟนเพจ Team Sakura Soul Wotagei and Love Liver ด้วย

ไม่ใช่ว่าพวกเขาตามเชียร์เฉพาะวงเต้น cover เท่านั้น แต่ศิลปินจากญี่ปุ่นพวกเขาก็ไม่พลาด งานไหนเสียสตางค์ก็เก็บยินดีเก็บสตางค์รอ แน่นอนว่ากิจกรรมที่อยู่นอกเหนือจากกรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน และไม่เกี่ยวข้องกับหน้ากระดาษตำรับตำรา ย่อมมีผู้ใหญ่หลายคนไม่เข้าใจ ผู้ปกครองของโอตะ (Wota - คนที่ทำโอตะเกะ) หลายคนจึงไม่รู้ว่าลูกหลานของพวกเขามาตามเชียร์ศิลปินทั้งด้วยการปิดบังและเหตุผลอื่น แต่ก็มีบางคนที่ทำอย่างเปิดเผย เช่น เต้ย ที่เล่าติดตลกว่าแม่จะไม่รู้ได้อย่างไร เพราะเขาขอเงินแม่ไปซื้อแท่งไฟที่ใช้เชียร์

“ส่วนเรื่องซ้อมเต้นก็มีซ้อมที่บ้าน แต่รอแม่นอนก่อน ฮ่าๆ”

ส่วน กิว บอกว่า “มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แค่ออกจากบ้านเขาก็ดีใจแล้ว ดีกว่าไปนั่งหมกตัวอยู่ในบ้าน อย่างน้อยเราก็ไม่ได้ติดยา ไม่ได้ทำอะไรให้เขาเสียใจ”

หากแยกประเภทกระแสเพลงญี่ปุ่นที่โอตาเกะกันในบ้านเรา แบ่งได้เป็นสามสายหลัก คือ ไอดอล (ศิลปิน), โวคัลลอยด์ (เสียงสังเคราะห์) และ อะนิซอง (เพลงการ์ตูน) พื้นฐานของโอตะจึงมักจะชอบอะไรต่อมิอะไรที่เป็นญี่ปุ่น ทั้งเพลง วัฒนธรรม ภาพยนตร์ การ์ตูน ฯลฯ แต่พอพูดถึงการ์ตูนคนส่วนมากจะมองเป็นเรื่องไร้สาระและเป็นเรื่องเด็กๆ พวกโอตะแห่งซากุระโซลก็ประสบปัญหานี้เหมือนกัน

เช่น กิว ที่ตอนนี้อายุ 17 ปีแต่ยังชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นจนมีเพื่อนมองว่าไร้สาระ แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆ ได้ ทั้งภาษาญี่ปุ่นซึ่งกำลังเป็นภาษาที่สามของเขา มิหนำซ้ำการ์ตูนหลายเรื่องยังให้แง่คิด

“การ์ตูนมันไม่ได้ไร้สาระนะ บางเรื่องสอดแทรกสาระไว้ทั้งเรื่อง การ์ตูนบางเรื่องเนื้อหาหนักกว่าละครหลังข่าวเสียอีก”

สำหรับในห้องเรียนของเต้ย มีเด็กแบ่งเป็นสามประเภทคือ เด็กตั้งใจเรียน เด็กไม่ตั้งใจเรียนแต่ชอบการ์ตูน กับเด็กไม่ตั้งใจเรียนแถมยังมั่วสุมอบายมุข เต้ยจึงเลือกคบแต่สองกลุ่มแรกเพราะจริตตรงกัน แต่ก็ไม่พ้นที่จะโดนเด็กซ่ามาล้อมาแซว แม้จะชวนโมโหแต่สิ่งที่ออกจากปากของเต้ยไปคือ...ก็แล้วแต่ เอาที่สบายใจ

“ถามว่าผมโกรธไหม ก็ไม่โกรธนะ ก็ปล่อยเขาไป มันคนละความคิดน่ะครับ ความคิดของผมคือชอบ ความคิดของเขาคืออีกแบบหนึ่ง ก็ความคิดต่างกัน เราพูดอะไรไปเขาก็ไม่สนใจอยู่ดี”

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าเรื่องความสุขเป็นเรื่องรสนิยม ต่างคนต่างชอบ และในช่วงเวลาที่กระแสญี่ปุ่นกำลังลุกโชนอย่างนี้ คิวกิจกรรมของพวกโอตะก็แน่นทีเดียว และส่วนมากก็อยู่ในวัยเรียน ไม่รู้ว่ากิจกรรมนอกตำรากับการเรียนปกติจะไปด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน

แต่ มาร์ค – คณวัชร นาคสู่สุข สมาชิกอีกคนที่กำลังเรียนชั้นปีที่สองในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งยืนยันว่า โอตาเกะไม่กระทบต่อการเรียนแน่ถ้าคิดเป็น...

“ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็ตั้งใจเรียน พอวันหยุดก็มา เราจะแยกกันเลยว่าเรียนคือเรียน เล่นคือเล่น ผมปฏิญาณกับตัวเองว่าถ้าวันนี้ไม่ตั้งใจเรียน วันหยุดก็จะไม่มา ผมจึงตั้งใจ”

และผลการเรียนเมื่อปีการศึกษาล่าสุด มาร์คก็ได้เกรดเฉลี่ยเทอมแรก 3.21 เทอมสองได้ 3.5

“สิ่งที่เรารักคือการเชียร์โอตาเกะ เราชอบอยู่แล้ว แต่ถามว่าเราจะทำแบบจริงจังไหม มันก็ไม่ใช่ คือมันเป็นงานอดิเรก เราทำแต่เราก็ไม่ลืมว่าต้องทำอะไรบ้างในชีวิตจริง” มาร์คบอก

และอีกเพียงสองปี มาร์คก็จะเรียนจบแล้วเข้าสู่วัยทำงาน เขาพูดถึงอนาคตอันใกล้ไว้อย่างน่าสนใจว่าพอถึงวันนั้นการงานก็จะมีบทบาทกับชีวิตเขามากขึ้น อาจกลายเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตเลยก็ได้ ดังนั้นโอตาเกะที่ทำอยู่ย่อมถูกลดทอนความสำคัญลง แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยืนยันว่าจะไม่ลืมตัวตนและไม่ทรยศหัวใจตัวเอง

“นี่คืองานอดิเรก มีเวลาว่างเมื่อไรค่อยมา พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ต้องเอาสิ่งที่สำคัญที่สุดไว้ก่อน ส่วนตัวผมอนาคตถ้าถามว่าทิ้งงานอดิเรกนี้ได้ไหมก็อาจจะทิ้งได้นะ แต่ผมชอบมัน มีโอกาสก็จะยังมาทำ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่ลืมตัวตนของเราครับ”

โอตะในอดีต

ไม่ว่าใครได้คุยกับคนที่ทำอะไรบ้าระห่ำแบบนี้ ต้องมีหนึ่งคำถามในใจแน่นอนว่า “อายไหม?”

กิว อมยิ้มแล้วตอบทันควันว่า “อาย!” แต่ก็เป็นแค่ช่วงแรกๆ สายตาคนเคยทำร้ายความมั่นใจของเขาจนพังทลายอยู่ช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นหน้าแต่ละคนก็ ‘ทน’ มากขึ้น

ทว่าความอายที่พวกเขาประสบพบเจอนี้ เคยมีคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นมาก่อน โดย วัชรเทพ อินทร์คง หรือชื่อในวงการคือ เรนคิ จะเล่าเรื่องเก่าเมื่อเขาเป็นหนึ่งในโอตาเกะยุคบุกเบิกเมื่อปี 2005

“ตอนนั้นทุกคนจะอาย ตอนนั้นจะมีเว็บบอร์ดหนึ่งไว้คุยเกี่ยวกับศิลปินนักร้องผู้หญิงญี่ปุ่น เพราะนักร้องผู้ชายไม่มีกองเชียร์แบบนี้ เราก็ไปเจอในคลิปว่ามีกลุ่มเชียร์ที่ญี่ปุ่น แต่คนไทยน่ะอาย พอดีตอนนั้นมีงานเจเทรนด์ และมีศิลปินเต้น cover พอดี แรกๆ แค่ตะโกนชื่อคนที่เราชอบ สมัยนั้นไม่มีแท่งไฟนะ ตะโกนปุ๊บคนมองเลย นั่นเป็นจุดแรก”

จากจุดเริ่มต้นนั้นทำให้มีคนที่ชอบคล้ายกันเข้ามาคุยกับเขา เกิดการรวมกลุ่มขึ้นในเว็บบอร์ด เขาอธิบายว่าโอตาเกะยุคแรกจะเน้นไอดอลที่เป็นนักร้อง (ทั้งตัวจริงและ cover) และไม่มีการรวมกลุ่มเป็นเรื่องเป็นราว แม้แต่ปูมหลังของแต่ละคนก็ยังไม่รู้ พวกเขารู้เพียงว่ารักและชอบสิ่งเดียวกัน

“วันเสาร์ต้องมาเจอกันแล้ว มานั่งกินข้าว มานั่งคุยกัน ไม่ได้ซ้อมเชียร์นะ มาคุยเกี่ยวกับศิลปินว่ามีคอนเสิร์ตอะไร มาแบ่งไฟล์ที่โหลดมา คอนเสิร์ตไหนมีวงที่เราชอบก็ไปเชียร์ แล้วก็กลับบ้าน วันจันทร์ถึงศุกร์ก็ทำงาน”

เมื่อมีห้วงเวลา ย่อมมีความเปลี่ยนแปลง จากยุคนั้นถึงยุคนี้เรนคิบอกว่ามีความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดคือการเชียร์ ระยะหลังการเชียร์มีหลายแบบโดยเกิดจากคนญี่ปุ่นคิดขึ้นมา แต่ยุคแรกไม่มีอะไรมากนอกจากอินเนอร์ (Inner) แม้แต่แท่งไฟก็เพิ่งถูกนำเข้ามาใช้ในช่วงที่เรนคิยังดำรงตนเป็นโอตะ แล้วแท่งไฟก็ได้รับความนิยมต่อเนื่องจนถึงวันนี้

ความชอบชนิดคลั่งไคล้นี้เองที่เรนคิชี้ให้เห็นว่าในยุคแรกๆ เข้มข้นมาก ถึงขนาดว่าพวกเขามองว่าคนที่กำลัง cover อยู่บนเวทีคือศิลปินตัวจริง

“เราทำทุกอย่างเพื่อส่งกำลังใจให้ศิลปิน แม้คนนั้นจะเป็นเด็ก cover ก็ตาม มันเลยมาจากอินเนอร์ ทุกคนก็เลยกระโดด ตะโกนเชียร์มันมาก สนุกสุดๆ”

ด้วยความอินสุดขีด เมื่อมีท่าทางเชียร์ มีคำตะโกน ทั้งที่เรียกว่า Call และ Mix พวกโอตะจึงพยายามยึดถือต้นฉบับแบบญี่ปุ่น ไม่เปลี่ยนแปลงด้วยความรู้สึกว่าต้องรักษากลิ่นอายวาซาบิไว้ และเป็นการยกย่องเจ้าของสูตรด้วยว่าคิดมาดีแล้ว ที่สำคัญพวกเขามองไปถึงวันที่ศิลปินญี่ปุ่นมาแสดงที่ไทยด้วย

“ถ้าศิลปินมาแสดงแล้วได้ยินที่เราทำแบบดัดแปลง เขาก็อาจจะงงก็ได้ เพราะเขาเคยได้ยินได้เห็นมาอีกแบบหนึ่ง ถ้าทำแบบต้นตำรับศิลปินก็จะชื่นใจ”

และความชื่นใจนี้ก็จะย้อนกลับมาสร้างความสุขให้ชาวโอตะทุกคน ทุกเสียงและท่วงท่าจึงไม่ไร้สาระหรือเปล่าประโยชน์ อย่างน้อยพวกเขาก็แปรความคลั่งไคล้ให้กลายเป็นพลังที่ส่งต่อถึงคนอื่นได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นศิลปินตัวจริงหรือไม่ก็ตาม