นับถอยหลัง 1 ปี มอง 'ดิจิทัล อีโคโนมี' ผ่านสายตานักวิเคราะห์

นับถอยหลัง 1 ปี มอง 'ดิจิทัล อีโคโนมี' ผ่านสายตานักวิเคราะห์

นับถอยหลัง 1 ปี ดิจิทัล อีโคโนมี ผ่านสายตานักวิเคราะห์

หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้อยู่บนฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (ดิจิทัล อีโคโนมี) อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้อีกไม่ถึง 2 เดือนจะครบกำหนด ซึ่งเป็นเวลาเหมาะที่จะเริ่มต้นกระบวนการประเมินผลระยะทางสู่หลักชัยที่ปักธงไว้

นายจาริตร์ สิทธุ นักวิเคราะห์อาวุโส สายงานศึกษาตลาดไคลเอนต์ดีไวซ์ ประจำไอดีซี ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในตลาดเทคโนโลยี บอกว่า สภาพตลาดไอทีประเทศไทยอยู่ในจุดที่จำเป็นต้อง “ปฏิวัติครั้งใหม่” จากความเปลี่ยนแปลงของตลาดแทบจะทุกมิติ ตั้งแต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปหาสินค้าสายพันธุ์ใหม่ๆ วิธีการค้าขาย สภาวะตลาด ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเทคโนโลยีที่ทำให้อุตสาหกรรมไอทีแบบเดิมถดถอยลง


ย่ำอยู่จุดสตาร์ท
ขณะที่เมื่อดูขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากดัชนีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น “โกลบอล คอมแพตทิทีฟ อินเด็กซ์” ไทยอยู่อันดับที่ 31 ของโลก หรือ “เน็ตเวิร์ค เรดิเนส อินเด็กซ์” อันดับที่ 67 ของโลกที่แม้จะขยับอันดับดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ในภาพรวมแล้ว “ไทย” ยังอยู่ในกลุ่มเริ่มต้นเท่านั้นเมื่อเทียบหลายพื้นที่ทั่วโลกพอๆ กับแอฟริกาใต้ แม็กซิโก โคลัมเบีย และเวียดนาม


“อันดับความพร้อมของประเทศเราค่อยๆ ขยับขึ้นมาอย่างช้าๆ และเริ่มดีขึ้นเมื่อลงทุน 3จี ซึ่งก็คาดหวังกันว่าการประมูล 4จีที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก้าวกระโดดได้ดีขึ้นไปอีก”

นักวิเคราะห์ไอดีซียังบอกว่า ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานจะนำไปสู่พัฒนาการในหลายด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ และการต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะแรงงาน ไอเดียใหม่ๆทางธุรกิจที่ท้ายที่สุดก็คือผลดีที่จะกลับเข้ามาสู่การพัฒนาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันให้เอกชนเข้ามาลงทุน

แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ที่ผ่านมาไทยขาดนโยบายรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มากพอ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างไอเดียธุรกิจแบบแชริ่ง อีโคโนมี หรือการนำทรัพย์สินหรือของที่ตัวเองมีมาแลกเปลี่ยนกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่างจากระบบธุรกิจแบบเดิม เช่น ห้องเช่าแบบแอร์บีเอ็นบี หรือกรณีที่เด่นชัดอย่าง อูเบอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดจากไอเดียของการใช้เทคโนโลยีมาทำให้คนมีรถทั่วไปสามารถสร้างรายได้เพิ่ม หากก็ยังมีข้อจำกัดของกฎหมายที่ยังตามไม่ทันทำให้เกิดปัญหาในการทำธุรกิจแบบนี้ในไทย

นักวิเคราะห์จากไอดีซี บอกว่า ความพร้อมในการทำธุรกิจของประเทศไทยขณะนี้อยู่ระดับกลางๆ แต่ข้อดีคือ ราคาค่าใช้บริการเทคโนโลยีที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เช่น ค่าแพ็คเกจดาต้า นอกจากนี้ทักษะแรงงานด้านไอทีก็ค่อนข้างดี
แต่ข้อด้อยคือ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับการนำไอทีไปใช้ของภาครัฐและธุรกิจในกลุ่มใหญ่ เช่น ระดับเอสเอ็มอียังถือว่าน้อย

เพิ่มบรรยากาศการแข่งขัน
นายจาริตร์ บอกว่า เป้าหมายของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดิจิทัล อีโคโนมี หลักใหญ่เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็ต้องทำประเทศให้อยู่ในบรรยากาศที่น่าแข่งขันด้วย ทำให้เกิดการสร้างงาน และโอกาสใหม่ๆ ตลอดจนการลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนทั้งประเทศ

ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องเร่งทำคือ การปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้การผลักดันดิจิทัล อีโคโนมี เกิดขึ้นได้สะดวก ซึ่งในขั้นนี้อาจต้องใช้เวลาเพื่อการทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการร่างแผนแม่บทไอซีทีฉบับใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาจากนี้อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

"ดิจิทัล อีโคโนมีสำหรับไทยตอนนี้คืออยู่ในจุดเริ่มต้นมาก ถ้าให้มองคือยังไม่ถึง 10% ของโรดแมพที่วางไว้ และขั้นตอนสำคัญอย่างการร่างกฎหมายออกมารองรับก็ถือว่าล่าช้าจากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะสำเร็จตั้งแต่ต้นปี ทำให้การวัดผลตอนนี้คือยังทำไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จก่อน แต่ถือว่างานหลายอย่างยังเป็นไปตามกระบวนการที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม “ดิจิทัล อีโคโนมี” ในมุมที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทย นักวิเคราะห์ไอดีซีมองว่า เป็นอีกจุดที่รัฐบาลจะต้องวางแผนให้ชัดเจนเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามากระตุ้นให้ถูกทาง

โดยเมื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในระดับการเป็นผู้ผลิตด้านไอซีที แม้ไทยจะมีศักยภาพการแข่งขันกับหลายประเทศ แต่เมื่อเทียบกับเวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทั้งค่าแรง จำนวนแรงงาน และภูมิศาสตร์ที่ตั้งใกล้กับจีนซึ่งเป็นฐานใหญ่ของหลายประเทศมากกว่าไทย

ขณะที่เมื่อมองในมุมของการบริการด้านไอซีที ก็เช่นเดียวกัน ที่แม้จะมีบริษัทวางระบบ หรือนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ปัญหาสำคัญของคนไทยคือ ความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษที่ยังไม่ดีพอเมื่อต้องแข่งกับหลายประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสารทำให้เสียโอกาสในหลายอย่าง เช่น โอกาสพรีเซนต์ตัว หรือทำให้ต่างประเทศรู้จัก

นอกจากนี้ในระดับไอซีทีที่ต่ำลงมาหน่อย หรืองานแบบ “บีพีโอ (บิสิเนส โพรเซส เอาท์ซอร์ส)” ที่รับจ้างทำ แต่ก็เป็นงานพื้นๆ ที่ค่าตอบแทนไม่ได้ดีมากนักเมื่อเทียบกับการสร้างธุรกิจจากไอเดียหรือทักษะของตัวเอง

หากในกลุ่มการค้าขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีคอมเมิร์ซ” ที่รับมาขายไป และการสร้างสรรค์ “คอนเทนท์และสื่อต่าง” ถือว่าเป็นกลุ่มที่ไทยทำได้ดีพอสมควร แต่ยังต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพียงพอเพื่อรองรับด้วย โดยเฉพาะความเร็วและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ต

“ทั้งอีคอมเมิร์ซ และดิจิทัลคอนเทนท์ เราพอไปได้ดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐด้วยว่าจะเน้นด้านไหนก่อน เพราะถ้าจะให้ทุกอย่างไปพร้อมกันหมดคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ โครงสร้างพื้นฐานต้องได้ก่อน ยิ่งถ้า 4จี เกิดได้เร็วเท่าไร และการขยายตัวของบรอดแบนด์ไปได้ไกลก็จะสนับสนุนให้ดิจิทัล อีโคโนมีเกิดง่ายขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่านอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วต้องพัฒนาทักษะคนให้ใช้ประโยชน์จากอินฟราฯเหล่านี้ด้วย”

ไอเดียมีไอพีต้องพร้อม
พร้อมกันนี้รัฐยังจำเป็นต้องวางแผนระบบสำหรับการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) เพื่อรองรับการเติบโตด้วย เพราะหากจัดการไม่ได้ก็ทำให้โอกาสการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ น้อยลง ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไทยอยู่ในอันดับต่ำมาก

นายจาริตร์ระบุอีกว่า การเปลี่ยนแปลงแบบ “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น” จะเกิดขึ้นได้ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายด้าน รวมถึงความพร้อมของภาครัฐด้วย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ กอฟเวิร์นเมนท์ของภาครัฐ ที่ต้องมากกว่าการนำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ แต่ต้องพัฒนาให้ได้ถึงระดับที่ประชาชนนำข้อมูลนั้นๆ มาต่อยอดและทำให้เกิดโอกาสต่อธุรกิจได้ด้วย

จนถึงขณะนี้การเดินหน้านโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาถูกต้องแล้ว และก็ต้องรอวัดผลที่จะสะท้อนผ่านจากการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่นผลสำรวจที่ผ่านมาจากการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายด้านดิจิทัลของหลายประเทศพบว่า ในมาเลเซียที่มีส่วนสร้างการเติบโตให้จีดีพีถึง 16.3% สิงคโปร์ 3.4% ไต้หวัน 15.65 และฮ่องกง 7% ซึ่งต้องวัดผลโดยหน่วยงานรัฐเอง

“การใช้จ่ายเงินด้านไอซีทีของประเทศเราตอนนี้อยู่ที่ 7% ของจีดีพีที่ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ แต่การผลักดันนโยบายดิจิทัล อีโคโนมีอย่างไรแล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ และต้องใช้เวลาพอสมควร ประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีจากนี้”