'มนัส'เผยหลักเกณฑ์ขรก.เบิกจ่ายรพ.เอกชน

'มนัส'เผยหลักเกณฑ์ขรก.เบิกจ่ายรพ.เอกชน

กรมบัญชีกลาง เผยหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาจากสถานพยาบาลเอกชน ย้ำดำเนินการได้แค่ 4 กรณีเท่านั้น

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลรายชื่อสถานพยาบาลของเอกชนที่เข้าร่วมโครงการรักษาพยาบาลกับกรมบัญชีกลางโดยไม่มีรายละเอียดประกอบใดๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง รวมทั้ง อาจจะเข้าใจผิดว่า สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาจากสถานพยาบาลของเอกชนดังกล่าวได้ทุกกรณี ดังนั้น กรมบัญชีกลางขอชี้แจงว่า การเข้ารักษาในสถานพยาบาลของภาคเอกชนสามารถรักษาได้ 4 กรณีเท่านั้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาจากสถานพยาบาลเอกชนสามารถเบิกได้ 4 กรณี คือ 1. การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉิน สามารถเบิกค่ารักษาได้ในโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งในกรณีวิกฤต (สีแดง)และกรณีเร่งด่วน (สีเหลือง)ซึ่งเป็นการบูรณาการหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลร่วมกันของ 3 กองทุน โดยอิงเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน คือ ถ้าเป็นกรณีวิกฤต (สีแดง)กรณีเร่งด่วน(สีเหลือง)ให้โรงพยาบาลเอกชน ส่งข้อมูลค่าใช้จ่ายผู้ป่วยทุกสิทธิ ในระบบฉุกเฉิน( EMCO)ที่ สปสช.เพื่อตรวจสอบและจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลก่อน

จากนั้นสปสช. จึงเรียกเก็บจากหน่วยงานของผู้มีสิทธิ โดยจ่ายตามระบบการแยกผู้ป่วย หรือ DRGs ซึ่งนโยบายในตอนนั้น ไม่ให้โรงพยาบาลเก็บเงิน แต่ในทางปฏิบัติ โรงพยาบาลจะเก็บเงินไว้ก่อน เมื่อโรงพยาบาลได้รับแจ้งจาก สปสช.ว่า เข้าข่ายวิกฤต/เร่งด่วน และได้เงิน Clearing house แล้ว จึงคืนเงินส่วนที่เบิกได้ให้แก่คนไข้

2.การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) หรือ เป็นกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือ ฉุกเฉินเร่งด่วน กรมบัญชีกลางกำหนดให้นำมาเบิกจากต้นสังกัด คือ ค่ารักษาพยาบาลครึ่งหนึ่งของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท เบิกค่าห้องค่าอาหารได้วันละ 1,000 บาท และเบิกค่าอุปกรณ์บำบัดรักษาโรคฯ ได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้

3.การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีส่งต่อ สามารถเบิกได้ 2 กรณี คือ การล้างไต หรือ รังสีรักษา โดยต้องเป็นคนไข้นอก และต้องเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกตรงกับกรมบัญชีกลางตามรายชื่อที่ประกาศในเว็บไซต์ของกรม ในหัวข้อสวัสดิการรักษาพยาบาล

4.การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้า โดยต้องเป็นคนไข้ในของสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในขณะนี้มีทั้งหมด 30 แห่ง และการนัดผ่าตัดล่วงหน้าเฉพาะโรคที่กำหนดไว้ตามรายการโรค/หัตถการที่ประกาศในเว็บไซต์กรม เช่น การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบผ่านกล้องการผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การผ่าตัดต้อหิน การรักษาภาวะแทรกซ้อนโดยตรงจากการรักษาครั้งก่อน เป็นต้น

สำหรับการเบิกค่ารักษาพยาบาลของราชการจากสถานพยาบาลของเอกชนนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เข้ารับบริการต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง และขณะนี้ได้มีข้อมูลเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสื่อ Social Media เป็นจำนวนมาก ข้อมูลส่วนใหญ่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง หากข้าราชการ ผู้รับบำนาญ หรือบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ไม่แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่ สอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2273-6400 หรือ 0-2271-7000 ต่อ 4441

“กรมบัญชีกลางเตรียมขยายการให้บริการกรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้าของสถานพยาบาลเอกชน อีกกว่า 100 แห่ง คาดว่า จะประกาศให้ทราบและสามารถเข้าใช้บริการได้ในเร็วๆ นี้” นายมนัสกล่าว