ยิ่งให้ยิ่งได้ ‘Draw You A Smile’

ยิ่งให้ยิ่งได้ ‘Draw You A Smile’

แจกรอยยิ้ม เติมสีสัน แบ่งปันความสุขในโลกใบเล็กของเด็กหญิงบ้านราชาวดี

ไม่ว่าในโลกจะมีรอยยิ้มสักกี่แบบ ...ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ยิ้มเยาะ แสยะยิ้ม หรือยิ้มกว้าง แต่ที่บ้านหลังนี้มียิ้มเดียว คือยิ้มจากหัวใจที่เต็มตื้นด้วยความสุข

‘ก้าว’ (ชื่อสมมติ) ค่อยๆ ระบายสีแดง เขียว ชมพู ลงในกระดาษรูปการ์ตูน ก่อนจะเงยหน้าขึ้นมายิ้มให้กับพี่ๆ รอบข้าง

“สนุกมั้ย” เสียงหนึ่งถามขึ้น

“สนุกค่ะ” เธอตอบสั้นๆ ก่อนจะก้มหน้าเติมสีลงไปในภาพนั้นจนเต็ม เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ เวลานี้ไม่มีอะไรสุขเท่าการได้ระบายสี พูดคุยกับพี่ๆ ใจดีที่มาคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

 

ให้ ‘เธอ’

ที่บ้านราชาวดีหญิง หรือสถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา (หญิง) ทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์จะมีการจัดกิจกรรมของกลุ่มอาสาสมัคร Draw You A Smile ที่หวังจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารความรักกับเด็กๆ กลุ่มนี้

“มีวันหนึ่งมาเลี้ยงอาหารกลางวันน้องๆ ที่บ้านราชาวดีหญิงกับเพื่อน แล้วก็เห็นว่าน้องๆ มีคนมาเลี้ยงอาหารกลางวันอยู่สม่ำเสมอ แต่สิ่งที่ขาดก็คือคนที่ Spend time กับเขา ให้เวลาเขา การให้เวลาเนี่ยไม่จำเป็นจะต้องมานั่งคุยอย่างเดียวหรือจะต้องมาเยี่ยมตลอดอะไรอย่างนี้ใช่มั้ยคะ ก็เลยคิดกิจกรรมขึ้นมาว่าจะทำยังไงดีให้เราใช้เวลากับน้องอย่างเป็นประโยชน์ แล้วน้องๆ ก็เหมือนมีสมาธิ อาจจะมีการพัฒนาศักยภาพของเขาเพิ่มมากขึ้น ก็เลยคิดว่าการทำศิลปะน่าจะเป็นสื่อกลางได้ดีที่สุด” ชนกานต์ เมืองมั่งคั่ง นักวิเคราะห์ธุรกิจ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เล่าถึงที่มาของโครงการฯ

เธอว่ากิจกรรมนี้ไม่ได้คิดขึ้นมาเองคนเดียว แต่ได้มีการปรึกษาเพื่อนที่เป็นหมอและหาข้อมูลมาพอสมควรว่าอะไรน่าจะเหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้และตรงตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่ต้องการ “ให้เวลา” กับพวกเขามากกว่าการสอนทักษะในด้านใดด้านหนึ่ง

“คือบางทีน้องๆ บางคนก็อาจจะไฮเปอร์บ้าง อยู่ไม่นิ่ง ซน อะไรอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าถ้าได้ทำกิจกรรมศิลปะ น้องก็จะได้นั่งที่นานๆ แล้วพี่ๆ ก็ได้เข้ามาพูดคุย ทั้งสอนศิลปะด้วยหรือจะสอนเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในภาพนั้นอะไรอย่างนี้ค่ะ”

เมื่อสมการคือ ศิลปะ-รอยยิ้ม-ความสุข ชื่อโครงการจึงเป็น Draw You A Smile เริ่มต้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทว่าได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด หลังจากประกาศหาอาสาสมัครมาร่วมสานฝัน ไม่นานก็ได้คนใจเดียวกันมาร่วมกิจกรรม จนถึงตอนนี้กว่า 8 เดือนของการรับสมัครทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค มีจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 500 คนแล้ว

“เราจะให้อาสาสมัครลงชื่อและข้อมูลส่วนตัว คล้ายๆ เป็นแบบฟอร์มออนไลน์ แล้วพอใกล้ๆ วันที่จะทำกิจกรรมก็จะส่งอีเมล แล้วก็ไลน์ไปให้คนทุกคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมว่า กิจกรรมวันนี้จะเป็นอะไร อาสาสมัครต้องเตรียมอะไรบ้าง”

โดยแต่ละครั้งจะจำกัดจำนวนอาสาสมัครไว้ที่ 50-60 คน สิ่งที่ต้องเตรียมไม่มีอะไรมาก อย่างแรกคือ ‘เตรียมใจ’ เพราะน้องๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางสมอง แต่ละคนจะมีบุคลิกเฉพาะและอาจสื่อสารกันได้ยากในช่วงแรกๆ อย่างที่สองคือ ‘เตรียมตัว’ เนื่องจากน้องๆ เป็นเด็กผู้หญิง สิ่งที่ “ไม่ควร” จึงเป็นเรื่องการแต่งตัวไม่เหมาะสม และสิ่งที่ต้องย้ำว่า “ไม่ได้” โดยเฉพาะอาสาสมัครที่เป็นผู้ชาย คือการถูกเนื้อต้องตัว

“ถ้าน้องจะมากอดเราอะไรอย่างนี้ โอเคเราก็ต้องบอกน้องว่าไม่ได้นะ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีการกอดถึงเนื้อถึงตัว คือน้องๆ เขาอาจจะรู้สึกดีกับการสัมผัสใกล้ชิด ก็ต้องเข้าใจค่ะ เขาจะแสดงออกว่าเขาอยากจะได้รับความรักอะไรอย่างนี้ เราก็จะบอกว่าโอเคกอดได้นะ แต่พอกอดเสร็จแล้วเดี๋ยวเรามาทำกิจกรรมศิลปะกัน”

สำหรับเทคนิคการสอนปล่อยให้เป็นความถนัดของแต่ละคน จะวาด จะเขียน จะคุย จะเล่น...ไม่เป็นไร ขอแค่ใช้เวลาสั้นๆ แชร์ความรักให้กันก็พอ

งานนี้แม้จะมีเฮี้ยวบ้าง ซนบ้าง ซึมบ้าง ตามสไตล์ของแต่ละคน แต่ไม่นานสีสันที่พี่อาสากับน้องๆ ช่วยกันแต่งแต้มก็ค่อยๆ ซึมลึกเป็นความผูกพัน และแปรเป็นรอยยิ้มทุกครั้งที่พวกเขารู้ว่าวันนี้จะได้ระบายสีอีกครั้ง

 

ให้ ‘ฉัน’

บ้านราชาวดีหญิง ปัจจุบันอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงจำนวน 524 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2558) ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 7-18 ปี ที่โตขึ้นมาหน่อยคืออายุ 18 ปีขึ้นไปมี 127 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตนเองได้บ้าง พิการซ้ำซ้อนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และกลุ่มอาการทางจิตประสาท ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

สำหรับกลุ่มที่พอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ช่วงพักเด็กๆ จะออกมาวิ่งเล่นกันที่สนาม แต่ถ้าวันไหนมีกิจกรรมระบายสี พวกเขาก็จะออกมานั่งรอด้วยท่าทางตื่นเต้น

และทันทีที่เห็นอาสาสมัครหนุ่มสาวมาพร้อมกับอุปกรณ์ระบายสี ทั้งสีเทียน สีไม้ บางคนตรงเข้ามาสวมกอด บ้างจับแขนจูงมือไปวาดภาพ แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่น้องๆ เท่านั้นที่รอคอยช่วงเวลานี้ พี่ๆ ก็ดูตื่นเต้นไม่แพ้กัน

มนัญชยา เลขวรรณวิเศษ สาวออฟฟิศจิตอาสา บอกว่ามาร่วมกิจกรรม 7-8 ครั้งแล้ว ตอนแรกแค่อยากมาดูว่าน้องๆ เขาอยู่กันอย่างไร อยากมาสอนระบายสี แต่ว่าพอมาจริงๆ กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

“มันไม่ใช่การสอน เหมือนเรามาร่วมกิจกรรม มาแชร์เวลากับน้องๆ มากกว่า”

และแล้วด้วยความใสซื่อและขี้อ้อนของเด็กที่นี่ก็ทำให้เธอต้องกลับมาอีก “คือน้องๆ เขาจะชอบอ้อน แล้วเขาจะจำเราได้ จะคุยให้ฟังว่าเขาเจอนู่นนี่ เจออะไรมาบ้าง พอมาหลายๆ ครั้งก็เหมือนเป็นการสานสัมพันธ์”

จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ ก็กลายเป็นว่าน้องๆ ให้กลับคืนมามากกว่า

“เราได้จากเขาหลายอย่างเลย ได้เรียนรู้ ได้แชร์ ได้แบ่งปัน จริงๆ มันเป็นโมเมนท์ที่แฮปปี้มาก อยู่กับน้องๆ สบายๆ"

และไม่ใช่แค่น้องๆ ที่มีพัฒนาการมากขึ้น พี่ๆ อาสาก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง "คนที่มาทำกิจกรรมแรกๆ อาจจะยังไม่ชิน เพราะน้องแต่ละคนเขาจะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่าง บางคนก็มีงอแงๆ มีดื้อบ้าง แต่นานๆ ไปทำให้เรามีความอดทนมากขึ้น ใจเย็นขึ้น”

อีกหนึ่งคนที่อาสามาบ่อยๆ อภิวัฒน์ วงศ์วโรฬาร บอกว่าแค่ได้มาคุย มาเห็นน้องๆ มีความสุขในการทำกิจกรรม เราก็มีความสุขแล้ว คล้ายๆ กับ ณัฐฐิญา ศรีเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่เห็นว่านี่คือการแบ่งปันความสุข

“ปกติไม่เคยสัมผัสกับคนที่เหมือนน้องเหล่านี้ ก็เลยอยากรู้อยากมาสร้างความสุขให้เขา”

สำหรับคนที่มาครั้งแรกอย่าง ธิติมา พรหมทันใจ สาวออฟฟิศอีกคน เล่าถึงแรงจูงใจในการมาร่วมสร้างรอยยิ้มครั้งนี้ว่า ปกติเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว สมัยเรียนเคยอยู่ชมรมอนุรักษ์ แต่จะเป็นลักษณะออกค่ายมากกว่า

“มาถึงตอนแรกก็รู้สึกว่าจะรับมือได้มั้ย เพราะว่าน้องๆ ดูเดาอารมณ์ยากมากเลย ยังไม่เคยทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ แต่ขอแค่ได้รอยยิ้มของน้องๆ ก็พอแล้ว”

ขณะที่จิตอาสารุ่นเล็ก อย่าง ปานชีวา สละชั่ง และ ระเบียบ โพธิ์ชัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่าอยากทำกิจกรรมแบบนี้เพราะคิดไว้ว่าจะเรียนต่อด้านจิตวิทยา

“หนูว่ามันเป็นความสุขนะ หนูรู้สึกว่าเขาจริงใจดี ทำให้เขามีความสุข เราก็มีความสุข”

คงจะจริงที่ว่า...“ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” เมื่อกิจกรรมนี้มีแต่ได้กับได้ หลายคนจึงขออาสาเป็นขาประจำของ Draw You A Smile ด้วยความเต็มใจ

 

ให้ ‘กัน’

สองชั่วโมงในแต่ละครั้ง อาจไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็ผ่านไปอย่างน่าประทับใจ และนี่คงเป็นอีกครั้งที่กระดาษเปื้อนสี ขณะที่ใบหน้านั้นเปื้อนรอยยิ้ม

ชนกานต์ เล่าว่าที่นี่จะมีเด็กๆ ที่มีความบกพร่องในหลายระดับ บางคนมีปัญหาด้านสมอง บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับ IQ หลังจากที่ทำกิจกรรมติดต่อกันมาประมาณ 8 เดือน ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง

“ถ้าน้องที่มีปัญหาทางด้าน IQ จะเห็นพัฒนาได้ดีกว่า ก่อนหน้านี้อาจจะจำชื่อตัวเองไม่ได้ พูดชื่อตัวเองไม่ได้ ต้องให้เพื่อนช่วยบอกว่าตัวเองชื่ออะไร พอเราพูดคุยกับเขาแล้วลองให้เขียนชื่อตัวเองบนกระดาษก็จะเขียนไม่ได้ แต่พอสักสองสามสัปดาห์มาอีกครั้งหนึ่งเนี่ย น้องเขาก็รู้แล้วว่าตัวเองชื่ออะไร สามารถเขียนชื่อตัวเองได้ ส่วนบางคนถามเรื่องการ์ตูน ถามเรื่องสัตว์อะไรต่างๆ ว่าสีอะไรเขาก็จะเริ่มตอบได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาจะงง ตอบไม่ได้ อาจจะสับสนอยู่”

ในมุมมองทางด้านจิตวิทยา นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อธิบายไว้ในบทความเรื่อง ‘ศิลปะบำบัดในเด็กพิเศษ’ ว่า ศิลปะก็คือหนทางแห่งการปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ตามความต้องการของแต่ละคน และช่วยพัฒนาศักยภาพในด้านการเรียน การเล่น และการแสดงออกต่างๆ

“ศิลปะบำบัด มีประโยชน์ในด้านการพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะสังคมอีกด้วย”

และไม่ว่ากิจกรรมนี้จะเรียกว่าศิลปะบำบัดได้หรือไม่ อย่างน้อยการเปิดโลกเปิดใจให้พวกเขาได้รับรู้ความรู้สึกด้านบวกจากคนภายนอกผ่านกิจกรรมวาดๆ เขียนๆ ก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้แบ่งปันสิ่งที่ ’มี’ ขณะที่อีกกลุ่มได้เติมเต็มในสิ่งที่ ’ขาด’

“คอนเซปต์ของเรามี 3 ให้ ให้แรกคือให้เวลา นั่นก็คือการมาเป็นอาสาสมัคร ให้ที่สองคือให้อุปกรณ์ศิลปะ คือถ้าอยากบริจาคทั้งของใหม่ของเก่าก็ติดต่อได้ ให้ที่สามก็คือให้ทุนเพื่อที่จะทำเรื่องนี้อย่างเดียวเลย ส่วนใหญ่เงินที่ได้ก็จะนำไปซื้อถุงพลาสติกมาใส่ขยะ ซึ้อกล่องเพื่อจะแยกสีเป็นกล่องเล็กๆ เพราะสีที่ใส่ในกล่องกระดาษ เวลาใช้แล้วมันพัง” ชนกานต์ กล่าวและว่าสิ่งที่อยากได้มากที่สุดตอนนี้คือสีไม้แท่งยาว

“ที่อยากได้สีไม้เพราะน้องๆ ชอบ แล้วที่ต้องยาวเพราะเขาชอบเหลา เหลาจนกุด แท่งยาวมันเลยสะดวกกว่า” พูดไม่ทันขาดคำ เด็กหญิงคนหนึ่งก็เดินมาขอสีเพิ่มทำนองว่าอยากจะไปวาดเล่นคนเดียว ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันอยู่สักพักถึงยอมกลับไปเข้ากลุ่ม

เธอว่าเด็กแต่ละคนจะมีบุคลิกที่แตกต่างกัน ยิ่งมาบ่อยๆ ก็จะยิ่งเข้าใจ และได้เรียนรู้มากขึ้น ประสบการณ์หลายอย่างที่ได้จากที่นี่ทำให้มีความอดทน ใจเย็น และนำไปใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

“อย่างงานที่ทำ พอเราได้รับโปรเจคท์มาก็จะวิเคราะห์ว่าน่าลงทุนหรือเปล่า อันนี้ก็คล้ายๆ กัน มันเหมือนเป็นโปรเจคท์หนึ่งที่มีปัญหาอุปสรรค ก็ต้องบริหารจัดการ วัตถุดิบ คน สิ่งของที่เขาให้มา พวกอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ ทำให้เรารู้จักการจัดการมากขึ้น รู้จักใช้คนมากขึ้น สามารถเอาความรู้จากการทำงานมาใช้ได้เหมือนกัน”

เพียงแต่สิ่งที่ต่างกันอย่างมากมายก็คือผลตอบแทนของโปรเจคท์นี้ไม่ใช่กำไรสูงสุด?

“มันเป็นผลตอบแทนทางใจมากกว่า พอมาครั้งแรกแล้วก็อยากกลับมาอีก ก็เลยคิดถึงโครงการอะไรที่ทำให้ทั้งเราและน้องได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พอผ่านมาหลายๆ เดือน เรามาสม่ำเสมอ เขาก็เริ่มจำเราได้ เหมือนรู้ว่าเราแคร์เขาใส่ใจเขา มันเป็นเรื่องความรู้สึกที่มีความสำคัญเหมือนกัน ก็เลยอยากจะชวนให้มาร่วมกันสร้างรอยยิ้มให้กับน้องๆ มาให้เวลากับน้องๆ มาศึกษามาคุยกับน้องๆ ค่ะ ใครสนใจสามารถเข้าไปดูในเฟซบุ๊คแฟนเพจของโครงการ Draw you A smile ได้”

...แล้วคุณจะรู้ว่ารอยยิ้มของพวกเขาเติมเต็มหัวใจคุณได้มากแค่ไหน