3 โรคร้ายรุมเร้าพระสงฆ์-สามเณร

 3 โรคร้ายรุมเร้าพระสงฆ์-สามเณร

แพทย์ชี้ 3 โรครุมเร้าพระสงฆ์-สามเณร เกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

แพทย์ชี้ 3 โรครุมเร้าพระสงฆ์-สามเณร เกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน เหตุจากฉันอาหารที่มีรสจัด หวานจัด เค็มจัด มีแป้ง ไขมันสูงและขาดการออกกำลังกาย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลการรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสงฆ์ ปี 2555-2557 พบว่าพระสงฆ์- สามเณรอาพาธด้วยโรค 3 อันดับแรก คือ โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบโรคอื่นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น ไขมันในเลือดสูง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก เป็นต้น สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การฉันภัตตาหารที่รสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด มีแป้งและไขมันสูง และขาดการออกกำลังกายหรือการบริหารร่างกาย ส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย

ดังนั้นการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ควรคำนึงถึงอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีรสเค็มจัดหวานจัด หรือมันจัดแต่เน้นอาหารที่มีผักมากๆ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ คือ อาหารประเภทนม ควรเลือกถวายนมพร่องไขมัน เหมาะสำหรับพระสงฆ์ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง อาหารประเภทข้าว ควรเลือกถวายอาหารประเภทข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพราะจะให้ประโยชน์เรื่องใยอาหารและวิตามินบีรวม อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ควรเลือกเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ อาหารประเภทผัก ควรเป็นผักหลากสีซึ่งจะมีวิตามินต่างกัน อาหารประเภทผลไม้ ควรเลือกผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เช่น ส้ม มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ส้มโอ ฝรั่ง สับปะรด กล้วย แอปเปิ้ล แก้วมังกร เป็นต้น ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการถวายอาหารที่ใช้น้ำมันจำนวนมากในการปรุง เช่น อาหารที่มีกะทิ อาหารที่ปรุงโดยการผัดน้ำมันมากๆ และอาหารทอด ควรงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงการถวายขนมที่มีรสหวานจัด เพื่อให้พระสงฆ์-สามเณรมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

สำหรับวิธีการออกกำลังกายที่พระสงฆ์สามารถทำได้โดยง่ายและเหมาะสมกับทุกวัย คือ การเดิน เช่นการเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม ซึ่งควรเดินต่อเนื่อง 30 นาทีขึ้นไป หรือเดิน 10 -15 นาที 2-3 รอบ สะสมรวมกัน 30 นาที นอกจากนี้ควรมีกิจกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การกวาดลานวัด หรือการขึ้นลงบันได ยกเว้นพระสงฆ์สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งก่อนและหลังการออกกำลังกายควรมีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความตึงและเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและกล้ามเนื้อ และควรออกกำลังกายในช่วงที่ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป ถ้าฉันภัตตาหารไปแล้วควรรอหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยมาก หอบ หายใจไม่ทัน วิงเวียนศีรษะ หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม ควรหยุดออกกำลังกายทันที