กมธ.ยกร่างฯปรับที่มาส.ว.เลือกตั้ง

กมธ.ยกร่างฯปรับที่มาส.ว.เลือกตั้ง

กมธ.ยกร่างฯปรับที่มาส.ว.เลือกตั้ง ตัดคณะกรรมการกลั่นกรอง ด้านส.ว.สรรหาที่มา 4 แนวทาง ให้กกต.จับสลากเลือกได้ 15 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนและการได้มาซึ่งส.ว.โดยบัญญัติให้มีส.ว.จำนวนไม่เกิน 200 คน แบ่งเป็นระบบเลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา จำนวน 123 คน โดยส.ว.เลือกตั้ง จะมาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ1คน จะไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่คัดกรองบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมในแต่ละจังหวัด จำนวน10คน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกเสียงลงคะแนน เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้กำหนดไว้ โดยสาเหตุที่ต้องตัดคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครส.ว.เลือกตั้ง เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯเห็นว่า เมื่อมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยอำนาจของประชาชนแล้ว ก็ไม่ควรมีคณะกรรมการกลั่นกรองดังกล่าวอีก เพื่อให้ส.ว.เลือกตั้งเป็นส.ว.เลือกตั้งอย่างแท้จริง

ทั้งนี้สำหรับการสรรหาส.ว.จำนวน 123 คน จะมีที่มาจำนวน 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารและข้าราชการฝ่ายทหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งเลือกกันเองแต่ละประเภทไม่เกิน 5 คน จากเดิมที่กำหนดไว้ประเภทละไม่เกิน 10 คน 2.ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จับสลาก จำนวนไม่เกิน 15 คน

3.ผู้แทนองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคล ด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและศึกษา ด้านชุมชม และด้านท้องถิ่นและท้องที่ ซึ่งมาจากการสรรหาไม่เกิน ด้านละไม่เกิน 6 คน 4.ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การเศรษฐกิจ การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเด็กเยาวชน สตรี ด้านผู้พิการ ผู้ด้อนโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่น ซึ่งมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา จำนวน68คน จากเดิมที่กำหนดไว้ จำนวน58คน

แหล่งข่าวในกมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า สาเหตุที่กำหนดให้กกต.มาทำหน้าที่จับสลากผู้สมควรดำรงตำแหน่งส.ว.ตามแนวทางที่ 2เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯเห็นว่าจะมีผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ จำนวน 20-30 องค์กร ที่จะสามารถส่งผู้แทน เพื่อมาดำรงตำแหน่งส.ว.ได้ จึงเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของกกต.ในการจับสลากและสุ่มเลือกบุคคลที่เหมาะกับการดำรงแหน่งส.ว.ได้เลย ขณะเดียวกันทางกมธ.ยกร่างฯได้มอบหมายให้พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างฯ ไปกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการสรรหาส.ว.ตามแนวทางที่4เอาไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ต่อไป