แบ่งปันประสบการณ์ไทย ปลดล็อคไอยูยู

แบ่งปันประสบการณ์ไทย ปลดล็อคไอยูยู

อธิบดีกรมประมงมอลต้า - เอฟเอโอ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้ไทย ปลดล็อคไอยูยู

วานนี้( 7 ก.ค.)โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการสัมมนา หัวข้อ “การทำประมงเพื่ออนาคต : สู่การทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนในประเทศไทย” โดยได้มีการเชิญผู้แทนต่างชาติจากหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการขจัดและยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) และการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน  

นายไซมอน ฟังก์-สมิธ เจ้าหน้าที่การประมงอาวุโส องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) สำนักงานภูมิภาคประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวตอนหนึ่งว่า ในช่วง 20 ปีมานี้ ปริมาณปลาที่จับได้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 78-83 ล้านตัน การประมงในภูมิภาคนี้มีการจับปลามากเกินไป ศักยภาพในการจับปลามีมาก เรือพัฒนาไปเยอะ แต่ปลาและทรัพยากรมีน้อยลง เพราะถูกจับมากขึ้นส่งไปทั่วโลก บริษัทแปรรูปสัตว์น้ำที่โตขึ้นต้องการผลิตภัณฑ์สู่ระบบมากขึ้น  

ไอยูยู คือเอาเรือไปจับปลาข้ามพรมแดนอีกประเทศโดยไม่มีใบอนุญาต หรือทำผิดใบอนุญาต ทั้งนี้เรือราว 1.6 ล้านลำในภูมิภาคเป็นเรือที่มีการปลอมใบทะเบียนเรือ ใช้เลขทะเบียนเรือเดียวกัน หรือใช้ชื่อเดียวกันหลายลำ นอกจากนี้ยังจับปลาในประเทศหนึ่งขนข้ามไปถ่ายใส่เรืออีกประเทศ และยังมีปัญหาทางเทคนิค ใช้อวนลากในน้ำตื้น ใช้ตาข่ายไม่เหมาะสม ใช้ไซยาไนต์ในพื้นที่มีปะการังก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ยังเชื่อมกับการค้าสัตว์ที่ระบุในไซเตส อาทิ เต่าทะเล พันธุ์สัตว์หากยาก และหูฉลาม ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งสร้างความเสียหายราว 10,000-23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี  

"แม้การทำผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องเสี่ยง แต่คนก็อยากเสี่ยงปัจจัยหลักเพราะจะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น มีการเข้าไปลักลอบทำประมงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ(อีอีแซด) ของประเทศอื่นเพราะการตรวจตรามีน้อย ปัจจุบันกรอบกฎหมายในประเทศต่างๆ ไม่ทันสมัยมากพอ หลายครั้งเรือถูกจับก็จ่ายเงินใต้โต๊ะ โอกาสที่เรื่องจะไปถึงศาลจึงมีน้อยมาก" เจ้าหน้าที่การประมงอาวุโสเอฟเอโอ กล่าว พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า มาตรการที่ไทยทำอยู่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในประเทศ และเชื่อว่า อียูอาจจะพิจารณาอีกครั้งโดยดูจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นี่เป็นเรื่องใหญ่แต่ตราบใดที่รัฐบาลและทุกคนพยายามแก้ไข ตนก็เชื่อว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีและยังหวังผลในแง่ดี" นายไซมอน ฟังก์-สมิธ กล่าว  

Dr.Andreina Fenech Farrugia อธิบดีกรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สาธารณรัฐมอลตา กล่าวว่า ในฐานะที่มอลตาเคยมีประสบการณ์ได้ใบเหลืองจากอียูมาก่อนเกี่ยวกับการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินแต่สามารถแก้ไขจนหลุดพ้นมาได้ ก่อนปี 2549 ปริมาณปลาทูน่าครีบน้ำเงินลดลงเรื่อยๆ ทั้งขนาดและปริมาณ จากนั้นจึงมีการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน มีการกำหนดโควต้าในการจับของแต่ละประเทศ มีการให้คำแนะนำว่าฤดูใดไม่ให้จับปลาทูน่าและจับได้แค่ไหน มีการจัดผู้ตรวจและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมต่างๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ โดยใช้ดาวเทียมควบคุม 9 ปีให้หลังสถานการณ์จึงดีขึ้น มีการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด ขณะนี้สามารถเพิ่มโควต้าในการจับปลาได้มากขึ้นถึง 20% เพราะปริมาณปลาเพิ่มมากขึ้น  

อธิบดีกรมประมงฯ มอลตา กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นว่า วิธีการที่ไทยจะก้าวต่อไปได้จะต้องลงทุนในเรื่องของคนมากขึ้น สร้างความพร้อมให้กับบุคลากรในกรมกองที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดการปฏิบัติ ทั้งกรมประมง องค์การต่างๆ ต้องปรับปรุงตัวให้มีความพร้อม เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการอบรม ต้องพร้อมที่จะทำงาน 24 ชม.แบบไม่มีวันหยุด มีการทำโทษอย่างรุนแรงสำหรับคนที่จับปลาที่ไม่เหมาะสม เรือใหญ่ที่ขาดการรับผิดชอบ ภาครัฐจะต้องพยายามช่วยเหลือ และสอนวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในการทำประมงแบบยั่งยืน  

อธิบดีกรมประมงฯ มอลตา กล่าวเสนอแนะว่า ในไทยต้องมีข้อมูลให้รู้ว่าคนจับปลาแต่ละชนิดมีเท่าใด เป็นใครบ้าง และใช้เครื่องมือแบบไหน ต้องควบคุมอุปกรณ์ที่คิดว่าไม่เหมาะสม เมื่อทราบแล้วก็ต้องไปคิดแผนฟื้นฟูและบังคับใช้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าจะมีชาวประมงที่ได้รับผลกระทบและต้องจอดเรืออยู่แต่ต้องนึกถึงความยั่งยืนที่เราจะได้ มอลตาใช้เวลาถึง 9 ปี คนยอมลดปริมาณเรือลง ชาวประมงได้รับการให้ความรู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต บางคนเปลี่ยนจากจับปลาไปเป็นเพราะพันธุ์สัตว์น้ำ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดู ร่วมกันร่างแผนฟื้นฟูที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ

นายนิค ไคท์ลีย์ ผู้บริหารองค์กรมาตรฐานจริยธรรมพื้นฐานทางการค้า ประเทศสหราชอาณาจักร ชี้ว่า โมเดลของการประมงแบบยั่งยืนในภูมิภาคนี้ได้พังทลายไปแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้อีกได้ สถานการณ์ในไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ต้องพยายามแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้จริงไม่ใช่ตำหนิอย่างเดียว เราเห็นว่าเมื่อมีความต้องการแรงงานหรือมีการจ้างงานมากขึ้น ก็ต้องทำให้คนอยากไปทำงานบนเรือเพราะเป็นที่ทำงานซึ่งมีความปลอดภัยซึ่งผิดจากความเป็นจริงในขณะนี้

“เราอยากเห็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม มีการพัฒนาทักษะ และประสบการณ์ รวมถึงให้มูลค่ากับประสบการณ์เพราะจะทำให้ผลงานเพิ่มขึ้น พยายามทำให้ระบบที่พังไปแล้วกลับมาใช้ได้อีก โดยมีระบบการจัดการที่ใช้งานได้ อุปสงค์ระดับโลกมีมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมประมงไทยก็มีการเติบโต ผลผลิตมีมูลค่าสูง ได้รับการยอมรับในระดับโลก ทั้งหลายเหล่านี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ดีและจะเป็นประโยชน์ต่อไป” นายไคท์ลีย์ กล่าว 

นายไคท์ลีย์ กล่าวด้วยว่า ความท้าทายที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ เมื่อปฏิบัติกับแรงงานไม่ดี แรงงานก็อยากหนี ไม่มีคนอยากทำงานก็ต้องไปหาแรงงานจากพม่า กัมพูชา บางคนไม่เคยเห็นเรือมาก่อน ไม่เคยแม้แต่เห็นทะเล ไม่มีทักษะในการทำงาน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับธุรกิจซึ่งควรต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ ขณะที่บริษัทเองก็ต้องมีความโปร่งใส จำเป็นต้องควบคุมห่วงโซ่การผลิตของตนเอง สืบย้อนไปตั้งแต่ผู้ค้าปลีก จับปลามาได้นำมาขาย นำไปแปรรูปในโรงงาน หรือเรือที่ทำประมง บริษัทก็ต้องเปิดใจ ปัญหาคือคนไม่ได้พยายามแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น และต้องเข้าใจว่าการทำให้เกิดความโปร่งใสไม่ใช่การไปลงโทษ ทุกประเทศมีปัญหาการอพยพแรงงาน ไม่มีประเทศใดมีแรงงานพอเพียง ต้องใช้แรงงานอพยพ แต่จะจัดการอย่างไรให้มีความยุติธรรม ถ้าทำด้วยความโปร่งใส ระบบจะไปได้เอง เราต้องมีวิธีที่เหมาะสมในการจัดการปัญหาใหญ่ๆ ไม่ได้ดูแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ต้องดูข้างล่างด้วย

 

ในส่วนการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืนในประเทศไทย : ความคืบหน้า ความท้าทาย และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังจากนี้การทำประมงจะต้องคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อภาครัฐ อุตสาหกรรมประมงไทย ประมงพื้นบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เรียนรู้ร่วมกันในการทำประมงแบบยั่งยืนตามหลักสากล โดยขณะนี้กรมประมงมีมาตรการดำเนินการขจัดและยับยั้งทำประมงผิดกฎหมายในแบบเชิงรุก โดยการเตรียมจะนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ติดตามเรือประมงทางอากาศ  

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่เรือประมงหยุดออกปลาในขณะนี้นั้น ได้สั่งการให้ประมงจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดที่มีติดทะเลเร่งออกหน่วยโมบายยูนิต เพื่อเร่งรัดให้เจ้าของมาจดทะเบียนเรือ และออกใบอาชญาบัตรให้ถูกต้อง ทั้งนี้ พบว่า การหยุดเดินเรือประมงไม่ส่งกระทบต่อการบริโภคอาหารทะเลในประเทศ เพราะอาหารทะเลที่มีอยู่ในสต๊อกยังมีจำนวนมาก ขณะนี้ผู้ประกอบการอาหารทะเลแช่แข็งเริ่มปล่อยสินค้าอาหารทะเลออกมาสู่ตลาดในประเทศ ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านก็สามารถจับปลาได้มากขึ้น และยืนยันว่า ไม่กระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลไปยังต่างประเทศ และแม้ว่า จะมีผลิตภัณฑ์เนื้อปลาบด (Surimi) ขาดตลาดบ้าง แต่ผู้ประกอบการก็สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นมาแปรรูปเพื่อส่งออกได้  

ดร.วราภรณ์ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลแก้ปัญหาการประมงมาถูกทางแล้ว ในช่วงเวลา 4 เดือนที่เหลือก่อนที่อียูจะพิจารณาการดำเนินแก้ไขประมงของไทย เชื่อว่า ความพยายามทั้งหมด จะไม่ทำให้ประเทศไทยได้รับใบแดงจากอียูแน่นอน ส่วนจะได้ใบเหลืองต่อหรือไม่ ก็ไม่อาจคาดเดาได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกมาตรการที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า รัฐบาลได้ดำเนินงานเต็มที่ เพื่อการทำประมงที่ยั่งยืนของไทย และคาดว่า ไทยจะทราบผลการพิจารณาของอียูในวันที่ 20 ตุลาคมนี้  

ดร.วราภรณ์ กล่าวถึงข้อมูลประเทศไทยนำเข้าสัตว์น้ำจาก 37 ประเทศส่งไปยุโรป และนำเข้าสัตว์น้ำจาก 70 ประเทศเพื่อส่งไปทั่วโลก จากการที่เจ้าหน้าที่เทคนิคอียูลงพื้นที่ประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการติดตั้งระบบวีเอ็มเอส ซึ่งเป็นระบบติดตามเรือประมงในทะเล ขณะนี้ได้มีการติดตั้งซอฟแวร์เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และสามารถติดตามเรือที่มีการติดตั้งระบบวีเอ็มเอสได้แล้ว โดยปัจจุบันมีเรือประมงไทยขนาด 60 ตันกรอสอยู่ประมาณ 2,000 ลำ ซึ่งมีการติดตั้งระบบดังกล่าว จำนวน 498 ลำ ส่วนที่เหลือกว่า 1,500 ลำ คาดว่า กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่ากำลังเร่งให้มีการติดตั้งระบบวีเอ็มเอสให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน ขณะที่เรือประมงนอกน่านน้ำติดตั้งแล้ว 45 ลำ นอกจากนี้ กรมประมงได้เชิญผู้ประกอบการประมงน่านน้ำปาปัวนิวกินีที่ติดธงไทยมาพูดคุย โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้รับปากจะร่วมติดตั้งระบบวีเอ็มเอสให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2558  

ด้าน ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในอุตสากรรมไทยว่า การที่อียูให้ใบเหลืองประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายที่ให้โจทย์มาใน 3 เรื่อง ได้แก่ การต่อต้านการค้ามนุษย์ การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย และการส่งเสริมทำประะมงอย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันอุตสากรรมการประมงไทยที่ส่งไปทั่วโลก คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ หรือมีการส่งออกไปกว่า 100 ประเทศ เรามั่นใจในระบบการจัดการในอุตสากรรมไทยในตอนนี้ โดยเรามีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบเข้ากับกฎหมายใหม่ไทย และยังให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อย่าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ในเรื่องแก้ไขปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมงที้่ผิดกฎหมาย ถามว่า ทรัพยากรในอ่าวไทยเป็นของใคร เรามองว่าไม่ได้เป็นของไทยประเทศเดียว แต่เป็นของโลก ทั้งนี้ ขอยืนยันการดำเนินงานของอุตสากรรมการประมงไทย ต่อการให้ร่วมมือกันเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลไว้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้เราสนับสนุนกฎหมายประมงของรัฐบาล และประกาศเจตนารมย์จะไม่ซื้อปลาที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน เราก็มีระบบการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลที่ตัวเลขต้องตรงกับประเทศต้นทางที่ส่งออกมายังประเทศไทย ดังนั้นขอให้มั่นใจต่อการดำเนินการของไทยได้