สายทิพย์ เพ่งศรี ภารกิจพิชิต‘อีโบลา’

สายทิพย์ เพ่งศรี ภารกิจพิชิต‘อีโบลา’

หญิงแกร่งจากเมืองไทย เดินทางไกลไปไลบีเรียเพื่อปฏิบัติการร่วมกับอาสาสมัครนานาชาติในการต่อต้านการระบาดของอีโบลา

ทว่า สถานการณ์ที่ดูเหมือนจะจบ...กลับยังไม่จบ

จากไข้หวัดมรณะ‘ซาร์ส’ (SARs) เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สู่สถานการณ์การระบาดของ ‘อีโบลา’ (Ebola) ในทวีปแอฟริกา ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกินหมื่น ล่าสุดคนไทยก็ได้เผชิญหน้ากับไวรัส‘เมอร์ส’ (MERs) ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางด้วยตัวเอง

แม้คนส่วนใหญ่จะทำความรู้จักกับ โรคอุบัติใหม่ มาพอสมควรแล้ว แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์อันน่าหวาดวิตกของการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงเหล่านี้ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าถี่ขึ้นหนักขึ้นจะเป็นเรื่องที่วางใจได้

ดร.สายทิพย์ เพ่งศรี นักวิจัยทางการแพทย์จาก หน่วยคุ้มครองสุขภาพโลก (Global Disease Detection) หรือ GDD ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย และศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US-CDC) เป็นคนหนึ่งที่ได้ทำวิจัยเรื่องโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสเข้าร่วมกับตัวแทนจากหลายประเทศในการรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่ประเทศไลบีเรีย ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม -1 พฤษภาคม 2558 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ไลบีเรียปลอดจากอีโบลา

แต่แล้วเมื่อไม่กี่วันก่อนกลับมีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ไลบีเรียอีก ทำให้ความกังวลต่อภัยคุกคามมนุษยชาติที่เรียกกันว่าโรคอุบัติใหม่ รวมถึงโรคอุบัติซ้ำ กลายเป็นความไม่แน่ใจว่าเราสามารถควบคุมความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโรคร้ายหน้าใหม่เหล่านี้ได้หรือไม่

 

ทำไมถึงพบการติดเชื้ออีโบลาที่ไลบีเรียอีก                      

เท่าที่ตามข่าว ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากไหน เพราะในไลบีเรียหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นประเทศปลอดจากอีโบลา นี่ก็ผ่านมาประมาณ 7 อาทิตย์แล้วก็ไม่มีผู้ป่วยใหม่เลย แต่เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกินี และเซียราลีโอน ยังพบผู้ป่วยอีโบลาอยู่ เป็นไปได้ว่าผู้เสียชีวิตอาจจะมีประวัติการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วรับเชื้อมา หรืออาจจะติดจากสัตว์ป่าที่มีเชื้อ ซึ่งทางไลบีเรียคงจะทำการตรวจสอบต่อไป และคงจะมีรายงานออกมาในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตามก็ได้มีการติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัส กับผู้เสียชีวิต รวมถึงการฝังศพผู้เสียชีวิตก็ได้มีการดำเนินการตามหลักการป้องกันการติดเชื้อ

ส่วนเรื่องการระบาด หรือจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น อันนี้เราคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าระบบเฝ้าระวังที่มีอยู่ รวมทั้งการติดตามผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้เสียชีวิต และผู้สัมผัสเองว่าถ้ามีอาการป่วยแล้วจะดำเนินการอย่างไร จะแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือไม่ รวมทั้งเมื่อเริ่มป่วยก็ต้องระวังตัวอย่าให้สารคัดหลั่งต่างๆ ปนเปื้อนกับคนรอบข้าง แต่การที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิต และตรวจพบอีโบลา อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางไลบีเรียได้มีการดำเนินมาตรการในเรื่องการตรวจหาผู้ป่วยได้ทันท่วงที (ในที่นี้คือผู้เสียชีวิต) เมื่อเจอก็รีบดำเนินการป้องกัน และควบคุมโรค โดยการติดตามผู้มีประวัติสัมผัส ก็จะช่วยให้โรคไม่แพร่กระจายต่อ

ในส่วนของประเทศไทยต้องมีการดำเนินมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนตัวคิดว่าทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็คงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะได้มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างดี รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคนี้อยู่แล้ว เนื่องจากทั้งในประเทศกินีและเซียราลีโอนก็พบมีการระบาดอยู่ ส่วนคนทั่วไปก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารจากทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักดีที่สุด

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยรับมือกับโรคอุบัติใหม่มาหลายครั้งแล้ว?

เริ่มตั้งแต่โรคทางเดินทางหายใจเฉียบพลัน (ซาร์ส) มาถึงไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จนกระทั่งตอนนี้ที่ดังมากก็คือเมอร์ส ถามว่าอุบัติใหม่ไหม อุบัติใหม่ในประเทศไทยเพราะไม่เคยมีผู้ป่วยมาก่อน แต่เป็นโรคที่พบได้ในประเทศทางตะวันออกกลางตั้งแต่ปี 2012 ก็หลายปีมาแล้ว ส่วนของประเทศไทยเองมีการเตรียมพร้อมเรื่องการรับมือโรคพวกนี้มาหลายปีแล้ว กระทรวงสาธารณสุขเองก็มีทีมที่ค่อนข้างแข็งแกร่งตั้งแต่โรคซาร์ส มาถึงไข้หวัดนก จะเห็นได้ว่าประเทศเราไม่มีผู้ป่วยซาร์สเลย อีโบลาก็มีการเตรียมความพร้อม มีการสกรีนนิ่งที่สนามบินและที่ผ่านมาไม่มีผู้ป่วยเลย

สำหรับโรคเมอร์ส ตอนนี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ควบคุมได้?

อย่างตอนอีโบลา องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง และประเทศไทยเองก็ประกาศเหมือนกัน แต่สำหรับเมอร์สตอนนี้องค์การอนามัยโลกไม่ได้ประกาศหรือมีข้อห้ามอะไรต่างๆ ในเรื่องการเดินทาง เพียงแต่ว่าต้องเน้นเรื่องการเฝ้าระวังโรคว่าจะต้องตรวจจับโรคให้ได้เร็ว อย่างผู้ป่วยรายแรกที่มาในประเทศไทย ก็ถือว่าทางบำรุงราษฎร์เตรียมความพร้อมได้ค่อนข้างดีมากและส่งคนไข้มารักษาที่บำราศนราดูรได้ทันท่วงที ถึงวันนี้ก็มีผู้สัมผัสบางกลุ่มที่ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว ดูว่าแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ส่วนคนอื่นที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

โรคอุบัติใหม่ที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดคือโรคอะไร

ถ้าถามในแง่การแพร่กระจายของเชื้อ อีโบลายังร้ายแรงกว่าเมอร์ส แต่จากประสบการณ์ที่ไปไลบีเรียมา มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายๆ ประเทศร่วมกัน และคนในชุมชนก็ค่อนข้างตระหนัก เช่น คนที่สัมผัสผู้ป่วยมาก็จะแยกตัวเองออกจากชุมชน และสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือ เขาค่อนข้างให้ความร่วมมือดีมาก โดยเฉพาะตามสถานประกอบการต่างๆ แต่ถ้าในแง่โอกาสที่จะเสียชีวิต อีโบลามีอัตราตายมากกว่า อย่างไลบีเรียที่ผ่านมานี่ติดเชื้อประมาณหมื่นกว่าคน เสียชีวิตประมาณ 5,000 คน เมอร์สช่วงแรกๆ มีอัตราการเสียชีวิต 50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เฉลี่ยไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มอายุ พบว่า ผู้ป่วยที่อายุมาก รวมทั้งมีโรคประจำตัว หรือภูมิต้านทานต่ำ โอกาสที่จะเสียชีวิตจะสูงกว่านี้

ทราบมาว่าคุณได้เดินทางไปไลบีเรียในช่วงที่มีการระบาดของอีโบลาด้วย เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร

เนื่องจากหน่วยงานเราเป็นของ US-CDC เรื่องตรวจจับและตอบสนองต่อการระบาดของโรคก็เป็นส่วนหนึ่งของงานของเรา และทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ร่วมมือกับ US-CDC องค์การสหประชาชาติ และอีกหลายหน่วยงาน เรียกว่า GOARN (Grobal Outbreak Alert Response Network) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือกันด้านสาธารณสุขเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือเรื่องโรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ ได้ขอความร่วมมือมาว่าอยากได้เจ้าหน้าที่ของ US -CDC ไปช่วยงาน ก็เลยสมัครไป ซึ่งก่อนไปทางหน่วยงานก็จะดูประสบการณ์เราว่าเข้าได้กับสิ่งที่เขาต้องการหรือไม่

ตอนสมัครไปรู้สึกกังวลไหม

จริงๆ คิดอยู่หลายรอบ มันชั่งน้ำหนัก 50/50 ระหว่างอยากไปกับไม่อยากไป ที่อยากไปเพราะเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำคือการเฝ้าระวังโรค การสอบสวนโรคระบาดก็เป็นงานที่อยากทำมานานแล้ว มีโอกาสได้ทำแค่ครั้งเดียวในชีวิตที่ผ่านมา ครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการระบาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับที่ผ่านมาในอดีตก็เลยอยากไป

แต่อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากว่าต้องไปประมาณ 5 อาทิตย์ เราก็ต้องชั่งน้ำหนักกัน คือ แม่ไม่อยากให้ไป ลูกๆ ก็ไม่อยากให้ไป ทุกคนไม่อยากให้ไปเลย แต่นี่คืองานเรา และเป็นสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว สุดท้ายนายถามว่าอยากไปไหม พูดตรงๆ ว่าคนที่ไปก่อนหน้าเราก็มีเยอะ ทั้งไทยทั้งอเมริกัน ด้วยสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากอาหารการกินก็ไม่สะดวก การเดินทางก็ลำบาก คนที่ไปนาน ๆ ค่อนข้าง Burn out เขาจึงต้องการอาสาสมัครที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอนายถามมาก็เลยตอบว่า ไป

พอรู้ว่าได้ไปแน่ๆ แล้ว มีการเตรียมตัวอย่างไร

ต้องบอกว่าทรมานมาก พอคิดว่าจะไปเราไม่ได้คิดมาก่อนว่าขั้นตอนการเตรียมตัวมันเยอะมาก เริ่มตั้งแต่องค์ความรู้ก่อน เรื่องโรค ต่อมาก็คือเรื่องการเดินทาง ต้องอบรม เตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือตรวจเลือด ตรวจเอชไอวี ตรวจตับอักเสบ ตรวจสารพัด ให้แน่ใจว่าสุขภาพแข็งแรงพอ และฉีดวัคซีนอีกประมาณ 10 กว่าเข็ม คือโรคมันเยอะไง แอฟริการู้อยู่แล้วว่ามีทั้งมาลาเรีย ไข้เหลือง อหิวาตกโรค และโรคอื่นๆ อีก ต้องกินยาป้องกันมาลาเรียอีก 11 อาทิตย์ กินตั้งแต่ก่อนไป ระหว่างไป และกลับมาก็ยังต้องกินต่อ กลับมาห้ามบริจาคเลือดด้วยนะ เรื่องทางบ้านอีก เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เรื่องลูกด้วยเพราะตอนนั้นเป็นช่วงลูกปิดเทอม อยากอยู่กับลูกแต่เราก็ไม่ได้อยู่

ภารกิจที่ต้องไปทำคืออะไร

มีหลายส่วน แต่หลักๆ ของเราคือไปร่วมในทีมระบาดวิทยา ก็จะมีหลายทีม ตอนที่ไปถึงไม่มีผู้ป่วยรายใหม่แล้ว เป็นช่วงที่ผู้ป่วยอีโบลารายสุดท้ายเพิ่งเสียชีวิต หน้าที่เราก็คือช่วยออกไปติดตามคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ช่วงนั้นก็ต้องออกไปในชุมชน ไปให้ความรู้เขา ไปติดตามว่าเขาป่วยไหม เป็นอย่างไรบ้าง

เวลาลงพื้นที่ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ต้องสวมชุดป้องกันไหม

ไม่ เพราะเราไม่ได้ไปดูผู้ป่วยอีโบลา แต่ไปดูคนสัมผัสกับผู้ป่วย อีโบลาจะติดต่อเมื่อเริ่มมีอาการ หมายถึงต้องมีเชื้อในตัวและแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่น หรือมีเลือดออก เป็นต้น อีกอย่างคือเราต้องล้างมือบ่อยๆ ต้องพกแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา และต้องไม่สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย แต่ไม่ใช่คนที่มีประวัติสัมผัสกับคนไข้ เพราะเขายังไม่ได้ป่วย เราก็ไปปกติธรรมดาเลย แต่ก็มีความท้าทายในแง่ของภาษา สำเนียงภาษาอังกฤษแบบไลบีเรียนค่อนข้างฟังยาก การสื่อสารค่อนข้างเป็นปัญหาเหมือนกัน

ตอนนั้นต้องทำงานร่วมกับทีมต่างชาติ?

ใช่ ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกขององค์การสหประชาชาติ สภากาชาดสากล และอีกหลายหน่วยงาน โดยส่วนตัวไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานกับต่างชาติในประเทศอื่นมาก่อน เพราะฉะนั้นมีความรู้สึกลำบากใจเหมือนกันว่าเราจะไปทำอะไรที่ผิดแผนหรือไม่เหมาะสมหรือเปล่า เราไปข้ามหน้าข้ามตาเขาหรือเปล่า แต่โชคดีที่ว่าปกติเขาจะให้ไปเป็นคู่ คนที่เป็นคู่เราเป็นฝรั่งที่อยู่ที่ซีดีซีแอตแลนตาซึ่งเขามีตำแหน่งสูง มีประสบการณ์ที่ทำงานกับนานาชาติมาเยอะ คือไปไหนไปด้วยกัน เราจึงค่อนข้างเรียนรู้จากเขาเยอะในเรื่องการทำงาน การวางแผนงาน การคิดวิเคราะห์ให้รอบด้าน

คือก่อนไปนายบอกว่าต้องยืดหยุ่นตลอดเวลานะ เราก็คาดหวังว่าอย่างน้อยการทำงานคงจะต้องมีการวางแผนว่าทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่ไปที่นั่นด้วยความที่มันหลายหน่วยงาน เหมือนไม่มีคนประสานงานหลักว่าใครจะทำอะไร ตรงไหน อย่างไร เราก็ต้องคิดเอง ทำเอง ปรึกษากับบัดดี้ของเราว่าทำอย่างนี้ดีไหม ทำอย่างนั้นดีไหม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง

สภาพบ้านเมืองของไลบีเรีย เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้?

ก็ไม่ได้ผิดคาดนะ เพราะหาข้อมูลก่อนจะไปว่าที่นั่นเป็นอย่างไร จีดีพีเขาประมาณ 500 เหรียญต่อคนต่อปี ของเราประมาณ 5,000 เหรียญต่อคนต่อปี ต่างกันประมาณสิบเท่า เราก็จินตนาการว่าเขาคงต้องลำบากซึ่งก็ลำบากจริงๆ ขนาดเราไปอยู่ในเมืองหลวงก็ยังลำบาก เอาเป็นว่าเวลาออกไปในชุมชน เราต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มไม่เข้าห้องน้ำเลย เพราะมันไม่มีให้เข้า กลางวันก็ไม่ได้กินข้าว ด้วยความที่มันไม่สะดวก เราไปในชุมชนมันไม่สะดวกจริงๆ ไม่มีที่ขายอาหารที่น่าจะปลอดภัย ความเป็นอยู่นี่เรียกได้ว่าต้องขอบคุณที่เราได้เกิดมาในประเทศไทย มีปัจจัยสี่ครบ

อพาร์ตเมนต์ที่เราอยู่เป็นของสถานทูตอเมริกาก็สุขสบาย มีเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า มีแอร์ น้ำไฟพร้อม ในขณะที่พ้นรั้วอพาร์ตเมนต์นี้ไปกลางคืนไฟก็ไม่มี เป็นตึกที่ปรักหักพัง เพราะเป็นประเทศที่เคยมีสงครามกลางเมืองมานานหลายปี ขนาดเมืองหลวงก็ยังปรักหักพัง น้ำไฟฟ้ามีจำกัดมาก อย่าว่าแต่จะหาน้ำมาใช้สำหรับกิจกรรมในชีวิตประจำวันเลย น้ำกินที่สะอาดก็ยังหายาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมคนที่นั่นถึงลำบาก

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคแพร่กระจายมาก?

ใช่ อย่างเรื่องห้องน้ำนี่ มีโอกาสได้ออกไปดูผู้ป่วย ที่โน่นเขามีเหมือนคอลเซ็นเตอร์บ้านเรา ถ้าเจอคนไหนป่วยก็โทรเข้ามาที่กระทรวง เขาจะมีเจ้าหน้าที่ออกไป เราก็ได้ออกไปกับเขาด้วย ไปดูผู้ป่วย ซึ่งเขานอนอยู่บนแคร่ไม้ข้างทาง ก็นอนป่วย อึฉี่อยู่ตรงนั้น รอบข้างก็เป็นชุมชนอยู่ติดๆ กัน ซึ่งนี่เป็นแหล่งแพร่เชื้ออย่างดีเลย และในเรื่องสุขาภิบาล เรื่องการจัดการกับขยะ เรื่องการมีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ยังค่อนข้างเป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข

องค์กรนานาชาติเข้าไปทำอะไรบ้างเพื่อหยุดการระบาด

อย่างที่บอกว่าตอนไปไม่มีผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ก็เน้นเรื่องการเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรค การให้ความรู้ รวมถึงคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า คนที่เคยป่วยและหายแล้ว เขาไม่ใช่ผู้ป่วยแล้ว เขาใช้ชีวิตร่วมกับคนในชุมชนได้ ซึ่งตรงนี้ยังมีคนอีกเยอะที่ต่อต้าน ไม่ให้กลับมาในชุมชน ไม่ให้กลับมาในหมู่บ้าน เราก็ต้องไปให้ความรู้ตรงนั้น รวมถึงผู้ป่วยที่หายแล้วก็ต้องให้คำปรึกษาว่าจะปรับตัวปรับใจอย่างไรเพื่อกลับไปในชุมชน

เราได้มีโอกาสไปได้คุยกับญาติผู้ป่วยคนสุดท้ายซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด เขากังวลมากว่าจะกลับไปใช้ชีวิตอย่างไร แล้วคนในชุมชนจะรังเกียจไหม แม้กระทั่งตอนที่เราไปดูผู้ป่วยที่นอนป่วยข้างถนนที่ว่า ก็ยังมีชาวบ้านแถวนั้นตะโกนไล่ ทั้งที่อาจจะไม่ได้ป่วยเป็นอีโบลาด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นทีมออกไปติดตามผู้สัมผัส หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศว่าไลบีเรียปลอดจากอีโบลาตอน 9 พฤษภาคม คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ทำงานแล้ว แต่ถามว่ามีงานทำไหม ปรากฏว่ามีหนังสือพิมพ์บอกว่า คนกลุ่มนี้ไม่มีงานทำ เพราะนายจ้างรังเกียจว่าเคยทำงานกับผู้ป่วยอีโบลามาก่อน เขากลัวว่าจะติดเชื้อหรืออะไรมาซึ่งเขาไม่รู้ ตรงนี้เป็นอีกงานที่กระทรวงสาธารณสุขของไลบีเรียต้องลงมาดูตรงนี้ให้เยอะๆ

ช่วงที่ไปลงพื้นที่มีกระแสต่อต้านชาวต่างชาติไหม

เท่าที่ไปไม่เจอนะ แต่ตอนนั้นหลังจากอีโบลาซาแล้ว มีเรื่องใหม่เข้ามาคือ มีหัด (Measles) ระบาด เนื่องจากประเทศนี้อัตราการฉีดวัคซีนในเด็กค่อนข้างต่ำมาก เพราะฉะนั้นโรคที่วัคซีนป้องกันได้ก็จะเกิดเยอะ ซึ่งหัดบ้านเราก็น้อยลงเรื่อยๆ เพราะเราฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่นั่นช่วงที่ไปมีหัดระบาด ทาง US-CDC ร่วมกับองค์การอนามัยโลกก็มีโครงการรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนหัดในเด็ก แต่มีข่าวลือว่าเป็นวัคซีนหลอก หลอกว่าให้ไปฉีดวัคซีนอะไรก็ไม่รู้ หน่วยงานเราก็มีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สื่อสารความเสี่ยงและข้อมูลด้านสุขภาพ ออกไปรณรงค์ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขของไลบีเรียเองรวมถึงคนในชุมชน ทั้งผู้นำชุมชน อาสาสมัครต่างๆ ไปเคาะประตูบ้านให้ความรู้แก่คนในชุมชนตัวเอง

เรียกว่าพอพูดคุยกันได้?

ก็พูดคุยได้ แต่ก็พูดคุยกันในแง่การทำงาน แต่ในเรื่องอาชญากรรมยังเยอะเพราะฉะนั้นเขาจะบอกว่าคนที่มาทำงานจากต่างชาติ กลางคืนห้ามออกไปไหน ให้ไปเฉพาะกลางวันและต้องมีบัดดี้ และคนในพื้นที่ไปด้วยตลอด

คนไลบีเรียทั่วไปเขารู้จักคนไทย-ประเทศไทยไหม

เขาไม่เข้าใจนะว่าคนไทยอยู่ตรงไหนของโลก อีกอันหนึ่งคือเรื่องภาษา คนไทยภาษาไม่ค่อยแข็งแรง ถึงจะทำงานกับหน่วยงานต่างประเทศอยู่แบบนี้ก็เถอะเมื่อเทียบกับฝรั่ง ขนาดภาษาเขาดีกว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร อย่างที่บอกว่าสำเนียงภาษาอังกฤษแบบไลบีเรียนฟังค่อนข้างยาก เขาฟังเราพูดอังกฤษแบบสำเนียงไทยก็ยาก เราฟังเขาพูด สำเนียงเขาก็ยาก ต้องพูดซ้ำไปมาอยู่หลายรอบกว่าจะเข้าใจตรงกัน

แต่ถึงจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็มีเรื่องประทับใจนะ ตอนที่ออกไปชุมชนกับบัดดี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของไลบีเรีย เพื่อเข้าพูดคุยเหมือนเป็นการให้คำปรึกษากับคนในชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีทั้งผู้ที่เคยป่วยจากอีโบลาและหายแล้ว รวมถึงญาติผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากอีโบลา มาเข้ากลุ่มพูดคุยกันเพื่อให้ความรู้ และให้กลุ่มได้ซักถามข้อสงสัย ให้ได้ระบายความอึดอัดคับข้องใจ รวมทั้งให้พูดในสิ่งที่อยากพูด มีผู้หญิงคนนึงที่เข้าร่วมในกลุ่มด้วย เขามีญาติที่เสียชีวิตจากอีโบลา เขาบอกว่า รู้สึกชื่นชมและขอบคุณมากๆ โดยเรียกเราว่า younger sister คนที่นั่นเขาเรียกเป็นญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนกันหมด และคนอื่นๆ ที่เสียสละตัวเอง เดินทางมาไกลจากบ้าน มาจากประเทศไทย ต้องห่างจากคนในครอบครัว ห่างจากคนที่เรารัก มาเสี่ยงต่อการติดโรค เขาใช้คำว่า risky yourself เพื่อช่วยเหลือคนไลบีเรีย เขาซาบซึ้งมาก และขอให้พระเจ้าอวยพรให้เราโชคดี...

ฟังเสร็จน้ำตาจะไหล คิดถึงลูกขึ้นมาทันที และรู้เลยว่า เออ เขาก็เห็นแหละว่าเราไปช่วยเขา ก็ประทับใจนะ เป็นอีกส่วนของการเดินทางในครั้งนี้ที่รู้สึกดีมากๆ

ตอนนี้มีข่าวว่าอีโบลากลับมาที่ไลบีเรียอีก คิดอย่างไร

เรารู้อยู่แล้วว่าเชื้ออีโบลามันพบได้ในสัตว์ป่า ในลิง ในค้างคาว แล้วธรรมชาติของคนแอฟริกาเขาล่าสัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร ฉะนั้นโอกาสที่มันจะกลับมาก็มี แต่จะทำอย่างไรให้คนมีความรู้ในเรื่องการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ทำอย่างไรที่จะตรวจจับโรคได้เร็ว เพื่อดำเนินมาตรการป้องกัน ควบคุม ทำอย่างไรให้เขาตระหนักว่าถ้าไม่สบายเขาต้องไปหาหมอนะ

ประสบการณ์จากที่นั่นสามารถนำมาเป็นบทเรียนอะไรให้เมืองไทยได้บ้าง

จริงๆ เมืองไทยค่อนข้างโชคดีในแง่การเตรียมพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ตั้งแต่ซาร์ส ไข้หวัดนก อีโบลา มาถึงเมอร์ส คิดว่ามีการเตรียมพร้อมที่ค่อนข้างดี แต่อย่างหนึ่งที่อยากเน้นย้ำคือเรื่องความรู้ของคนไทย โดยเฉพาะตอนนี้ทั้งไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ค เยอะมาก ก็อย่าไปหลงเชื่อข่าวลือ กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานที่ทำตรงนี้ ถ้าติดโซเชียลมีเดียก็ดูเฟซบุ๊ค ‘ไทยสู้เมอร์ส’ แล้วกัน เขาจะอัพเดทข้อมูลให้อยู่แล้ว อยากให้ฟังจากทางกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า

ความรู้พื้นฐานที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่คืออะไร

โรคอุบัติใหม่บางโรคอาจจะน่ากลัว น่ากลัวหมายถึงว่าโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปได้ง่าย เร็ว เป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตสูง แต่บางโรคอาจจะไม่ได้น่ากลัวมาก เช่น เมอร์สในเกาหลีใต้ยังไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อในชุมชนเหมือนอีโบลา จะเป็นผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยในโรงพยาบาลจริงๆ ที่ติดเชื้อ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ที่สำคัญคือคาถาที่กระทรวงสาธารณสุขให้บ่อยๆ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ช่วยได้เสมอในหลาย ๆ โรค หรือผู้ป่วยเองก็ต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ เวลาตัวเองป่วย จะไอจะจามก็ปิดปากปิดจมูก การเฝ้าระวังโรคก็ให้กระทรวงทำหน้าที่ของเขาไป อย่าไปตื่นตระหนกมาก มีอะไรก็โทรสายด่วน 1422 ได้ หรือเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค (http://www.ddc.moph.go.th/) รวมถึงของ US-CDC (www.cdc.gov) หรือองค์การอนามัยโลก (http://www.who.int/en/) หากต้องการข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคต่างๆ

อยากให้แนะนำวิธีป้องกันตัวเองอย่างง่ายๆ

ทำตัวให้แข็งแรงเข้าไว้ ออกกำลังกาย นั่นแหละคาถาประจำตัวเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล และติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่าตื่นตระหนก อย่าเผยแพร่ข่าวที่มันไม่จริง การส่งต่อข้อมูลจากเฟซบุ๊คโดยยังไม่ได้ตรวจสอบ เขาส่งมาเราก็ส่งไป ขอเถอะ ให้มันเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบความถูกต้องแล้วว่ามันใช่

โดยส่วนตัวเรียนรู้อะไรบ้างจากการเดินทางไปไลบีเรียครั้งนี้

ทำชีวิตให้มีคุณค่า เมื่อก่อนอาจจะคิดว่าฉันไม่มีโน่นไม่มีนี่ ฉันไม่เพอร์เฟกต์ แต่พอผ่านอันนี้มา โอ้โห ชีวิตฉันเพอร์เฟกต์มากเลย แต่อย่างหนึ่งที่คิดได้คือต้องประหยัดทรัพยากร เพราะในอีกซีกโลกหนึ่งไม่มี แต่เรายังทิ้งๆ ขว้างๆ อยู่ มันทำให้รู้สึกว่าควรใช้ชีวิตให้มีคุณค่ามากขึ้น รู้คุณค่าของการเกิดมาเป็นคนไทย เห็นคุณค่าว่าฉันโชคดีมากแล้วที่มีชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้