Riding the Horse

Riding the Horse

กรีซ : ประชาชนชาวกรีซโหวต “NO” คือ ปฎิเสธมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับความช่วยหลือด้านการเงินจากกลุ่มเจ้าหนี้

ปัจจุบันกรีซมีหนี้สินทั้งหมด 323,000 ล้านยูโร โดย 85% ของเจ้าหนี้คือ ECB, EU และ IMF ด้านขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 2% ของยูโรโซน 

ติดตามผลประชุมรมว.คลังยูโรกรุ๊ปอังคารที่ 7 ก.ค.นี้ ผลประชามติที่ออกมาเป็นที่ผิดหวังของกลุ่มเจ้าหนี้ และทาง EU เห็นว่าการปฎิรูปโดยไม่มีมาตรการรัดเข็มขัดที่มากพอจะทำให้เศรษฐกิจกรีซฟื้นฟูยาก ส่วนเรื่องของหนี้สินกรีซที่ติดค้างกับกลุ่มเจ้าหนี้ ต้องมีการประชุมเพื่อบริหารจัดการกัน ซึ่งตลาดประเมินว่าต้องมีการลดหนี้ (Hair Cut) อย่างแน่นอน

ความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่สนับสนุนกรีซโหวต NO เช่น (1) นายโจเซฟ สติกลิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐ แสดงความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่าหากโหวต “NO” จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะอย่างน้อยจะช่วยเปิดโอกาสให้กรีซสามารถกุมชะตาไว้ในกำมือและกำหนดอนาคตด้วยตัวเองได้ (2) นายพอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าการโหวตไม่รับเงื่อนไขเจ้าหนี้อาจบีบให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน ทำให้เกิดความปั่นป่วนในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็จะเป็นโอกาสให้กรีซได้ฟื้นฟูประเทศอย่างจริงจังในระยะต่อไป (3) นายโธมัส พิเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนหนังสือ “Capital in the 21st Century” ให้สัมภาษณ์ว่าการที่กรีซโหวต “NO” อาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ถึงผลกระทบต่อกรีซเมื่อต้องออกจากยูโรโซน เช่น 1) ค่าเงินกรีซอ่อนลงอย่างมาก อาจถึง 50% หรือมากกว่า, 2) มูลค่าทางเศรษฐกิจของกรีซลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, 3) หนี้สินต่อ GDP จะพุ่งขึ้นแรงเกิน 200% (ปัจจุบัน 177%), 4) อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแรง, 5) กรีซต้องตั้งเงื่อนไขภาคการเงินเพื่อลดการแห่ถอนเงินอีกระลอก, 6) แรงงานมีฝีมือย้ายออกไปทำงานนอกประเทศ, 7) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะยากขึ้นมาก และต้นทุนทางการเงินสูง (ซึ่งกรีซก็อาจหันไปซบอกรัสเซียหรือจีนก็เป็นได้), 8) เศรษฐกิจยูโรโซนอาจจะฟื้นตัวล่าช้าออกไปอีก เป็นต้น

มีความผันผวนของตลาดเงิน & ตลาดทุนในระยะสั้น โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากความวิตกกังวลเศรษฐกิจยูโรโซน ค่าเงิน US$ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักๆ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยก็ได้ปรับพอร์ตการลงทุนรับความเสี่ยงเรื่องกรีซไปแล้วพอควร ทำให้ผลกระทบในระยะสั้นไม่ถึงกับรุนแรงแบบไม่คาดคิด

แต่..คาดว่าแรงขายของนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยจะไม่หนักมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนัก Underweight ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) มาตั้งแต่ปีก่อน และต่างชาติถือครองหุ้นไทยน้อยลงไปมากแล้ว โดยมียอดขายสุทธิสะสมราว 7 หมื่นกว่าล้านบาทในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศที่มียอดซื้อสุทธิสะสมประมาณ 1.7 แสนล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีสินทรัพย์ทางเลือกในการลงทุนอื่นมากนัก จึงมีสถานะการลงทุนในหุ้นเป็นสัดส่วนที่สูงมากต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทุนที่หมดอายุและกองทุนที่เปิดใหม่ เม็ดเงินเหล่านี้อาจมุ่งไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ (Overseas) มากขึ้น ทำให้เม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนจะน้อยลง

ตลาดในช่วง 3Q58 ยังผันผวน เราประเมินกรอบของ SET Index ในช่วง 3Q58 ไว้ที่กรอบบน 1520-1530, 1540 จุด และกรอบล่าง 1480-1470, 1450 จุด ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยาวนานกว่าคาด และการปฎิรูปด้านต่างๆให้เป็นไปตามโรดแมพที่ตั้งไว้เป็นความท้าทายอย่างมากของรัฐบาล ภาคธุรกิจต้องเร่งหารายได้จากภายนอกและลดค่าใช้จ่ายในทุกด้านเพื่อประคับประคองผลประกอบการให้ผ่านพ้นความซบเซานี้ไปให้ได้ คาดว่าหุ้นกลุ่มที่อิงอุปสงค์ในประเทศจะถูกปรับลดประมาณการและราคาเป้าหมายลงอีกรอบ โดยกลุ่มธนาคารได้ถูกปรับไปแล้วในสัปดาห์ก่อนที่นักวิเคราะห์ทำ Preview กำไร 2Q58   ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นจังหวะซื้อสะสม (BBL, KBANK, SCB) เพื่อลงทุนระยะกลาง-ยาว ส่วนกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีมีลุ้นว่าราคาผลิตภัณฑ์จะขยับขึ้นได้ใน 2H58 และปี 59 แต่กำไร 2Q58 จะอ่อนลง QoQ เพราะกำไรจากสต็อกโรงกลั่นน้อยลงและมีขาดทุนจาก FX สำหรับบริษัทส่งออกชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับประโยชน์จากแนวโน้มบาทอ่อน แต่บริษัทส่งออกขนาดกลาง-เล็กที่เป็น SME ยังอ่อนแอ หุ้นส่งออกเด่นเป็น KCE, BJCHI, STPI, VNG, TUF เป็นต้น ด้านท่องเที่ยวยังไปได้ดีต่อเนื่อง หุ้นเด่น AOT, CENTEL, MINT

กลยุทธ์ : Blend หุ้นเติบโตด้วยหุ้น Defensive โดยหุ้นพื้นฐานที่น่าสนใจเลือกซื้อสะสม เป็น AOT, CENTEL, CK, CPN, EGCO, TTW, BCP, IVL, INTUCH, KBANK, TUF เป็นต้น