ทีมยกร่างรธน.ปัดปรับแก้ร่างรธน. หมวดการเมือง

ทีมยกร่างรธน.ปัดปรับแก้ร่างรธน. หมวดการเมือง

ทีมยกร่างรธน.ปัดให้รายละเอียดการปรับแก้ร่างรธน. หมวดการเมือง ระบุจำไม่ได้ วันแรกของภาคการเมือง ผ่านไปแล้ว20มาตรา

การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ตามคำขอแก้ไขและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่เข้าสู่หมวดรัฐสภา และส่วนสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ประชุมได้ใช้เวลาพิจารณาถึงเวลาประมาณ16.30น. โดยพิจารณาแล้วเสร็จไปทั้งสิ้น20มาตรา ตั้งแต่มาตรา96ถึง มาตรา116โดยภายหลังการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดที่ได้มีการพิจารณา และบอกเป็นประโยคเดียวกันว่ารายละเอียดยังไม่ชัดเจน และจำรายละเอียดไม่ได้ จากนั้นได้เดินเลี่ยงผู้สื่อข่าวกลับทันที 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับประเด็นของมาตราที่พิจารณาไปนั้น จะเกี่ยวเนื่อกับบททั่วไป ที่ว่าด้วยรัฐสภา กติกาการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และ บทที่ว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวน ส.ส. ที่มาของส.ส.ด้วยระบบสัดส่วนผสม โดยที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้รายละเอียดแค่ว่าได้ปรับแก้ไขตามคำขอแก้ไขของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ การปรับจำนวน ส.ส. , ตัดสิทธิผู้ออกเสียงลงคะแนนผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้เอง (โอเพ่นลิสต์) , ปรับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจาก6ภาค เป็นบัญชีเดียว คือใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 

ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับประเด็นที่พิจารณาแต่ยังได้ข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน อาทิ มาตรา111ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ใน(15)ว่าด้วยห้ามผู้ที่เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการดำรงตำแหน่งอื่น ซึ่งมีคำขอแก้ไขของ ครม. ที่ขอให้เพิ่มคำว่า"ตามรัฐธรรมนูญ" ต่อท้ายบทบัญญัติ เพื่อให้มีผลบังคับแก่ผู้ที่ถูกถอนถอนตามบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แต่ที่ประชุมเห็นว่าให้รอการพิจารณาการปรับถ้อยคำไว้ก่อน

เพราะต้องพิจารณารายละเอียดเช่น บุคคลที่ถูกลงมติถอดถอนโดยสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557, มาตรา113ว่าด้วยข้อกำหนดให้ผู้ที่จะได้สิทธิเป็นส.ส.ต้องชนะคะแนนเสียงของผู้ที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส. ที่เบื้องต้นพบว่ามีการพิจารณาและอาจปรับบทบัญญัติเพื่อไม่ให้กระทบต่อจำนวนส.ส.ที่เป็นเกณฑ์ต้องเปิดสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไป