ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6-10 ก.ค.58

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 6-10 ก.ค.58

“ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน จากวิกฤติหนี้กรีซที่ยังไม่คลี่คลาย”

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57 - 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 ก.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะได้รับแรงกดดันในระยะสั้นจากความกังวลเรื่องวิกฤติหนี้กรีซ หลังจากกรีซผิดนัดชำระหนี้ราว 1.6 พันล้านยูโร ที่มีกำหนดชำระในวันที่ 30 มิ.ย. ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการส่งออกของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนหลักจากอัตราการผลิตน้ำมันของสหรัฐที่ชะลอตัวลง ประกอบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐ ในช่วงไตรมาส 3

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซ หลังจากรัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้งวดล่าสุดให้แก่ IMF ส่งผลให้กรีซกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดการชำระหนี้ โดยล่าสุด กลุ่มเจ้าหนี้ประกาศไม่ต่ออายุข้อตกลงช่วยเหลือกรีซออกไปจากวันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันเรื่องแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซได้ ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซประกาศให้มีการลงประชามติในวันที่ 5 ก.ค. เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยอมรับมาตรการปฏิรูปของกลุ่มเจ้าหนี้หรือไม่ ซึ่งการปฏิเสธความช่วยเหลือครั้งนี้อาจส่งผลให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน ทั้งนี้สถานการณ์ปัญหาหนี้สินของกรีซที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร ซึ่งยังกดดันราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง

- ติดตามการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) โดยทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน ภายในเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ได้ ทั้งนี้ อิหร่านและชาติมหาอำนาจตกลงที่จะยืดเวลาการเจรจาเพื่อหาข้อยุติให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 7 ก.ค. อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหลายเรื่องสามารถแก้ไขลุล่วงไปได้แล้ว แต่ยังหลงเหลือเงื่อนไขบางประการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าหากชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้นอีกราว 2- 5 แสนบาร์เรล ภายใน 6-12 เดือน หลังจากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

- ราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวเหนือระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งได้ชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลงจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ทั้งนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ (สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย.) ปรับลดลงเพียง 3 แท่น สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ที่ 628 แท่น โดยหลายฝ่ายมองว่าหลุมขุดเจาะที่ระดับปัจจุบันถือว่าเป็นระดับต่ำสุดแล้ว

- ติดตามทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะมีการประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุด PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีก่อน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะ 1 ปี ลดลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 4.85 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2 นอกจากนี้ ประกาศลด สัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) สำหรับการปล่อยกู้ภาคการเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อมลงร้อยละ 0.50 ทั้งนี้มีการคาดหมายกันว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 25 ปีที่ร้อยละ 7 ลดลงจากร้อยละ 7.5 ในปี 2557

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีภาคบริการ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ และดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภคจีน


สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย. – 3 ก.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.11 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 55.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.94 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 60.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล   ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันหลักมาจากวิกฤติหนี้สินของกรีซ ซึ่งล่าสุดกรีซไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 1.6 พันล้านยูโรให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตามกำหนดเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. ได้ ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงได้ นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านมายังภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่อิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้งหกยังไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ได้ และการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุนหลังคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐ มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูกาลท่องเที่ยวของสหรัฐ

                                                                       -----------------------------------------------------
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999