ศธ.โยนสภามก.เคลียร์ปมตั้งอธิการ ย้ำผู้บริหารต้องไร้ตำหนิ

ศธ.โยนสภามก.เคลียร์ปมตั้งอธิการ ย้ำผู้บริหารต้องไร้ตำหนิ

ศธ.โยนสภา มก.เคลียร์ปมตั้ง อธิการบดี อีกรอบ โดยเฉพาะประเด็นสอบสวนวินัย ชี้จุดยืนรัฐบาลชุดนี้ต้องการผู้บริหารที่ไร้ตำหนิ

ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล กรณีการเสนอชื่อแต่งตั้งอธิการบดี มก.ที่เวลานี้ผ่านไปถึง9เดอืนแล้วแต่ยังไม่มีการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ เพื่อพิจารณาโปรดเกล้าฯ เป็นอธิการบดี มก. ว่า มก.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญด้านวิชาการ ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีวิทยาเขตอีกหลายแห่งและมีนิสิตจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การที่ขาดอธิการบดีทำหน้าที่บริหารงานนานถึง9เดือนก็ส่งผลต่อการบริหารงานในหลายมิติ ซึ่งในส่วนของการตั้งอธิการบดี มก.นั้น ได้ มีการพูดคุยถึงประเด็นทางกฎหมายซึ่งตนเองก็ได้ฝากให้ นายกสภา มก. ไปพิจารณาและดำเนินการให้ชัดเจนด้วย

นายกฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ขอให้ไปดูคือ กระบวนการสอบสวนวินัยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี มีความครบถ้วนแล้วหรือยัง และเมื่อพิจารณาเรื่องวินัยชัดเจนแล้ว ขอให้ดูด้วยว่าสมควรหรือไม่ที่จะเสนอชื่อผู้ที่กระทำผิดวินัยขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นอธิการบดี ทั้งนี้ นายกสภา มก. เข้าใจและจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสภา มก.โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการบริการจัดการมหาวิทยาลัย เพราะคาดเร็วๆนี้ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะเดียวกัน ตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ก็จะครบกำหนดกลางเดือน ส.ค.2558นี้ ดังนั้น คิดว่าการประชุมสภา มก.ที่จะถึงนี้น่าจะมีคำตอบ

“เชื่อว่านายกสภามก.เอง มีความเป็นผู้ใหญ่ และเข้าใจแนวทางการบริหารงานมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ซึ่งโดยหลักการ ศธ. ไม่มีอำนาจไปสั่งการอะไร เพราะถือเป็นอำนาจของสภาฯ แต่ส่วนตัวผมเองมองว่าคนที่จะมาเป็นอธิการบดีคงไม่ได้มองในมิติของกฎหมายอย่างเดียว เพราะถ้าผู้นำองค์กรถูกตั้งคำถามตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน ชีวิตการทำงานต่อไปจะยากมากและสัญญาณที่ออกมาจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ก็ชัดเจนแล้วว่าถ้าเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมขึ้นมาก็คงไม่เสนอขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะตำแหน่งอธิการบดีนายก สภาฯ และกรรมการสภาฯ เป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนั้น ก็ควรจะเสนอผู้ที่เหมาะสม ไม่มีตำหนิ ไม่มีมลทิน หรือเคยกระทำผิดวินัยมาดำรงตำแหน่ง อย่างน้อยในรัฐบาลนี้ยืนยันชัดเจนในจุดนี้ และเชื่อว่าคนดีๆ ยังมีอีกมา ซึ่งถ้ากระบวนการสรรหาถูกต้องก็ต้องได้คนที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย”นายกฤษณพงศ์ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่พบว่ามีปัญหาในลักษณะเดียวกันอีกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สุรินทร์มรภ.กาฬสินธุ์มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) มรภ.ชัยภูมิโดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เสนอมาตรการแก้ไขให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้พิจารณาตัดสินแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้มหาวิทยาลัยติดหล่มและบริหารงานต่อไปไม่ได้ ส่วนจะเป็นมาตรการรูปแบบใดนั้น ไม่สามารถบอกได้ ต้องรอให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาก่อน