วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 6 กรกฎาคม 2558

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 6 กรกฎาคม 2558

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 30 สัปดาห์

- ราคาน้ำมันล่าสุดได้ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสได้ลดลงต่ำกว่ากรอบราคาซื้อขายในรอบสองเดือนที่ผ่านมาที่ระดับราคาประมาณ 57 ถึง 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหลักมาจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 สัปดาห์ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในรัสเซียและกลุ่มโอเปค ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อสภาวะอุปทานส่วนเกิน ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องในวันหยุดชดเชยวันชาติสหรัฐอเมริกา ประกอบกับนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการลงประชามติของกรีซ

- ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้น 12 แท่น มาที่ 640 แท่น นับเป็นการปรับเพิ่มครั้งแรกในสัปดาห์ที่ 30 หลังก่อนหน้าปรับลดลงนานถึง 29 สัปดาห์ติดต่อกัน สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะของสหรัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับสูงขึ้นสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐกลับมาดำเนินการผลิตอีก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าจำนวนแท่นขุดเจาะได้ผ่านระดับต่ำสุดมาแล้ว ทั้งนี้ จำนวนแท่นขุดเจาะได้ทำระดับสูงสุดไว้ที่ 1,609 แท่น เมื่อเดือน ต.ค. 57

- นอกจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ อุปทานที่สูงขึ้นจากรัสเซียและกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเพื่อส่งออก (โอเปค) ยังกดดันราคาน้ำมันดิบ หลังปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปคในเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 31.6 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสามปี เนื่องจากการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากอิรัก และซาอุดิอาระเบีย ตามนโยบายการขายน้ำมันดิบเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ส่งผลให้เกิดสภาวะอุปทานส่วนเกิน โดยปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปคสูงกว่าปริมาณความต้องการเกือบ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหากการเจรจาระหว่างชาติมหาอำนาจและอิหร่านเป็นผลสำเร็จในวันที่ 7 ก.ค. นี้ มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านจะถูกยกเลิก ซึ่งจะส่งผลให้มีอุปทานน้ำมันดิบในตลาดเพิ่มขึ้นอีก

- นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้กรีซ ก่อนการลงประชามติในวันที่ 5 ก.ค. 58 ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสการรับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มเจ้าหนี้ และอนาคตของกรีซต่อการเป็นสมาชิกในกลุ่มยูโรโซน ประกอบกับความไม่มั่นใจมาตรการตรวจสอบของทางการจีนเกี่ยวกับข้อสงสัยการปั่นหุ้น หลังตลาดหุ้นจีนดิ่งลงอย่างหนัก โดยดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตล่าสุดลดลงจากวันก่อนหน้า 228 จุด มาปิดที่ 3,686.92 จุด และคิดเป็นการลดลงกว่าร้อยละ 25 นับตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. 58

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบาคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ยังปรับขึ้นตามราคาสัญญาล่วงหน้าน้ำมันเบนซินของสหรัฐ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลขับขี่ อย่างไรก็ดี อุปทานในตลาดยังมีอย่างเพียงพอ หลังมีปริมาณการผลิตเพิ่มเติมจากโรงกลั่นใหม่ในตะวันออกกลาง ประกอบกับอุปสงค์ที่เริ่มผ่อนคลายลง

ราคาน้ำมันดีเซล ไม่เปลี่ยนแปลงขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง ท่ามกลางอุปสงค์ในภูมิภาคที่ชะลอตัวลง และค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น ทำให้การส่งออกน้ำมันดีเซลจากแถบเอเชียเหนือไปยังภูมิภาคอื่นปรับลดลง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณอุปทานในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดกลางคงคลังที่สิงคโปร์รายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากสัปดาห์ก่อน

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซ  หลังจากรัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้งวดล่าสุดให้แก่ IMF ราว 1.6 พันล้านยูโร ในวันที่ 30 มิ.ย. ส่งผลให้กรีซกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดการชำระหนี้ โดยล่าสุด กลุ่มเจ้าหนี้ประกาศไม่ต่ออายุข้อตกลงช่วยเหลือกรีซออกไปจากวันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันเรื่องแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ก.ค. ประชาชนชาวกรีซส่วนใหญ่ได้ลงประชามติ "ไม่รับ"เงื่อนไขจากเจ้าหนี้  และปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้กรีซตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะออกจากกลุ่มยูโรโซน

- ราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ อาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งได้ชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลงจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ

- ติดตามการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) โดยทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน ภายในเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ได้ ทั้งนี้ อิหร่านและชาติมหาอำนาจตกลงที่จะยืดเวลาการเจรจาเพื่อหาข้อยุติให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 7 ก.ค. ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าหากชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้นอีกราว 2- 5 แสนบาร์เรล ภายใน 6-12 เดือน หลังจากการยกเลิกมาตรการคว่ำมาตร

- ติดตามทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะมีการประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุด PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 57 และประกาศลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

                                                                    -----------------------------------------------------
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999