หมดยุค‘ห้างไอที’ ร้านหด-นักช้อปหาย-หันออนไลน์

หมดยุค‘ห้างไอที’ ร้านหด-นักช้อปหาย-หันออนไลน์

ร้านไอทีปรับทัพครั้งใหญ่หลังสถานการณ์ห้างไอทีช่องทางขายหลักที่รุ่งเรืองในอดีตสิ้นมนต์ขลัง ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังชะลอตัว

ส่องตึกคอมพ์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อขายภายในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขาประตูน้ำว่า ร้านค้ายังคงเปิดให้บริการตามปกติ มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติทยอยเข้ามาซื้อสินค้าต่อเนื่อง ทว่าค่อนข้างบางตา โดยรวมบรรยากาศและพื้นที่ขายสินค้าไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ทั้งนี้ ชั้นล่างๆ เน้นขายมือถือและอุปกรณ์เสริม ส่วนคอมพิวเตอร์จะอยู่ต่อจากนั้น ที่เงียบเหงาอย่างมากคือชั้น 4 เนื่องจากมีร้านค้าจำนวนมากปิดกิจการ หรือปิดประกาศให้เช่าต่อ ร้านที่มักได้รับความสนใจกว่าร้านอื่นๆ จะเป็นที่ขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น โดรนของเล่น รวมถึงลานชั้นล่างซึ่งจัดโปรโมชั่นพิเศษ

ผู้ค้าร้านคอมพิวเตอร์รายหนึ่งเล่าว่า บรรยากาศเงียบมานานแล้ว รายได้ที่เข้ามาจึงไม่แน่นอน ลูกค้าจะหนาแน่นบ้างช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือเย็นของบางวัน ขณะนี้สินค้าที่ขายดีที่สุดคือคอมพิวเตอร์ประกอบเอง (ดีไอวาย) จากข่าวที่จะมีร้านค้าย้ายไป “พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง” ร้านนี้ไม่ได้ไปด้วย

ขณะที่ ผู้ค้าอีกรายกล่าวว่า เงียบมาตั้งแต่ต้นปี จากทั้งปัจจัยที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีและห้างซึ่งกำลังปรับปรุง จึงมีลูกค้าเข้าใจผิดจำนวนมากว่าไม่เปิด ทุกวันนี้ไม่อาจชี้ชัดได้แน่นอนว่าคนจะเข้ามามากน้อยเท่าใด แม้วันหยุดบางทีก็เงียบ บางทีคนก็เข้ามามากกว่าปกติ

เขากล่าวว่า กระแสข่าวที่ออกไปช่วงที่ผ่านมายิ่งทำให้ภาพเป็นลบ ผู้บริหารก็ไม่ได้ออกมาแก้ข่าว ออกนโยบายเรียกลูกค้า หรือลดค่าเช่าให้ แต่ทางร้านยังไม่มีแผนย้ายไปที่อื่น เชื่อว่าตลาดไอทีไม่ว่าที่ไหนก็เงียบเหมือนกันหมด หากไปเริ่มที่ใหม่จะเกิดหรือไม่ก็ไม่ทราบ บางทีอาจเป็นการเสี่ยงโดยใช่เหตุก็ได้

วอนโปร่งใส-ชัดเจน
ด้านผู้ประกอบการอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์และโมบายรายใหญ่อีกราย กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ว่าจะปรับตัวอย่างไรก็ยังค้าขายลำบากอยู่ดี อีกทั้งยังมีปัญหาภายในห้างที่กำลังปรับปรุง และค่าเช่าที่ไม่ยอมลดให้ แม้เคยรวมตัวไปขอแล้ว แถมยังปรับเพิ่มขึ้นถึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงก็ตาม

เธอเผยว่า มีร้านค้ากว่า 200 ร้านเตรียมย้ายไปอยู่ที่ “พาลาเดียม” รวมถึงรายใหญ่อย่างไอทีซิตี้ บานาน่า และอื่นๆ อีกหลายราย เท่าที่ทราบแต่ละรายขอเช่าพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50 ตารางเมตร แม้ยังไม่แน่นอน แต่ผู้ค้าต่างมีความหวังว่าจะดี

อีกทางก็น่าเสี่ยงเพราะค่าเช่าถูกกว่ามากตารางเมตรละประมาณ 200 บาท ใกล้กับที่เดิม ต่างกับพันธุ์ทิพย์ที่ต้องเสียเดือนละแสนบาท ทุกวันนี้พาลาเดียมอัพเดททุกวันว่าความคืบหน้าการปรับปรุงพื้นที่ไปถึงไหน คาดว่าจะเปิดขายได้ภายใน 2 เดือนจากนี้

“เดี๋ยวนี้จะขายของให้ได้วันละหมื่นนั้นยากมาก เราคงสู้ค่าเช่าที่นี่ไม่ไหว ทั้งมีค่าใช้จ่ายจิปาถะต้องจ้างลูกจ้างและอื่นๆ ผู้บริหารเองไม่ได้ออกมาบอกให้ชัดเจนด้วยว่าหลังจากนี้มีนโยบายจัดการพื้นที่อย่างไรบ้าง เท่าที่รู้มาโซนไอทีจะเหลือเพียง 30% บางร้านถูกขอคืนพื้นที่ไปแล้ว ไม่ทราบว่าที่ทำแบบนี้เป็นการบีบให้ออกทางอ้อมใช่หรือไม่ ให้เกียรติผู้เช่ามากน้อยแค่ไหน”

พร้อมระบุว่า มีอีกหลายส่วนที่พันธุ์ทิพย์ลดค่าใช้จ่ายซึ่งส่งผลต่อการค้าขายและการอำนวยความสะดวกลูกค้า ทั้งการซ่อมบันไดเลื่อนที่ล่าช้า กว่าจะเสร็จน่าจะเดือนส.ค.ไปแล้ว ห้องน้ำ รวมถึงโควต้าการจอดรถลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม จากการเดินสำรวจห้าง “พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง” เมื่อวันที่ 3 ก.ค. พบว่าคนที่เข้ามาเดินจับจ่ายยังบางตา พื้นที่ที่มีร้านเข้ามาแล้วคือชั้นล่าง กระทั่งชั้น 2 ส่วนชั้น 3 มีอีกหลายคูหาที่ยังไม่เปิด แต่ห้างปิดประกาศไว้ชัดเจนว่าเตรียมเปิดศูนย์รวมไอทีและแกดเจ็ท ที่ทันสมัยและใหม่ที่สุด ทว่ายังไม่บอกกำหนดการอย่างเป็นทางการไว้

มุ่งโมบายไลฟ์สไตล์
จากการสำรวจพบอีกว่าห้างสรรพสินค้าบริเวณใกล้เคียงย่านราชประสงค์ต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายไปแทบทั้งหมดแล้ว เช่น เซ็นเตอร์พอยต์ออฟสยามสแควร์ หรือดิจิทัลเกตเวย์เดิม กลายเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ประเมินจากร้านค้าที่ผสมผสานไปหลากหลาย ทั้งโมบาย แกดเจ็ท สินค้าสำหรับอุปกรณ์โมบาย เช่น เคส รับติดฟิล์มกันรอย ร้านขายเกม อุปกรณ์เสริมสำหรับคอเกม เสื้อผ้า กระเป๋า กิ๊ฟช้อป แว่นตา เครื่องดนตรี กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ หูฟัง นาฬิกา รวมไปถึงร้านอาหารต่างๆ

ด้านห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โซนไอที อยู่บริเวณชั้น 4 ส่วนหนึ่งของพาวเวอร์บาย โดยที่วางจำหน่ายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีอยู่ 1 โซน ประมาณ 9 เคาน์เตอร์ กลุ่มโน้ตบุ๊คและเดสก์ท็อปส่วนใหญ่เป็นของท็อป 5 ของตลาด มีแทรกบ้างบางโมเดลของค่ายเอ็มเอสไอ

นอกจากนี้ มีคอมพ์แบบออลอินวัน จอมอนิเตอร์ เล็กน้อย แทรกด้วยบูธอุปกรณ์เสริม เช่น จอยสติ๊ก เมาส์ เราท์เตอร์ คีย์บอร์ด การ์ดรีดเดอร์ กระเป๋า เอ็กซ์เทอร์นอลฮาร์ดดิสก์

โดยสรุป ในภาพรวมสินค้าประเภทอุปกรณ์เสริม สมาร์ทโฟน ได้พื้นที่มากกว่า มีความหลากหลายมากกว่าพีซีมาก ที่น่าสนใจสินค้าประเภทหูฟังกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ประเมินคร่าวๆ ได้รับการจัดสรรพื้นที่ใหญ่ใกล้เคียงกับพีซี

ขณะที่ ร้านบานาน่าไอทีภายในห้างเดียวกันดังกล่าว พื้นที่เกิน 80% จำหน่ายโมบาย อุปกรณ์เสริมโมบาย และแทบเล็ต ส่วนโน้ตบุ๊คมีวางขายเพียงแถบเดียวประมาณ 12 เครื่องเท่านั้น

คอมเซเว่นมุ่งชอปปิงมอลล์-ออนไลน์
นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.คอมเซเว่น กล่าวว่า บริษัทปรับช่องการขายหน้าร้านจากห้างไอที มาสู่ชอปปิง มอลล์ราว 3-4 ปีมาแล้ว ดังนั้นการปรับปรุงของศูนย์ไอทีรายใหญ่อย่างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จึงส่งผลกระทบกับช่องทางขายไม่มากนัก แม้คอมเซเว่น จะเหลือร้านอยู่ในพันธุ์ทิพย์ภายใต้ชื่อบานาน่า ไอทีเพียง 2 ร้านจากเดิมมีมากกว่า 8 ร้าน ซึ่งใน 2 ร้านที่เหลือ อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับปรุง หรือยกเลิกทั้งหมด

“เราก็เห็นว่าทราฟฟิกในห้างไอทีน้อยลง เป็นหมดรวมถึงในต่างจังหวัด ซึ่งเรามองว่าทราฟฟิกในชอปปิง มอลล์ยังดีอยู่ ตอนนี้ร้านค้าของคอม เซเว่น อยู่ในห้างไอทีไม่ถึง 10% ก็จะมีในพันธุ์ทิพย์ เซียร์รังสิต”

นายสุระ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของห้างไอทีปัจจุบันถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมคนที่เข้าห้างไอที จากคอมพิวเตอร์ประกอบต้องหาร้านเฉพาะทาง ซึ่งห้างไอทีขณะนั้นตอบโจทย์ดีที่สุด แต่ปัจจุบันสินค้าไอทีเปลี่ยนไปกลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่คนซื้อได้ง่ายขึ้น

เขากล่าวว่า ครึ่งปีหลัง คอมเซเว่น ยังจะรุกช่องทางการขายออนไลน์อย่างจริงจังโดยที่ผ่านมาเริ่มเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ซึ่งครึ่งปีหลังจะพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นเอง และเดินหน้าเป็นพาร์ทเนอร์กับเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมามีบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นสินค้าที่หายาก ไม่ได้มีขายตามหน้าร้าน แต่จากนี้จะเห็นสินค้าไอทีที่ขายออนไลน์มีความหลากหลายมากขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะบุกตลาดองค์กร (คอมเมอร์เชียล) จริงจังมากขึ้น จากเดิมมุ่งเน้นกลุ่มเอ็นด์ยูสเซอร์เป็นหลักและบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดลูกค้ากลุ่มนี้มากอยู่แล้ว โดยบริษัทจะดีลโดยตรงกับลูกค้าคอมเมอร์เชียล พร้อมนำเสนอให้ครบเป็นโซลูชั่น ตั้งแต่สินค้า การให้บริการถึงที่ (onsite service) ติดตั้ง รวมถึงเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการขยายช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม และลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังมีกำลังซื้อ

“ส่วนภาพรวมตลาดไอทีช่วงครึ่งปีแรก ยังทรงตัว ภาพรวมยังไม่แย่ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ทั้งปี 15,500 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีที่แล้ว แต่ผ่านไปครึ่งปีแรก เรายังทำได้ไม่ถึง 10% แต่ยังเชื่อว่า ครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก”

ทั้งนี้ เขาเชื่อว่า สินค้าไอทีไฮไลต์อย่าง แอ๊ปเปิ้ล วอทช์ ที่บริษัทได้สิทธิจำหน่ายในไทย โดยจะเริ่มวางจำหน่ายวันที่ 17 ก.ค.นี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายในครึ่งปีหลังนี้ได้มาก โดยบริษัทจะขายแอ๊ปเปิ้ล วอทช์ ทุกสาขาของบานาน่าไอที ที่มีกว่า 11 สาขา

ไอที ซิตี้ปรับหน้าร้านใหม่
นายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ไอที ซิตี้ กล่าวว่า ปัจจุบัน ยังมีร้านไอทีซิตี้ในห้างพันธุ์ทิพย์อยู่บนชั้น 5 ด้วยเนื้อที่กว่า 2,000 ตารางเมตร ยังไม่ได้ปิดให้บริการ แต่ได้ปรับปรุงหน้าร้านให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ไอทียุคใหม่

“ไอทีซิตี้ เราถือโอกาสในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรับหน้าร้าน ซึ่งปัจจุบันร้านไอทีซิตี้จะมีสาขาอยู่ทั้งชอปปิง มอลล์, โมเดิร์นเทรด และคอมพิวเตอร์พลาซ่า (ห้างไอที) ทั้งในกทม.และต่างจังหวัดมากกว่า 90 สาขา ที่ผ่านมาในบางแห่ง เราได้ปรับลดเนื้อที่ลงให้เหมาะสม ซึ่งอดีตอาจต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับวางสินค้า คอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันดีไซน์สินค้าไอทีมีขนาดเล็กลง เราก็ต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นห้างไอที ก็ยังเน้นสินค้าที่เป็นโน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ ส่วนถ้าเป็นแกดเจ็ท มือถือ ก็จะวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดกับห้างไอทีนั้นเป็นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำเท่านั้น ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนไป โดยเขายืนยันว่า หลังการปรับปรุงห้างพันธุ์ทิพย์ก็จะเปิดให้บริการตามเดิม แต่อาจปรับรูปแบบให้สอดคลัองกับตลาดไอทีปัจจุบัน